อาหารเสริม กินมากไป อันตรายหรือไม่

อาหารเสริม หากกินมาก ๆ จะตกค้างในร่างกาย จนก่อให้เกิดอันตรายจริงหรือไม่

เนื่องจากการบริโภคอาหารในปัจจุบันกับชีวิตที่รีบเร่ง บางครั้งก็ทำให้ไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอครบถ้วน การกิน อาหารเสริม จึงเป็นสิ่งที่เพิ่มเข้ามาเพื่อทดแทนสิ่งเหล่านี้ แต่จะทราบได้อย่างไรว่า การกินอาหารเสริมมากไป จะส่งผลต่อร่างกายหรือไม่

วันนี้เรามีคำตอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยอ้างอิงข้อมูลจากบทความสุขภาพ เว็บไซต์ RAMA CHANNEL โดย ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ว่าด้วยเรื่องของ อาหารเสริม

ปัจจุบันวิตามินและอาหารเสริม เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น สังเกตได้จากมีวิตามินเสริม อาหารเสริมออกมาจำหน่ายมากมายหลายยี่ห้อในท้องตลาด แล้วเราจำเป็นหรือไม่ที่ต้องกินอาหารเสริมเหล่านี้ หากกินไปเป็นระยะเวลานาน ๆ จะเกิดผลเสียหรือไม่ อย่างไร ทำไมผู้คนถึงหันมากินอาหารเสริมเป็นทางเลือกสำหรับการดูแลสุขภาพ วันนี้เรามาไขข้อสงสัยกัน

ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า

อาหารเสริมชื่อก็บ่งบอกตัวมันเองอยู่แล้วว่าเป็น การเสริม เพราะฉะนั้นเราจะใช้ในกรณีที่บางคนได้รับสารอาหารไม่พอเพียงหรือว่าขาดไป ในความเป็นจริงหากเราได้รับมาจากอาหารประจำวันอย่างเพียงพอ เราก็ไม่จำเป็นต้องได้รับจากอาหารเสริมอีก

วิตามิน, วิตามินเอ อาหารเสริม

การได้รับสารอาหารในร่างกาย

วิตามินและเกลือแร่ ส่วนใหญ่เราจะได้จากผักและผลไม้ ถ้าสมมุติวันหนึ่งเราได้รับผักหรือผลไม้ไม่ถึง 5 ส่วน 5 ส่วนในที่นี้คืออะไร ให้เรานึกถึงกำปั้นของเรา ผักและผลไม้รวมกัน 1 กำปั้น คือ 1 ส่วน ฉะนั้นหากวันหนึ่งเราได้รับผักและผลไม้ไม่ถึง 5 ส่วน แสดงว่าเราได้รับวิตามินและเกลือแร่ไม่เพียงพอ และเราก็ต้องมาดูต่อว่าคนคนนั้นมีโรคประจำตัวหรือไม่ ถ้าเกิดมีโรคประจำตัว เช่น ลำไส้ดูดซึมบกพร่อง มีการผ่าตัดลำไส้ หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ ก็ตามที่ทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินหรือเกลือแร่ไม่เพียงพอ จึงจะควรจะทานอาหารเสริมเพิ่มเติมเข้าไป

จะทราบได้อย่างไรว่า ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ

การตรวจหาวิตามินและเกลือแร่ในร่างกายนั้น ทำได้โดยการเจาะเลือดตรวจหาระดับวิตามินในร่างกาย หากเราไม่สามารถตรวจเลือดได้ และเราไม่แน่ใจ เราอยากจะซื้ออาหารเสริม วิตามินมากินเอง แพทย์แนะนำว่า

  1. การกินวิตามินหรืออาหารเสริมเยอะๆ ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย มีอันตรายกับร่างกายเหมือนกัน เพราะมันสามารถไปตกค้างสะสมในร่างกายได้
  2. หากเราต้องการจะกินวิตามิน แนะนำว่าให้ตรวจหาระดับวิตามินในร่างกายเสียก่อน
  3. เลือกวิตามินกลุ่มที่ละลายน้ำจะปลอดภัยต่อร่างกายมากกว่า เพราะไม่มีการสะสมตกค้างในร่างกาย ได้แก่ วิตามินบี และวิตามินซี
  4. หากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ เพราะวิตามินบางอย่างแพทย์ไม่แนะนำให้กิน เช่น คนไข้มีปัญหาโรคไต เราไม่แนะนำให้ซื้อวิตามินเสริมที่เป็นวิตามินเอ เพราะจะทำให้เกิดภาวะวิตามินคั่งในตับและเกิดผลเสียต่อร่างกายได้

