เจ็บแน่นหน้าอก สัญญาณกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

เจ็บแน่นหน้าอก สัญญาณกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

“เจ็บแน่นหน้าอก” ใครที่มีอาการนี้อยู่บ่อยๆ อย่าชะล่าใจไปนะคะ ต้องระวังให้มากเพราะอาจเป็นที่มาของสัญญาณกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันก็เป็นได้ ซึ่งโรคนี้เกิดขึ้นโดยไม่เลือกเพศ ไม่เลือกอายุ นั่นเท่ากับว่า แม้จะออกกำลังกายบ่อย อายุน้อย ก็มีโอกาสเป็นได้ วันนี้แอดจะพาไปรู้จักกับโรคนี้กันค่ะ

อาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกแบบเฉียบพลันเป็นระยะเวลานานกว่า 20-30 นาที อาจเป็นสาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) 1 ใน 3 สาเหตุการตายมากที่สุดของคนไทย เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้หัวใจเกิดความเสียหาย ซึ่งไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาสมบูรณ์ได้ดั่งเดิม จึงต้องรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดหากมีอาการ เพื่อรับการรักษาได้ทันท่วงที เนื่องจากภาวะนี้มีโอกาสไม่น้อยที่ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล

อาการเจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะต่าง ๆ ที่ร่างกายของเรากำลังเผชิญ จากความอันตรายทั้งหมดนั้นภาวะที่รุนแรงที่สุดที่อาจเกิดขึ้น คือ “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” หนึ่งในภาวะที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดใกล้เคียงกับการเกิดอุบัติเหตุ และโรคมะเร็งเลยก็ว่าได้ ภาวะอันตรายที่เรากำลังกล่าวถึงนี้มีอาการที่แสดงออกมา ดังนี้

  • มีอาการใจสั่น
  • เจ็บหน้าอกอย่างกะทันหัน และเป็นระยะเวลานาน
  • มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออก
  • เจ็บหน้าอก และรู้สึกปวดร้าวไปถึงบริเวณหัวไหล่
  • เจ็บหน้าอกหากทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก

นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ หัวใจเต้นแรง มีอาการคลื่นไส้อยากอาเจียน และเหงื่อออกผิดปกติ หากพบว่ามีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้นเกินกว่า 20 – 30 นาที ถือว่าอันตราย ควรรีบเข้าพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เนื่องจากเป็นสัญญาณของความเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และมีโอกาสเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเกิดจากอะไร

ภาวะอันตรายนี้มาจากการตีบ หรือตันของหลอดเลือดหัวใจ เมื่อเป็นเช่นนี้หลอดเลือดจะไม่สามารถไหลเวียนเข้าสู่หัวใจได้ ในช่วงแรกหัวใจจะเริ่มเสียหาย และเริ่มตาย ยิ่งเวลาผ่านไปจะยิ่งเกิดความเสียหายมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าความเสียหายที่เกิดกับหัวใจไม่สามารถฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ให้สมบูรณ์เต็มประสิทธิภาพเหมือนเดิมได้ ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ด้วยการพาผู้ป่วยเข้าพบแพทย์เพื่อเปิดทางไหลเวียนของหลอดเลือดให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด

แล้วสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจตีบคืออะไร คำตอบคือการสะสมของไขมันภายในหลอดเลือด เมื่อเวลาผ่านไปการสะสมที่มากขึ้นจะเริ่มส่งผลต่อการไหลเวียนของหลอดเลือดในที่สุด ในระยะนี้อาจเกิดการปริ หรือแตกได้ หากเกิดภาวะที่ส่งผลร้ายต่อหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นอีก อาจเกิดผลกระทบถึงขั้นเป็น “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” ได้ในที่สุด

ทำไมอัตราการเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันถึงสูง

“เดิม ๆ” เป็นนิยามของสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคร้ายหลายโรคซึ่งคำว่า “เดิมๆ ” นี้เองมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ และความเข้าใจผิดแบบเดิม ๆ ภายใต้คำว่า “ไม่ได้เป็นอะไร” และคำนี้แหละที่เป็นบ่อเกิดของการเสียชีวิตจากภาวะดังกล่าวภายใต้คำว่า “เพราะ” ซึ่งมีอยู่ 4 ข้อ ได้แก่

