เบาหวาน

เบาหวาน ดูแลกันอย่างไร

หากป่วยด้วยโรค เบาหวาน ต้องดูแลร่างกายอย่างไร

เดี๋ยวนี้คนทำงานหลากหลายวัย ป่วยเป็น เบาหวาน กันมากขึ้น อีกทั้งหลายคนมักไม่รู้วิธีการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม บางรายปล่อยปละละเลยจนเกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้น

วันนี้ เราขอแนะนำการดูแลตัวเองและดูแลคนใกล้ชิดที่อาจกำลังป่วยด้วยโรคนี้ ด้วยหลักการที่เหมาะสมค่ะ

ปฏิบัติตัวดังนี้ ลดเสี่ยง ลดอาการ เบาหวาน

  1. กินอาหารให้ตรงเวลา วิธีการคือ กินให้ครบมื้อในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มีมื้อไหนปริมาณมากน้อยโดดออกมา และหลีกเลี่ยงการกินของจุบจิบจะดีที่สุด
  2. อาหารที่ควรงด ได้แก่ ขนมหวานทั้งไทยและฝรั่ง น้ำหวาน น้ำอัดลม นมรสหวาน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งผลไม้หวานจัด ผลไม้กระป๋อง ผลไม้เชื่อม รวมถึงผลไม้แช่อิ่ม
  3. อาหารที่ควรควบคุมปริมาณ ได้แก่ อาหารจำพวกแป้ง เช่น ข้าว ขนมปัง ขนมจีน รวมถึงผักผลไม้ที่ให้แป้งสูง อย่างฟักทอง หรือผลไม้หวานจัดอย่างทุเรียน ลำไย
  4. อาหารที่ควรกิน ได้แก่ โปรตีนจากปลาและพืช เช่น ถั่วและเต้าหู้ รวมถึงอาหารที่มีกากใยมากๆ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ตลอดจนผักทุกชนิด
  5. สำหรับคนที่อ้วนมากๆ จำเป็นต้องลดน้ำหนักก่อน โดยลดอาหารทอด หรืออาหารที่มันมากๆ เช่น มีส่วนผสมของกะทิ น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันปาล์มมาก

คนใกล้ชิดช่วยดูแลอย่างไร

คนที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยเบาหวาน ต้องช่วยสังเกตหลายๆ อาการของคนที่เรารักค่ะ เนื่องจากอาหารของเบาหวานเกิดจากน้ำตาลในกระแสเลือดมีปริมาณสูงขึ้น ในขณะที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลมาใช้เป็นพลังงานได้ หรือนำมาใช้ได้ไม่เต็มที่ ปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดจึงล้นออกมากับปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะมาก หรือปัสสาวะปริมาณมาก

ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้นี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาหมดสติ จนถึงเสียชิตได้ ทำให้ต้องสังเกต “ภาวะเบาหวานฉุกเฉิน”ได้ใน 2 ลักษณะ

ภาวะเบาหวานฉุกเฉินจากน้ำตาลต่ำ ผู้ป่วยมักเริ่มด้วยอาการมึน วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ใจสั่น เหงื่อออก คล้ายเวลาหิว แต่เป็นมากกว่า หากเกิดอาการควรรับประทานน้ำตาลเพื่อให้พ้นจากสภาวะนี้

ภาวะเบาหวานฉุกเฉินจากน้ำตาลสูง ได้แก่ น้ำตาลในเลือดสูงเพราะความผิดปกติของระบบเผาผลาญ ทำให้มีกรดคั่งในร่างกายจนทำให้ผู้ป่วยหมดสติ อาการเริ่มต้นจะอ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย ซึมลงอย่างเห็นได้ชัด บางรายมีอาการหอบ หายใจลึก จำเป็นต้องรีบพาส่งโรงพยาบาลด่วน

อาการเบื้องต้นเหล่านี้ เชื่อว่าจะช่วยให้คุณดูแลตัวเอง หรือดูแลคนใกล้ชิดได้ง่าย และรับมือได้อย่างมีสติขึ้นค่ะ

ข้อมูลจากคอลัมน์เกร็ดสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 163

ชีวจิต Tips สูตรธรรมชาติ ป้องกัน บำบัด เบาหวาน

ตำลึง รักษาระดับน้ำตาล

ทีมนักวิชาการจาก Harvard Medical School ได้ทำการศึกษาพบว่า ตำลึงและโสมมีหลักฐานสนับสนุนประสิทธิภาพในการลดน้ำตาลได้ดีที่สุด โดยสรรพคุณที่ช่วยในเรื่องการลดน้ำตาลอยู่ในส่วนใบและราก

นอกจากนั้นยังศึกษาพบว่า หากกินใบตำลึงวันละ 50 กรัมทุกวัน จะสามารถรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ได้ด้วย

