ท้องผูกนานๆ

ท้องผูกนานๆ มะเร็งอาจถามหา

ท้องผูกนานๆ มะเร็งอาจถามหา

อาการ ท้องผูกนานๆ มีอันตรายต่อร่างกายมากกว่าที่คิด เพราะนอกจากจะเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันโดยตรง เช่น อาการสิว โรคนอนไม่หลับ ริดสีดวง แผลปริทวารหนัก และลำไส้อุดตันแล้ว ยังเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งลำไส้อีกด้วย ดังนั้น ระบบระบายในร่างกายที่เป็นปกติ จะช่วยขจัดของเสียและสารพิษ เพื่อให้คุณไกลจากโรคร้ายและช่วยชะลอวัยด้วย

การศึกษาจาก American College of Gastroenterology ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า อาการท้องผูก เรื้อรังอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่  หลังเก็บข้อมูลสุขภาพจากอาสาสมัครกว่า 100,000 ราย นาน 12 ปี พบว่า ผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ถึง 1.78 เท่า และเสี่ยงพบก้อนเนื้องอก 2.7 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย

นายแพทย์นิโคลัส แทลลี่ (Nicholas Talley) จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (University of Newcastle) ประเทศออสเตรเลีย อธิบายว่า อาการท้องผูกเรื้อรังทำให้ของเสียคั่งค้างภายในลำไส้เป็นเวลานาน จนอาจส่งผลให้สารก่อมะเร็งที่ปะปนในอาหารสะสมภายในลำไส้จนเข้มข้น เมื่อสัมผัสกับผนังลำไส้อย่างต่อเนื่องจึงเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งตามมา

ขับถ่ายแบบไหน? เรียกว่า “ท้องผูก”

ลักษณะของการขับถ่ายอุจจาระที่บอกได้ว่ามีเกณฑ์ผิดปกติ คือ เมื่อจำนวนครั้งในการขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับลักษณะของอุจจาระที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ก้อนมีขนาดเล็กลง หรือก้อนแข็งขึ้น เวลาถ่ายต้องออกแรงเบ่งให้หลุด และใช้เวลานานกว่าจะขับถ่ายเสร็จ เมื่อปล่อยให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังไปนานๆ หากคุณมีภาวะนี้อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเป็นริดสีดวงทวาร หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

ปรับพฤติกรรม…ป้องกันอาการท้องผูก

  • ขับถ่ายให้เป็นเวลา

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขับถ่ายคือหลังตื่นนอนในตอนเช้า ดังนั้น ควรปรับเวลาการตื่นนอนให้เช้าขึ้น…เพื่อให้มีเวลาเพียงพอสำหรับการดื่มนมหรือดื่มน้ำเปล่าที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากถ่าย

  • ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ในหนึ่งวัน

น้ำเปล่าถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการกระตุ้นการขับถ่าย ควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 1.5-2 ลิตรต่อวัน โดยแบ่งดื่มในแต่ละช่วงเวลา ครั้งละ 1-2 แก้ว ไม่ควรดื่มน้ำปริมาณมากๆ แบบรวดเดียว

  • เลือกทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง

อีกตัวช่วยสำคัญในการขับถ่าย คือ อาหารไฟเบอร์สูง อย่าง ผักและผลไม้ โดยปริมาณของใยอาหารที่พอเหมาะในแต่ละวัน คืออย่างน้อยวันละ 6 กรัม (สามารถสังเกตได้จากลักษณะของอุจจาระ ถ้าจมน้ำ…แสดงว่าต้องเพิ่มการกินผักและผลไม้มากขึ้น)

