สัญญาณอันตรายก่อน หัวใจวาย
หัวใจวาย น่ากลัวใช่ไหม … ไม่ต้องกังวล คุณหมอสันต์มีวิธีป้องกันก่อนหัวใจหยุดเต้นกระทันหันมาฝาก
เวลเนสคลาส (Wellness Class) ต้องการนำความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนสุขภาพที่ผมสอนที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ (Wellness We Care Center) มาให้ได้เรียนรู้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเข้าคอร์สด้วยตัวเอง
ชั้นเรียนแรกเป็นชั้นเรียนที่ชื่ออาร์ดี 1 (RD 1) ฟังชื่อแล้วไม่เก็ตเลยใช่ไหมครับ อาร์ดี 1 ย่อมาจากประโยคเต็มว่า Reversing Disease by Yourself แปลว่า “ชั้นเรียนวิธีพลิกผันโรคด้วยตัวคุณเอง” เลขหนึ่งที่ห้อยท้ายจึงหมายความว่าเป็นบทเรียนแรกหรือครั้งแรก
แรกเริ่ม ชั้นเรียนนี้จัดขึ้นสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ฟังชื่อแล้วก็ไม่เก็ตเลยเช่นกันใช่ไหมครับ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง แปลว่าโรคหลอดเลือดตีบที่เป็นความผิดปกติพื้นฐานของโรคไม่ติดต่อ ยอดนิยมทั้งหลายทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ได้แก่ โรคหัวใจ โรคอัมพาต โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันสูง และโรคอ้วน
คุณลองนึกภาพคอร์สสุขภาพที่นำคนเป็นโรคเหล่านี้ระดับไปไหนไม่รอดแล้วมารวมกัน แบบว่ารายหนึ่งก็บอลลูนไปสองครั้ง บายพาสไปหนึ่งครั้ง หมอจะให้บายพาสอีกสักหนจนบางท่านกว่าจะผูกเชือกรองเท้าได้เรียบร้อยก็ต้องหยุดอมยาเสียก่อนหนึ่งครั้ง ประมาณนี้
เมื่อรวมผู้ป่วยระดับนี้มาเข้าแคมป์กินนอนเพื่อเรียนรู้วิธีดูแลตัวเอง ทั้งการกินอาหาร การออกกำลังกาย และอื่น ๆ มันน่าเสียวไส้ไหมล่ะครับ อิอิผมก็เสียวนะ
การเตรียมแคมป์แบบนี้ก็ต้องว่ากันเต็มยศ มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉินครบเทียบเท่าห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีเครื่องช็อร์ตไฟฟ้า หมอเวชบำบัดฉุกเฉินที่คล่องแคล่วว่องไวอยู่กินนอนประจำร่วมกับผู้ป่วยตลอดคอร์ส มีพยาบาลเวชบำบัดฉุกเฉินที่แก่วัด เอ๊ยไม่ใช่…แก่วอร์ดได้ที่แล้วตามประกบอย่างใกล้ชิด
แต่เชื่อไหมครับ ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานั้นฟังดูขลังและน่าเลื่อมใสดี แต่แทบไม่มีความหมายอะไรเลย
ที่พูดมาเนี่ยไม่ได้ปรามาสความจำเป็นของการบำบัดฉุกเฉินนะครับ เพราะตัวผมเองก็เป็นหมอที่คร่ำหวอดอยู่กับการช่วยชีวิต การปั๊มหัวใจมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ถึงขั้นเคยได้ร่วมงานกับสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) พัฒนากระบวนการช่วยชีวิตเรื่อยมาเป็นเวลาร่วมยี่สิบปี และร่วมงานกับสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย พัฒนาระบบการช่วยชีวิตของเมืองไทยขึ้นมาจนเป็นมาตรฐานเดียวกันอย่างทุกวันนี้
แต่ท้ายที่สุดเรามาลงเอยเป็นเอกฉันท์ตรงที่ว่า ในการช่วยชีวิตหรือการฟื้นคืนชีพนี้ไม่มีอะไรสำคัญเท่าการจัดการในระยะก่อนที่หัวใจจะหยุดเต้น (Pre-cardiac arrest management) ซึ่งก็บังเอิญเหลือเกินที่คนทำการจัดการที่ว่านี้ได้ดีที่สุดไม่ใช่หมอเวชบำบัดวิกฤตที่เก่งกาจที่ไหน แต่เป็นตัวคนไข้เอง
ปลายทางของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ไม่ว่าจะมาจากทางสายเบาหวานสายอัมพาต สายความดันโลหิตสูงสายหัวใจขาดเลือด สายไขมันสูงหรือสายอ้วน มักจะมาจบที่เดียวกันคือ การตายกะทันหันจากอวัยวะสำคัญขาดเลือดเฉียบพลัน อวัยวะสำคัญที่ว่าอาจเป็นหัวใจหรือสมองก็ได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นหัวใจมากกว่าสมองเราเรียกว่า Heart Attack หรือเรียกแบบบ้าน ๆ ว่า “หัวใจวาย” ก็ได้ความเหมือนกัน
ถ้าจุดจบตรงนี้คือจุดเริ่มต้นของหัวใจหยุดเต้น และหลักวิชาฟื้นคืนชีพ (Resuscitation) บอกว่าอะไรก็ไม่สำคัญเท่าการจัดการก่อนที่หัวใจจะหยุดเต้น ดังนั้นมันจึงสำคัญมากใช่ไหมครับที่คนป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปที่ยังไม่ป่วยจะได้เรียนรู้ไว้เสียแต่ต้นมือว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่จะนำเราไปสู่ภาวะหัวใจวายและตายกะทันหัน
ปัจจัยที่นำไปสู่ หัวใจวาย กะทันหัน
1. โรคที่เป็นงอมได้ที่จนต่อมไขมันบนหลอดเลือดแตกออก
แหม ข้อนี้ไม่ต้องเอาหลักฐานวิทยาศาสตร์มาอ้างก็ได้ คนธรรมดาใครๆ ที่ไหนก็รู้กันทั่วว่าคนเป็นโรคมานานจนงอมได้ที่ก็ต้องตายง่าย ถูกไหมครับ
คำตอบก็คือ… อาจจะไม่ถูกนะ เพราะการชันสูตรหลอดเลือดหัวใจของผู้ที่เกิดหัวใจวายเสียชีวิตกะทันหันเกินครึ่งพบว่า โรคยังไม่ทันงอมได้ที่เลยไม่มีต่อมไขมันแตกเติกอะไรเลย บางคนที่อายุระดับสามสิบปลายๆ สี่สิบต้นๆ เพิ่งจะเริ่มเป็นโรค แต่ก็มาหัวใจวายตายเสียแล้ว โดยที่ไม่เคยรู้ตัวเลยว่าตัวเองเป็นโรค ดังนั้นจึงต้องมีปัจจัยอื่นที่มาร่วม “ซ้ำเหงา” ให้เกิดเรื่องทั้งๆ ที่หลอดเลือดเพิ่งเริ่มเป็นโรคเท่านั้นเองปัจจัยซ้ำเหงาที่ว่าคือ…
2. ความเครียดเฉียบพลันที่เจ้าตัวไม่รู้วิธีรับมือ
งานวิจัยทางระบาดวิทยาพบว่า ผู้ที่เสียชีวิตกะทันหันจำนวนหนึ่งมีความเครียดเฉียบพลันเป็นตัวเหนี่ยวนำ วิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่าความเครียดทำให้หลอดเลือดหดตัว ถ้าเครียดมากก็หดมาก ถ้าเครียดมากที่สุดก็หดแบบไม่ยอมคลายถ้าเป็นการหดที่หลอดเลือดหัวใจเรียกว่า Coronary Spasm
ความเครียดระดับนี้พูดภาษาบ้านๆ ก็คือ เป็นความเครียดระดับ “ปรี๊ดแตก” คือปากสั่นคอสั่น พูดจะไม่เป็นคำแล้วถ้าไม่รู้วิธีรับมือก็จะม่องเท่งได้ง่ายๆ
ดังนั้นทุกท่านต้องมีวิทยายุทธ์ในการรับมือกับความเครียดเฉียบพลันคือต้องฝึกสติ รู้ตัวว่าอารมณ์เรากำลังเดือดปุดๆ หรือยัง ถ้าเห็นว่าเริ่มจะปุดๆ แล้ว ให้รีบพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นทันที อย่างน้อยก็ให้หายใจเข้าลึกๆ แล้วค่อยๆ ระบายลมหายใจออก พร้อมกับบอกกล้ามเนื้อทั่วตัวให้ผ่อนคลาย บอกใจให้ปล่อยวางเสียเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้…ตายไม่รู้ด้วยนะ
3. การที่ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้นพรวดพราด
เช่น หลังอาหารมื้อหนักๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ซึ่งมีไขมันจากสัตว์สูงงานวิจัยพบว่า หลังมื้ออาหารประเภทนี้ไขมันในเลือดจะสูงขึ้น แม้จะสูงแป๊บเดียวก็จริง คือสูงอยู่ประมาณชั่วโมงกว่า แล้วลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว แต่ฤทธิ์ของไขมันในเลือดสูงจะมีผลอยู่นานถึง 4 – 6 ชั่วโมง