ดำรับยา เถาตำลึงสับเป็นท่อนๆ ยาว 2-3 นิ้ว จำนวน 1 กำมือ

วิธีทำ ใส่น้ำพอท่วม ต้มนาน 15 -20 นาที นำมาดื่มเช้า-เย็นติดต่อกัน 7 – 10 วัน ช่วยลดน้ำตาลในเลือด

น้ำคั้นมะระขึ้นก ชะลอผลเสียต่าง ๆ จากโรคเบาหวาน

สารขมในมะระขึ้นกมีฤทธิ์ในการยับยั้งน้ำตาลในเลือด เสริมการหลั่งอินซุลินจากตับอ่อน ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ เสริมการเผาผลาญน้ำตาล เพิ่มความไวต่ออินซูลิน เพิ่มความทนต่อกลูโคส (Glucose Tolerance) การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (8 คน) พบว่า ผู้ป่วยทนกลูโคสได้ดีขึ้น ลดระดับน้ำตาลขณะอิ่ม และลดความถี่ของการขับปัสสาวะ หากผู้ป่วยเบาหวานบริโภคมะระขึ้นกคั้นน้ำเป็นอาหารเสริม จะช่วยรักษาระดับความดันเลือดให้ปกติ และชะลออาการต่างๆ ที่เป็นผลเสียจากโรคเบาหวาน

ดำรับยา มะระขึ้นกสดผลสีเขียวผ่าครึ่งคว้านเมล็ดออก ใช้แต่ส่วนเนื้อ 100 กรัม

วิธีทำ ใส่เนื้อมะระขึ้นกลงในเครื่องคั้นแยกกาก จะได้น้ำมะระขึ้นกราว 40 มิลลิลิตร ดื่มหลังอาหารเช้าและเย็น

การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทำอย่างไรได้

สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย อธิบายว่า เมื่อผู้ป่วยเบาหวานออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายนำกลูโคสจากอาหารที่กินไปใช้เป็นพลังงานได้ดี ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยให้ควบคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น ภาวะดื้อต่ออินซูลินน้อยลง หัวใจแข็งแรง ป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดในอนาคต มาดู การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน กันเลยค่ะ

ออกกำลังกายยังไงดี

ผู้ป่วยออกกำลังกายได้หลากหลาย โดยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน วิ่งเหยาะ หรือเดิน กรณีอายุ 30 ปีขึ้นไป แนะนำให้ออกกำลังแอโรบิกระดับปานกลางอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที หรือออกกำลังกายระดับหนักอย่างน้อยสัปดาห์ละ 75 นาที แต่ถ้าเป็นการออกกำลังเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ เช่น ยกน้ำหนัก เกร็งกล้ามเนื้อ เน้นการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ต้องทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน และควรทำติดต่อกันเพื่อสร้างนิสัยที่ดี ร่วมกับการปฏิบัติดังนี้

ㆍปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการออกกำลังที่เหมาะสมกับตนเอง เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจออโตโนมิกผิดปกติควรประเมินการทำงานของหัวใจก่อนการออกกำลัง หรือผู้ที่มีแผลที่เท้าควรหลึกเลี่ยงการออกกำลังที่มีผลต่อเท้า เช่น วิ่ง หรือกระโดดตบ เป็นต้น
ㆍก่อนและหลังออกกำลังกายควรยืดเหยียดวอร์มอัพและคูลดาวน์กล้ามเนื้อแต่ละส่วน เช่น คอ ไหล่ แขน เข่า ขา เพื่อลดการบาดเจ็บและปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ
ㆍผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะเบาหวานลงไตหรือโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ออกกำลังกายได้โดยไม่ทำให้โปรตีนรั่วในปัสสาวะเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ㆍควรออกกำลังเวลาเดียวกันในแต่ละวัน เพื่อสร้างกิจวัตรประจำวันให้เกิดลักษณะนิสัยอันดี
ㆍ หากใช้ยาฉีดอินซูลินหรือกินยาลดน้ำตาลหลายชนิด ควรเจาะน้ำตาลปลายนิ้วทั้งก่อนและหลังออกกำลัง เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำ และแนะนำให้เตรียมน้ำตาลหรือลูกอมไว้ เผื่อมีอาการน้ำตาลต่ำขณะออกกำลังกาย

สุดท้าย อย่าลืมนอนหลับพักผ่อนให้ครบ 6 -8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนให้ครบนะคะ

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ท่าออกกำลังกายปรับบุคลิกภาพ ทำง่าย หายหลังค่อม

แนะวิธีจับคู่ สมุนไพรรักษาโรค บำรุงเลือด ป้องกันไขมันพอกตับ

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.