โรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน กับความเข้าใจผิด ๆ ที่ทุกคนควรรู้ หมอตอบเอง

ว่าด้วยความเข้าใจผิด ๆ เรื่อง โรคเบาหวาน

อีกหนึ่งภัยเงียบที่ทำร้ายสุขภาพและสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตของผู้คนคือ โรคเบาหวาน ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวานและไม่ได้รับข้อมูลความรู้ รวมถึงการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง หากปล่อยไว้ อาจมีความเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ไตวาย โรคเกี่ยวกับดวงตา และอาจอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่รู้ตัวและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเสียแต่เนิ่น ๆ

รู้รอบเรื่อง โรคเบาหวาน กับคำถามและความเข้าใจผิด ๆ ที่ (เคย) คิดว่าใช่

จริงหรือไม่ที่โรคเบาหวานมักมาคู่กับความอ้วน

คุณหมอตอบ : เป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง คนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือคนที่เป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัว เริ่มจากน้ำหนักตัวที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 126 เท่ากับเป็นเบาหวานแล้ว (เทียบกับระดับน้ำตาลในเลือดปกติควรอยู่ที่ 100) เมื่อน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก ๆ และมีภาวะอ้วน ร่างกายจะดื้อต่อการใช้อินซูลิน และทำให้มีปริมาณน้ำตาลในร่างกายเกินความจำเป็น แม้น้ำหนักจะลดลงภายหลังก็ไม่ควรย่ามใจ เพราะแท้จริงอาจเป็นเบาหวานแล้ว ต้องเฝ้าระวังและหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะคนที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวานอยู่แล้ว รวมถึงคนที่มีภาวะอ้วนลงพุงก็เสี่ยงเช่นกัน โดยวัดจากขนาดรอบเอวที่เหมาะสมด้วยการนำส่วนสูงมาหารสอง ขนาดรอบเอวที่ดีไม่ควรเกินเลขส่วนสูงหารสอง หากมากกว่านั้นก็เสี่ยงเป็นเบาหวานได้

ส่วนผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่สองคือ เป็นเบาหวานที่พบตั้งแต่เด็ก ไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาวะอ้วน ร่างกายของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะขาดอินซูลิน ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ร่างกายจะผอมมาก ถือเป็นเบาหวานขั้นรุนแรง และมีความจำเป็นที่ต้องใช้อินซูลินในการรักษา

โรคเบาหวาน สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม จากรุ่นสู่รุ่นได้จริงไหม? และคนที่เป็นลูกของผู้ป่วยเบาหวานจะต้องเป็นเบาหวานแน่นอนหรือเปล่า?

คุณหมอตอบ: โรคเบาหวาน สามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกหลานได้ แต่ไม่ใช่ว่าต้องเป็นทุกคน มีงานศึกษาวิจัยที่ศึกษาครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่เป็นเบาหวาน พบว่าร้อยละ 60 ของบุตรหลานผู้ป่วยเหล่านั้นไม่เป็นเบาหวานหากมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ในทางกลับกัน สำหรับคนที่มีพฤติกรรมชอบรับประทานหวานมาก ๆ แม้ไม่มีพ่อแม่เป็นผู้ป่วยเบาหวาน ก็สามารถสร้างยีนส์โรคเบาหวานขึ้นมาและส่งต่อให้ลูกหลานได้เช่นกัน โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หากพบว่าเป็นเบาหวาน ปริมาณน้ำตาลที่มากเกินพอดีจะถูกส่งไปที่ลูกในครรภ์ ทำให้ลูกมีขนาดตัวใหญ่ผิดปกติและส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกได้

สิ่งที่ต้องพึงระวังมากกว่าคือ การได้รับอิทธิพลพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องในหมู่คนใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว ที่ไม่ใช่แค่กับคนในครอบครัว แต่รวมถึงเพื่อน และเพื่อนร่วมงาน ที่พากันรับประทานหวานกันเป็นกลุ่ม เช่น ชวนกันกินของหวานหรือดื่มชาไข่มุกหลังมื้อเที่ยงเป็นประจำ จำเป็นต้องรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