ฤทธิ์ที่ว่านั้นคือ เลือดจะหนืดขึ้นไหลช้าลง เมื่อเอาอัลตราซาวนด์สอดเข้าไปถ่ายรูปหลอดเลือดดู ก็พบว่าหลอดเลือดหดตัวแน่นไม่ยอมคลายเพราะไขมันทำลายกลไกการผลิตก๊าซไนตริกออกไซด์ (NO) ที่คอยทำให้หลอดเลือดขยายตัว จังหวะที่หลอดเลือดหดตัวฟุบควบกับเลือดหนืด นื้ดหนืด เนี่ยแหละ ลิ่มเลือดก็ก่อตัวขึ้นและอุดตันหลอดเลือดที่ตีบอยู่แล้ว…จึงเป็นเรื่อง
ดังนั้นการจะป้องกันการตายกะทันหันจากสาเหตุนี้ก็มีวิธีเดียวคือ อย่ากินไขมันมาก
แหม หมอสันต์เนี่ย ขู่กันเสียขนลุกแล้ว…
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ทุกท่านรับข่าวสารกลับบ้านสองประเด็นเท่านั้น คือ ให้หัดดับความเครียดเฉียบพลันก่อนที่ปรี๊ดจะแตก และ…อย่ากินไขมันมาก
จาก คอลัมน์ WELLNESS CLASS นิตยสารชีวจิต ฉบับ 416 (1 กุมภาพันธ์ 2559)
ชีวจิต Tips อาหารบำรุงหัวใจ ล้วนเป็นพืชผักใกล้ตัว
หัวใจ และหลอดเลือดเป็นอวัยวะสำคัญลำดับต้นๆ ของร่างกายเราเลยค่ะ แต่ก็เป็นอวัยวะต้นๆ เช่นเดียวกันที่มักมีโรคภัยมาก่อกวน แต่โรคเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มาจากพฤติกรรมการกิน และการใช้ชีวิต ดังนั้นเรามากิน อาหารบำรุงหัวใจ กันดีกว่าเพื่อดูแลหัวใจดวงน้อยๆ ให้แข็งแรงอยู่เสมอ
หอม ทั้งหอมหัวใหญ่ หอมเล็ก และต้นหอม
มีข้อดีในเรื่องการช่วยบำรุงเลือดและหัวใจ เนื่องจากในหอมจะมี สารพลาโวนอยด์ที่ช่วยยับยั้งไม่ให้เกล็ดเลือดไปรวมตัวกันจนแข็งตัวแล้วไปอุดตันตามเส้นเลือด ทำให้ลดความเสี่ยงที่จะป็นโรคหัวใจลงไปได้ นอกจากนี้หอมต่างๆ ยังช่วยลดอาารอักเสบ แก้หวัด คัดจมูก และยังมีสารเควอร์ซิทิน ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ จึงป้องกันโรคมะเร็งได้
พริก
มีสารแคปไซซินที่ให้ความเผ็ด ช่วยทำให้จับกลุ่มของเกล็ดเลือด ลดการสร้างไขมันในร่างกาย ลดการดูดซึมไขมันในเส้นเลือด ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปใช้ได้สะดวก ไม่มีเลือดมาอุดตันตามหลอดเลือด
ใบบัวบก
มีธาตุเหล็กสูง ซึ่งธาตุเหล็กเป็นสารช่วยบำรุงหัวใจ และยังมีสรรพคุณที่ช่วยบำรุงเลือด ป้องกันการเป็นโรดเลือดจางช่วยให้ผนังหลอดเลือดแข็งแรงขึ้น และยังช่วยแก้อาการชำในและร้อนในด้วย โดยวิธีการทำใบบัวบกรับประทาน ให้นำก้านและใบมาล้างให้สะอาด จากนั้นนำมาบดให้ละเอียดและคั้นเอาส่วนที่เป็นน้ำไปต้ม อาจจะเติมน้ำตาลหรือเกลือบ้างเล็กน้อย เสร็จแล้วก็นำมาดื่มได้เลย
กระเจี๊ยบแดง
นำกระเจี๊ยบแดงมาต้มกับน้ำ แล้วเติมน้ำตาลลงไปเล็กน้อยเพื่อลดความเปรี้ยว หากดื่มบ่อย ๆ จะช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดความดันเลือด บำรุงเลือดให้ไหลเวียนดีขึ้น เป็นการบำรุงร่างกายได้ หรือจะนำกระเจี๊ยบแดงมาต้มกับพุทราจีนก็ช่วยกำจัด ไขมันไม่ดีในร่างกายได้
ข้อมูล คอลัมน์ เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 541
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ฉี่แล้วอย่าเพิ่งกด! สังเกตปัสสาวะ สักนิด สังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย
โรคเบาหวาน กับความเข้าใจผิด ๆ ที่ทุกคนควรรู้ หมอตอบเอง
อาหารของโรคไต ป้องกันภาวะไตเสื่อม