เคล็ดลับง่ายๆ ดูแลลำไส้ ช่วยห่างไกลจาก โรคลำไส้
ลำไส้เป็นสิ่งสำคัญ จนมีคำกล่าวที่ว่า ลำไส้เปรียบเสมือน “สมองที่สอง” เพราะหากลำไส้ป่วย ก็อาจลุกลามไปส่วนอื่นๆ ให้ป่วยตามไปด้วยง่ายๆ ดังนั้นแล้ว การ ดูแลลำไส้ ให้แข็งแรง ไม่ป่วยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ วันนี้แอดมีเทคนิคการ ดูแลลำไส้ให้แข็งแรงมาฝากกันค่ะ
ดูแลลำไส้ ทำได้ไม่ยาก
นายแพทย์วิล บัลซ์วิตซ์ ผู้เขียนหนังสือ Fiber Fueled ระบุถึงวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี สุขภาพแข็งแรงและดูอ่อนวัย ดังนี้
- ดื่มน้ำอุ่น 1 แก้วหลังตื่นนอนแล้วนวดท้องเบาๆ กระตุ้นการขับถ่าย
- กินธัญพืช เช่น ลูกเดือย ข้าวโอ๊ต แมงลัก เมล็ดแฟลกซ์ ฯลฯ อย่างน้อยวันละ 3 ซ้อนโต๊ะ
- กินถั่วต่างๆอย่างน้อยวันละ 1 กำมือเป็นอาหารว่าง
- แบ่งครึ่งอาหารก่อนกิน เมื่อกินให้เคี้ยวช้าๆ แล้วจะพบว่าคุณกินอาหารน้อยลง
- กินผักผลไม้สดแทนขนมหวาน
- ดื่มชาเขียวหรือชาสมุนไพรที่ชอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
- ทำติดต่อกัน 1 เดือน จะช่วยให้การขับถ่ายของคุณเป็นปกติ ลดเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ดูแลลำไส้ ห่างไกลโรค
แม้ว่าจะ ดูแลลำไส้ เป็นอย่างดี แต่การดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันโรคแต่ละโรคก็ยังจำเป็น เพราะอย่างนั้นก็ต้องมาดูกันในแต่ละโรคว่ามีข้อควรปฏิบัติอย่างไร
มะเร็งลำไส้
โรคมะเร็งลำไส้ เป็นอีกหนึ่งโรคที่หลายคนเสี่ยงเป็นกันมาก บางคนมีปัญหาเรื่องท้องผูกมาตั้งแต่เด็กๆ อาจเป็นเพราะพฤติกรรมการกินที่ไม่กินผักผลไม้ ร่างกายไม่ได้รับไฟเบอร์เพียงพอ และดื่มน้ำน้อย ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานไม่ดี หากปล่อยให้ท้องผูกเรื้อรังจนมองว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิต พฤติกรรมนี้คือสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าคุณมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต
ท้องเสียจากการติดเชื้อ
เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ท้องเสียเรื้อรังจากการมีพยาธิลำไส้แคปิลลาเรีย (Capillaria philippinensis) พยาธิชนิดนี้มักพบในอาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดที่ปรุงไม่สุก เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ก้อยปลา
ท้องเสียจากบางโรคที่ในต่างประเทศไม่เจอ แต่บ้านเราเจอ เช่น การติดเชื้อวัณโรคในลำไส้หรือในเยื่อบุช่องท้อง
ส่วนโรคเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ที่พบบ่อยคล้ายคลึงกับที่พบในลำไส้เล็ก คือ การมีเลือดออก เจอก้อน ติ่งเนื้อ และมะเร็งลำไส้ใหญ่
โรคลำไส้แปรปรวน (IBS)
ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome : IBS) จัดเป็นโรคในกลุ่ม Functional Bowel Disorder ชนิดหนึ่ง หมายถึงโรคที่ไม่พบความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารไม่มีการอักเสบ และไม่มีพยาธิสภาพของเนื้องอกหรือมะเร็ง
โรคลำไส้แปรปรวนจะมีอาการปวดท้องเป็นหลัก ส่วนมากมักจะปวดบริเวณใต้สะดือร่วมกับมีการขับถ่ายอุจจาระ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงความถี่ของการถ่ายอุจจาระ และการเปลี่ยนแปลงลักษณะของอุจจาระ
ที่สำคัญคือต้องมีอาการเป็นๆ หาย ๆ หรือมีอาการเรื้อรัง เช่น มีอาการเริ่มต้นเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว และมีอาการต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้โรคลำไส้แปรปรวนไม่ควรมีสัญญาณเตือนเหล่านี้ เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ ถ่ายเป็นเลือดสด ๆ ถ่ายดำ คลำได้ก้อนในท้อง ปวดท้องรุนแรงมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
สาเหตุการเกิดโรคลำไส้แปรปรวน
ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวนที่แน่นอน สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ดังต่อไปนี้
- ประวัติในครอบครัวหรือพันธุกรรม
- ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวผิดปกติ
- ประวัติการติดเชื้อในอดีต ที่หลังติดเชื้ออาจมีการกระตุ้น “ตัวภาครับของเชลล์ให้เปลี่ยนแปลงไป” หรือพูด
ง่าย ๆ ว่า เส้นประสาทมีความไวต่อสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ - ปริมาณและชนิดของจุลินทรีย์ในลำไส้
- อารมณ์และโรคทางจิตเวช เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์กะทันหัน โรคซึมเศร้า
- การรับประทานอาหารและยาบางชนิด
การรักษาและการป้องกันโรคลำไส้แปรปรวน
การรักษาส่วนใหญ่จะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าใจในตัวโรคปรับพฤติกรรม และ /หรือให้รับประทานยาตามอาการ เช่น ยาลดอาการปวด บีบเกร็ง ยาระบาย แต่ไม่ได้รับประทานยาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้ป่วยทั้งที่สามารถรักษาให้หายขาดโดยไม่ต้องใช้ยาได้เช่นกัน ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ร่วมกับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
ส่วนวิธีป้องกัน แนะนำให้ลองสังเกตพฤติกรรมตนเอง เช่น หากรับประทานอาหารบางอย่างแล้วเกิดอาการก็อาจต้องหลีกเลี่ยง โดยมากอาหารที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น อาหารรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด ของมัน ของทอด รวมทั้งอาหารกลุ่ม FODMAPที่อาจทำให้แน่นท้อง ท้องอืด หรือปวดท้องได้ในบางราย
นอกจากนี้การบริหารจัดการความเครียด ออกกำลังกายให้เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน ก็อาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการกำเริบได้เช่นกัน
โรคลำไส้แปรปรวนแม้มีอาการเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ แต่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inilammatory Bowel Disease : IBD) และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพียงแต่อาจรบกวนคุณภาพชีวิต
ในช่วงที่อาการกำเริบได้
ติดตามการดูแลสุขภาพลำไส้ได้อย่างเต็มอิ่มที่ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 594 ดูแลลำไส้ + จุลินทรีย์ดี สุขภาพดี อายุยืน สั่งซื้อ คลิก
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ขับถ่ายผิดปกติ ระวัง! มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
ชวน เลือกพรีไบโอติกส์ ในผักและผลไม้ (กินเลยลำไส้ดี)
ติดตามชีวจิตได้ที่