สัญญาณเตือนโรคเบาหวานมีอะไรบ้าง และหากป่วยเป็นเบาหวานแล้ว ควรดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา

คุณหมอตอบ: สัญญาณเตือนแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มเสี่ยงแต่ไม่มีอาการ ได้แก่ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงแต่ไม่มีอาการ หรือกลุ่มคนที่มีประวัติพ่อแม่ป่วยเป็นเบาหวาน กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่มีอาการมา ๆ หาย ๆ ได้แก่ อ้วนแล้วผอมลง อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำมาก รับประทานอาหารเก่งแต่ไม่อ้วนขึ้น ตาพร่ามัวชั่วคราว สายตาเปลี่ยนเร็ว มือเท้าชา กลุ่มคนเหล่านี้ควรไปตรวจสุขภาพ

สาเหตุส่วนใหญ่ของเบาหวานคือ รับประทานหวานมากเกินความจำเป็นและไม่มีการออกกำลังกาย และ หรือเคลื่อนไหวร่างกายเพียงพอ น้ำตาลจึงเข้าไปสะสมและก่อโรคที่ไม่ใช่แค่เบาหวาน แต่รวมถึงโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ไขมันพอกตับ และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตั้งแต่หัวจรดเท้า วิธีดูแลตัวเอง คือ ควบคุมอาหารให้เหมาะสมและออกกำลังกาย หากรับประทานหวานแล้ว ควรออกเดิน และ หรือออกกำลังกายภายในวันเดียวกัน สิ่งสำคัญคือการได้รับข้อมูลความรู้ในการดูแลป้องกันตัวเองที่ดีและถูกต้อง และปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด

เบาหวาน แพทย์จีน รักษาเบาหวาน หมอจีน โรคเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวาน ถ้าใช้อินซูลินแล้ว แปลว่าเป็นเบาหวานระยะสุดท้าย จริงหรือไม่

คุณหมอตอบ ไม่จริง ความจริงแล้วอินซูลินมีบทบาทสำคัญต่อการรักษาผู้ป่วยเบาหวานเกือบทุกระยะ เนื่องจากอาการเบาหวานของผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกัน บางรายเป็นเบาหวานระยะเริ่มต้นแต่จำเป็นต้องได้รับอินซูลินสม่ำเสมอเพราะร่างกายไม่สามารถดึงเอาน้ำตาลมาใช้ได้ปกติ และในอนาคต อินซูลินอาจพัฒนาไปมากขึ้นจนสามารถฉีดได้สัปดาห์ละครั้ง เทียบกับปัจจุบันที่ต้องฉีดวันละหลายครั้ง และมีขนาดพกพาเท่าปากกา รวมถึงการสร้างตับอ่อนเทียมเพื่อช่วยสร้างอินซูลิน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้กับผู้ป่วยเบาหวานได้ดียิ่งขึ้น

การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเบาหวานถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เราสามารถดูแลตัวเองและคนที่เรารักได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที ยิ่งไปกว่านั้น การต่อสู้เอาชนะโรคเบาหวานไม่ใช่เรื่องใครคนใดคนหนึ่ง เราทุกคนล้วนมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างจริงจังในระยะยาว ทั้งกับครอบครัว เพื่อน และที่ทำงาน เพื่อป้องกันโรคร้ายนี้ให้ลดน้อยลงไปและช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้นไปด้วยกัน

ข้อมูลโดย : .นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย


บทความอื่นที่น่าสนใจ

อาการเบาหวาน ส่งผลร้ายกว่าที่คิด

เบาหวาน ดูแลกันอย่างไร

ทำไมกิน “น้ำตาล” มากๆ ก็ทำให้เป็นโรคไตได้ คำอธิบายของ เบาหวานลงไต

เบาหวานขึ้นตา อาการแทรกซ้อนที่ต้องเฝ้าระวังให้ดี

เบาหวาน อยากกินผลไม้ต้องอ่าน!.

กินสร้างสมดุลอินซูลิน ลดน้ำตาลในเลือด เพื่อผู้ป่วยเบาหวาน

น่ารู้ เลือดเป็นกรด หรือภาวะ DKA ในผู้ป่วยเบาหวานอันตรายอย่างไร

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.