แนะนำ 5 แหล่งไฟเบอร์..มีดังนี้

  • ส้ม เป็นผลไม้ที่หาทานง่ายและราคาไม่สูง ส้มจะอุดมไปด้วยวิตามินซีและยังอัดแน่นไปด้วยไฟเบอร์ที่มีส่วนช่วยในการขับถ่าย ทั้งยังมีสารนารินจีนินที่ทำหน้าที่คล้ายกับยาระบายอีกด้วย
  • ลูกพรุน ไม่เพียงเป็นแหล่งไฟเบอร์ปริมาณสูง แต่ในลูกพรุนยังมีสารไดโฮดรอกซีฟีนีลอิซาติน ซึ่งมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของลำไส้ และยังอุดมไปด้วยโพแทสเซียมมากกว่ากล้วยถึง 2 เท่า จึงลดปัญหาร่างกายขาดโพแทสเซียม…สาเหตุของอาการท้องผูก
  • ถั่วดำ ไม่น่าเชื่อเลยว่า…ในถั่วดำ 1 ถ้วยจะอุดมไปด้วยไฟเบอร์มากถึง 15 กรัม รวมทั้งยังมีโพแทสเซียมและแมกนีเซียม ตัวช่วยสำคัญที่ทำให้อุจจาระเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารได้ง่ายขึ้น
  • ราสเบอร์รี่ เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่มีไฟเบอร์สูงมากกว่าสตรอว์เบอร์รี่ถึง 2 เท่าเลยทีเดียว
  • อัลมอนด์ ไม่ใช่แค่เป็นแหล่งไขมันดี แต่อัลมอนด์ยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์ ทั้งยังอุดมไปด้วยโพแทสเซียมที่ช่วยให้อุจจาระเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารได้สะดวกขึ้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ในคนที่ไม่ค่อยชอบออกกำลังกายหรือเอาแต่นั่งๆ นอนๆ ไม่ค่อยขยับร่างกายในแต่ละวัน มักจะมีโอกาสเกิดภาวะท้องผูกได้สูงกว่า

แม้ว่าจะปรับพฤติกรรมเพื่อการขับถ่ายที่ดีแล้ว แต่ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็น “มะเร็งลำไส้ใหญ่” หากคุณอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงการมีนิสัยชอบดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ก็ควรเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เพื่อเช็คสุขภาพของลำไส้ก่อนเสี่ยงโรคมะเร็งร้าย

ชีวจิต Tips โบรไบโอติก กับ ปัญหาสุขภาพท้อง

มาถึงตอนนี้หลายคนทราบกันเเล้ว ว่าทำไมโปรไบโอติกนั้นมีความสำคัญกับสุขภาพของเรา โดยเฉพาะสุขภาพท้อง นั่นก็เพราะเเหล่งที่อยู่ของโปรไบโอติก หรือจุลินทรีย์ชนิดดีนั้นล้วนมีชีวิตอยู่ในลำไส้ อวัยวะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบการดูดซึมเเละย่อยอาหาร

ว่ากันว่าหากจะประเมินว่าสุขภาพของเราจะดีหรือไม่ดี เจ็บป่วยสาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากปัญหาสุขภาพของระบบย่อย หรือสุขภาพท้องของเรานั่นเอง  จุลินทรีย์มีประโยชน์กับสุขภาพท้อง ดังต่อไปนี้

  1. ป้องกันช่วยแก้อาการท้องเสีย
    มีงานวิจัยระบุว่า โปรไบโอติก แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) สามารถป้องกันภาวะท้องเสียในเด็กขาดอาหารได้  เเละ โปรไบโอติกจากยีสต์ (Saccharomyces boulardii) ป้องกันและรักษาอาการท้องเสียเฉียบพลันในนักท่องเที่ยว และผู้สูงอายุที่เกิดจากการติดเชื้อ Clostidium  ในลำไส้ใหญ่ได้
  2. แก้อาการท้องผูก และโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
     โปรไบโอติก แลคโตบาซัลลัส มีประสิทธิภาพสามารถช่วยลดอาการอักเสบของลำไส้ได้ โดยการรักษาสมดุลของเชื้อบริเวณในลำไส้
  3. ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
     หากมีโปรไบโอติกที่ดีในลำไส้เพียงพอ จะสามารถช่วยเปลี่ยนสภาพแบคทีเรียในลำไส้ ป้องกันไม่ให้เกิดสารพิษ ที่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งในลำไส้ได้
  4. ช่วยรักษาโรคกระเพาะ
    ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารแนะนำว่า การใช้พรีไบโอติก และโปรไบโอติกร่วมกัน สามารถช่วยป้องกัน และรักษาโรคในระบบทางเดินอาหารได้

บทความอื่นที่น่าสนใจ 

สวยอ่อนเยาว์ ด้วยอาหารเกาหลี

17 วิธีตรวจ เนื้องอก ด้วยตัวเอง ฉบับสาวทำงาน

เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

แรงกระแทก ดีต่อกระดูกอย่างไร หมอมีคำตอบ

ถ่ายเป็นเลือด สัญญาณผิดปกติในลำไส้ใหญ่

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.