สังเกตปัสสาวะ สังเกตอาการผิดปกติ
หากพูดเรื่องการดื่มน้ำ ย่อมสัมพันธ์กับการขับปัสสาวะอย่างแน่นอน การดื่มน้ำมากหรือน้อยมักแปรผันตรงกับปริมาณฉี่หรือปัสสาวะ ซึ่งสามารถสะท้อนถึงภาวะขาดน้ำของร่างกายได้อย่างหนึ่ง ดังนั้น มาลอง สังเกตปัสสาวะ กันดีกว่า
แต่รู้หรือไม่ นอกจากเช็กภาวะขาดน้ำของร่างกายแล้ว ปัสสาวะยังสะท้อนความผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกายได้อีกมากมาย
วันนี้ ชีวจิตได้รวบรวมบทความเรื่องฉี่ หรือปัสสาวะ โดย อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง บรรณาธิการผู้ก่อตั้งนิตยสารชีวจิต มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้
ฉี่นั้นสำคัญต่อชีวิต
อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง บรรณาธิการผู้ก่อตั้งนิตยสารชีวจิต เล่าแนวคิดเรื่องปัสสาวะไว้ว่า
“เรื่องปัสสาวะ ขอพูดแบบชาวบ้านว่าเรื่องฉี่นี่สำคัญมากสำหรับชีวิตของมนุษย์และสัตว์ ถ้าฉี่ไม่ได้หรือฉี่ไม่ออก เราก็ต้องตาย ความจริงเราไม่ได้ตายทันที แต่เราจะเริ่มอ่อนแอและเจ็บปวดไปทีละ น้อย ๆ ในขณะเดียวกันแต่ละส่วนหรือแต่ละระบบของร่างกายก็จะ ค่อย ๆ เริ่มตายไป
จากฉี่ไม่ออก จะมีอาการพิการไปถึงไต
จากโตก็จะติดต่อไปถึงระบบหายใจ (ปอด หลอดลม หัวใจ)
จากระบบหายใจก็เข้าถึงหัวใจเลย
จากหัวใจก็ถึงสมอง
ถ้าถึงช่วงนี้ก็แปลว่าจบ จบทั้งกายทั้งใจไปพร้อมกันหมด”
สังเกตปัสสาวะ ผิดปกติได้อย่างไร
อาจารย์สาทิส แนะนำ วิธีเช็กความผิดปกติของปัสสาวะ โดยแบ่งเป็น 4 เรื่อง คือ
1.ปริมาณปัสสาวะ
ในหนึ่งวันเราจะปัสสาวะอย่างต่ำ 800 มิลลิลิตร อย่างมากที่สุดคือ 2,000 มิลลิลิตร หรือเท่ากับน้ำ 2 ลิตร ปริมาณปัสสาวะนี้เกี่ยวข้องกับคนตัวใหญ่หรือตัวเล็กหรือเปล่า ขอตอบว่าเรื่องขนาด ของคนไม่เกี่ยวมากนักเว้นแต่ว่าบางคนมีขนาดตัวผิดปกติมาก เช่น เป็นคนแคระ สูงไม่ถึงเมตร หรือตัวสูงผิดปกติเกิน 2 เมตร อย่างนี้ปริมาณปัสสาวะก็คงมากน้อยแตกต่างจากคนปกติมาก
เมื่อเราดื่มน้ำ – กระหายน้ำ ดื่มน้ำมากเกินไป ก็จะเกิดอาการฉี่มากเกินปกติด้วย การฉี่มากเกินปกตินั้นให้สังเกตว่าเกินปริมาณวันละ 2 ลิตร ก็เรียกว่าปริมาณของฉี่เริ่มผิดปกติแล้ว
- อาการฉี่เกิน จะเกี่ยวกับการป่วยเป็นเบาหวานด้วย ไม่ใช่เกี่ยวกับเบาหวานอย่างเดียว แต่ ให้สังเกตด้วยว่าอาจจะเกี่ยวไปถึงเรื่องของไตวาย ตัวบวม ขาบวม และเกี่ยวไปถึงโรคหัวใจด้วยก็ได้