คำแนะนำ

เพื่อสุขภาพที่ดี ไม่จำเป็นต้องการกินวิตามินเสริมในปริมาณที่สูง แต่เน้นรับประทานอาหารให้ครบชนิด ในปริมาณที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ก่อนตัดสินใจบริโภคควรจะเลือกดูว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านการรับรองเรียบร้อยแล้วหรือยัง และอย่าลืมรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อลดการสะสมในร่างกายด้วย

โรคต้องรู้ ก่อนกิน อาหารเสริม เพื่อความปลอดภัย

เราอยากจะบอกเล่าข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการกินอาหารเสริม โดยเฉพาะผู้ป่วย ที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เป็นข้อมูลจาก คอลัมน์รายงานพิเศษเรื่อง “โรคกำเริบ เพราะอาหารเสริม”

  1. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องระวัง การกินน้ำมันปลา
  2. ผู้ป่วยโรคตับ ต้องระวัง การกินอาหารเสริมประเภทไขมัน เช่น วิตามินอี อีฟนิ่งพริมโรส
  3. ผู้โรคความดันโลหิตสูง ต้องระวัง การกินอาหารเสิรมประเภทโสม
  4. ผู้ป่วยโรคหัวใจ ต้องระวัง การกินอาหารเสริมแบบชงละลายน้ำ และอาหารโซเดียมสูง
  5. ผู้ป่วยโรคไต ต้องระวัง การกินอาหารเสริมจำพวกโปรตีน
  6. ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ ต้องระวัง การกินอาหารเสริมไอโอดีน

วิธีกิน อาหารเสริม ให้ปลอดภัย ทำได้โดย

  1. ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว
  2. ก่อนซื้ออาหารเสริม ต้องอ่านฉลากและดูส่วนประกอบ
  3. เลือกที่องค์การอาหารและยา หรือหน่วยงานระดับมาตรฐานสากลรับรอง
  4. ลองเริ่มกินด้วยปริมาณน้อยๆ ดูก่อน
  5. ตรวจเลือดและดูค่าการทำงานของตับไตทุกปี

กินอาหารเสริมแบบชีวจิต

ให้ย้อนกลับไปหาคำแนะนำของกูรูต้นตำรับชีวจิต อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง เลยค่ะ คือ กินวิตามินและอาหารเสริมที่ร่างกายต้องการจริง ๆ โดยสังเกตจากอาการผิดปกติของตนเอง เช่น หากเลือดออกตามไรฟัน แปลว่าขาดวิตามินซี หากไม่ค่อยอยากอาหารกิน แปลว่าได้วิตามินและเกลือแร่ไม่พอ ซึ่งอาจต้องกินผักผลไม้ให้เยอะและหลากหลายขึ้น หากคิดคำพูดไม่ออก มักติดที่ปลายลิ้น แปลว่าขาดวิตามินบี 1, 2, 6 และ 12

จะหยุดเมื่อไร เมื่อเริ่มกินวิตามินและอาหารเสริม ก็ให้กินสัปดาห์ละ 5 วัน (วันไหนก็ได้) โดยหยุด 2 วัน (วันไหนก็ได้) และเมื่อกินติดต่อกันไปสัก 2 เดือน ก็ให้หยุด จนกว่ามีอาการอีกครั้ง

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการได้รับวิตามิน เกลือแร่ และอาหารเสริมเกินความต้องการของร่างกาย


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

อาหารที่ผู้สูงอายุควรกินเพื่อช่วยชะลอความเสื่อมตามวัย

เจาะลึกการดูแลผิว บำรุงข้อ ด้วยการ ใช้คอลลาเจน

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

50+ ร่างกายเปลี่ยนไป แค่ไหนกัน

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.