  1. เพราะความเข้าใจผิด เช่น เกิดการเจ็บหน้าอก แต่อาจสงสัยว่าตนเองเป็นโรคกรดไหลย้อน หรือโรคกระดูกซี่โครงอักเสบ เราอาจไม่ได้คิดว่าเป็นอาการของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แต่ถ้าหากอาการเจ็บหน้าอกดังกล่าวเป็นสัญญาณของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันขึ้นมาล่ะ จะเป็นเช่นไร
  2. เพราะคำว่า “ไม่เป็นไร” จริง ๆ โรคที่ทำหน้าที่คร่าชีวิตผู้คนนั้นอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะ หรือโรคเล็กน้อยที่เราไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้หากเราเป็นโรคเบาหวาน มีความดันโลหิตสูง และมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ใครจะคิดล่ะว่าโรคเหล่านี้จะเป็นสาเหตุของโรคร้ายที่รุนแรงในทางอ้อม
  3. เพราะใคร ๆ เขาก็ทำกัน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ออกกำลังกาย หลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะคนรอบตัวก็ทำกัน โดยการเลือกที่จะทำตามคนรอบตัวนั้นไม่ใช่เรื่องผิด และเป็นสิทธิของเรา แต่แน่นอนว่าเราเองก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคร้ายโดยมาจากพฤติกรรมของเราเอง
  4. เพราะมันรวดเร็ว ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แค่ชื่อก็ทำให้เรารู้แล้วว่าเฉียบพลัน ภาวะนี้ใช้เวลาไม่มากในการทำลายหัวใจ และแน่นอนว่าคนไข้หลายรายเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ หรือก่อนมาถึงโรงพยาบาล ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิด “เพราะมันรวดเร็ว” ก็มาจาก 3 เพราะที่กล่าวมาก่อนหน้านี้นั่นเอง

 ป้องกันตนเองจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอย่างไร

วิธีการป้องกันภาวะนี้อาจจะฟังดูน่าเบื่อ เพราะเราคงได้ยินมาจากหลาย ๆ โรคแล้ว แต่เราเองคงต้องยอมรับว่าวิธีเหล่านี้อาจได้ยินมาบ่อยมากเกินไปก็จริง แต่เราสามารถทำตามได้ครบหรือเปล่าคงต้องถามตนเอง วิธีที่ว่านี้ ได้แก่

งดแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่, หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ, พยายามควบคุมความเครียด, ระวังเรื่องน้ำหนัก เพราะมีผลต่อไขมันในเลือด และหมั่นตรวจสุขภาพเพื่อหาภาวะผิดปกติในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม อันตรายที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นสามารถป้องกันได้ง่าย ๆ ภายใต้นิยามของคำว่า “ดูแลตนเอง” ควบคู่ไปกับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพราะการตรวจสุขภาพเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เราได้ร่วงรู้การมีอยู่ของโรคร้าย เช่น โรคทางหัวใจ เพื่อให้ได้รู้ตัว และรักษาได้ทันท่วงทีก่อนเกิดอาการรุนแรง

การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

สำหรับการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนั้น มีด้วยกัน 3 วิธี คือ

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
การรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดด้วยขดลวด

  1. การขยายด้วยบอลลูน และ/หรือการขยายด้วยขดลวด มีทั้งขดลวดแบบเคลือบยา ไม่เคลือบยา และขดลวดแบบละลายได้ พิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
  2. การรักษาด้วยการผ่าตัดทำทางเยงหลอดเลือดหัวใจ เป็การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลเวียนข้ามบริเวณที่มีการตีบตันไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ ทำในกรณีใส่ขดลวดไม่ได้ หรือตรวจพบภาวะแทรกช้อนอย่างอื่นร่วมด้วย
  3. การรักด้วยยา

ข้อควรปฏิบัติของผู้ที่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

  1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 30 นาที โดยควรเลือกเป็นการออกกำลังกายที่ไม่รุนแรง เช่น การเดิน โดยเริ่มเดินช้าๆ ก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มระยะทางมากขึ้น
  2. หากมีอาการเจ็บหน้าอก ให้หยุดกิจกรรมทันที และอมยาใต้ลิ้น หากไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์
  3. ทำจิตใจให้สงบ หาเวลาพักผ่อนและลดความเครียด หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตื่นเต้น เช่น การดูเกมกีฬา การแข่งขันที่เร้าใจ
  4. สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ หากมีอาการใจสั่น หายใจขัด หรือเจ็บหน้าอกนานเกิน 15 นาทีหลังมีเพศสัมพันธ์ควรปรึกษาแพทย์
  5. หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระแรงๆ
  6. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีรสเค็มและหวาน
  7. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำชา กาแฟ และหลีกเลี่ยงการสูบบุรี่

ข้อมูลจาก

  • โรงพยาบาลเพชรเวท
  • โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

ป้องกันโรคหัวใจ ทำได้ง่ายๆ ด้วยการออกกำลังกาย

ประโยชน์ของพริก เป็นยาอายุวัฒนะ ยืดอายุ ลดความเสี่ยงหัวใจ และโรคมะเร็ง 

10 แหล่งโอเมก้า-3 บำรุงสมอง หัวใจ ป้องกันซึมเศร้า

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.