- อาการฉี่น้อย เรียกกัน 2 อย่าง อย่างหนึ่งคือ Oliguria (อ่านว่าโอลิกูเรีย) หมายความว่า วันหนึ่ง ๆ ฉี่ของคุณน้อยกว่า 500 มิลลิลิตร หรือ น้อยกว่าครึ่งลิตร อีกอย่างหนึ่งจะเรียกว่าฉี่น้อยมากก็พอจะได้ นั่นก็คือ Anuria (อ่านว่าเอินยูเรีย) ฉี่น้อยมากแบบนี้อันตรายมาก ๆ นั่นก็คือวันหนึ่ง อย่างเก่งก็ฉี่ได้ไม่เกิน 125 มิลลิลิ่ตร หรือประมาณ 8 – ช้อนโต๊ะ ขนาดนี้ต้องถือว่าอันตรายมาก ถ้าเป็นอย่างนี้คือฉี่น้อยหรือฉี่ไม่ออกติดต่อกันถึงสัก 2 อาทิตย์มีหวังเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
2. สีปัสสาวะ สีของปัสสาวะควรจะเป็น
- สีใสอมเหลืองนิด ๆ ถ้าใสจนเกือบเหมือนน้ำบริสุทธิ์ก็ลองดูตัวเองว่า ตอนนั้นคุณดื่มเบียร์หรือเหล้าเติมโซดามากไปหรือเปล่า
- ถ้าเป็นสีแดง หรือสีแดงอ่อน ๆ ก็คงจะเป็นเพราะฉี่ของคุณมีเลือดออกมาปน อันนี้ไม่ค่อยดี
- ถ้าเหลืองน้อยๆ จนกระทั่งเหลืองจัด ก็ให้สังเกตว่าคุณกินวิตามินอย่างเป็นเม็ดเข้าไปมากหรือเปล่า โดยเฉพาะวิตามินกลุ่มบี เหลืองแบบวิตามินออกมาปนอย่างนี้ไม่มีอันตราย แต่ก็ควรตรวจตราดูให้ดีว่าคุณกินมากเกินอัตราที่แพทย์แนะนำไว้หรือเปล่า กินวิตามินมากเกินไป นอกจากจะฉี่สีไม่สวยแล้ว ยังเปลืองสตางค์ค่าวิตามินแพง ๆ อีกด้วย
การกินยาประจำตัว
คุณต้องสังเกตเอาเองว่ายาประจำตัวของคุณนั้นจะมีสีแปลก ๆ หรือบางทีไม่ต้องสังเกตก็ได้ เพราะแพทย์ของคุณน่าจะบอกว่าเมื่อกินยานั้น ๆ เข้าไปแล้ว ฉี่ของคุณอาจจะมีสีผิดปกติอย่างไรบ้าง เช่น ยากลุ่มคลอร์โปรมาซีน ปัสสาวะจะมีสีคล้ำ กลุ่มโคลไตรมาโซลจะมีสีส้มหรือม่วงแดง ฟลูออเรสซีน (ฉีดเข้าทางเส้นเลือด) ฉี่จะมีสีเหลืองหรือส้ม เมทิลีนบลู จะมีสีน้ำเงินเขียว ฯลฯ
ฉะนั้นถ้าปัสสาวะของคุณมีสีแปลก ๆ อย่าเพิ่งตกใจ ให้นึกย้อนไปว่าคุณกินยาอะไรหรือฉีดยาอะไรเข้าไปบ้าง
3. กลิ่นปัสสาวะ
กลิ่นของปัสสาวะจะเกี่ยวกับยาเสียเป็นส่วนมาก กลิ่นของยาในปัสสาวะนั้น ตัวซึ่งมักจะได้กลิ่นกัน แทบทุกคนที่นำหน้ามาก่อนก็คือยาประเภทปฏิชีวนะหรือ Antibiotics ยาประเภทปฏิชีวนะนี้ในปัจจุบันมีหลายร้อยตัว บริษัทยาคิดยาตัวใหม่ ๆ ในกลุ่มนี้ออกมาเรื่อย ๆ ยายิ่งแรง กลิ่นฉี่ก็แรงตามไปด้วย
ที่มีกลิ่นแรงอีกอย่างหนึ่งก็คือยาประเภทที่เรียกว่า Paraldehyde (อ่านว่าพารัลดีไฮด์) ซึ่งเป็นยาประเภทกล่อมประสาทและช่วยให้นอนหลับด้วย
นอกจากนั้นก็คือพวกวิตามิน โดยเฉพาะกลุ่มวิตามินบีในข้อสองที่กล่าวมาแล้ว วิตามินกลุ่มนี้นอกจากจะทำให้ปัสสาวะมีสีเหลืองแล้ว บางครั้งยังทำให้มีกลิ่นแรงด้วย นี่คือยาซึ่งจะทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นแปลก ๆ แต่มี อีกกลิ่นหนึ่งซึ่งไม่ใช่กลิ่นยา
กลิ่นปัสสาวะที่อยากเตือนเป็นพิเศษคือกลิ่นฉี่ซึ่งออกมาเป็นกลิ่นหวาน ๆ เหมือนกลิ่นละมุดสุก โดยเฉพาะที่กลิ่น จะเหมือนมากที่สุดก็คือเหมือนกลิ่นน้ำยาล้างเล็บ
กลิ่นเหมือนละมุดสุกหรือกลิ่นน้ำยาล้างเล็บอย่างนี้ไม่ค่อยดี เพราะคงหมายความว่าโรคเบาหวานอาจจะหนักแล้ว หรือบางที่อาจจะเกี่ยวกับโรคไตหลายอย่างก็เป็นได้
4. การตรวจฉี่
การตรวจฉี่นี้ต้องอาศัยการตรวจปัสสาวะจากห้องแล็บ จะเป็นห้องแล็บโดยตรงหรือห้องแล็บของโรงพยาบาลก็ได้ การตรวจแบบนี้จะตรวจในหลักใหญ่ ๆ คือ
- ตัวยาซึ่งเปลี่ยนความถ่วงจำเพาะ (Spacific Gravity)
- ตัวยาซึ่งลด pH (ความเป็นกรดและด่าง)
- ยาซึ่งเพิ่ม pH (ความเป็นกรดและด่าง)
- ยาซึ่งทำให้โปรตีนออกมาในปัสสาวะ
- ตัวยาซึ่งทำให้น้ำตาลในปัสสาวะเปลี่ยน
- ยาซึ่งทำให้ปริมาณเม็ดเลือดขาวเพิ่ม
- ตัวยาซึ่งทำให้ระบบเลือดผิดปกติ
- ยาซึ่งทำให้ปัสสาวะเกิดเป็นพิษ
- ตัวยาซึ่งทำให้ปัสสาวะมีเกล็ดเล็ก ๆ ฯลฯ
สังเกตปัสสาวะ เพื่อทำนายโรค
ก่อนจะถึงโรคสำคัญบางอย่าง เกี่ยวกับฉี่หรือปัสสาวะ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง มีข้อสังเกตเพิ่มเติมของ อาการฉี่ผิดปกติที่เกี่ยวกับระบบอื่น ๆ อีก ดังนี้
- ปัสสาวะบ่อยเกินไปและปัสสาวะออกช้า หรือฉี่ ๆ หยุด ๆ ฉี่ไม่สุด ตื่นกลางคืนบ่อย อาจจะเกี่ยวกับโรคของต่อมลูกหมาก
- ฉี่บ่อย ๆ แถมยังมีอาการหิวง่าย พร้อมกับกระหายน้ำมาก ๆ ด้วย (ไม่เกี่ยวกับอากาศร้อน) ให้สงสัยว่าอาจจะเกี่ยวกับเบาหวาน ให้เช็กเลือด เช็กปัสสาวะ และเช็กน้ำตาลด่วน
- ปวดฉี่บ่อย พยายามกลั้นไว้ได้บางครั้ง แต่ต่อมากลั้นปัสสาวะไม่ได้เลย เฉพาะคุณผู้หญิง ให้สังเกตว่าคุณเครียดมากหรือเปล่า
- ปัสสาวะกลางคืนบ่อย คุณชอบดื่มกาแฟหรือชามากเกินไปหรือเปล่า ทุเลากาแฟหรือชาลงเสียบ้าง
- ฉี่บ่อยอีกเหมือนกัน แต่ก่อนไม่เคยเป็น ให้ทบทวนดูว่าคุณกินยาลดความอ้วน ยาขับปัสสาวะ และยาลดไขมันมากเกินไปหรือเปล่า
- กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ให้ดูว่ามีอะไรผิดปกติ เรื่องระบบย่อย (ท้องเดิน ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องผูก) หรือคุณมีอาการอัมพาต เส้นโลหิตในสมองแตก หรือเส้นเลือดอุดตัน
- โรคเกี่ยวกับสมอง จะเกี่ยวกับการฉี่ผิดปกติทั้งสิ้น โรคนี้ดูด้วยกันกับเรื่องสมอง คงจะต้องพูดกันโดยละเอียด
ข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 589
บทความอื่นที่น่าสนใจ
- รวม ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ปีใหม่นี้ ต้องผอม+สตรอง!!
- น้ำประปา ปลอดภัยจริงไหม
- เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง
- แรงกระแทก ดีต่อกระดูกอย่างไร หมอมีคำตอบ
- ความดันและไขมันในเลือดสูง ปรับเปลี่ยน 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ไม่ง้อยา
- เดินเผาผลาญไขมัน >> การลดน้ำหนักสุดคลาสสิกที่ไม่ทำให้อ้วนซ้ำ
ติดตามชีวจิตได้ที่