ปวดท้องประจำเดือน

ปวดท้องประจำเดือน อย่าละเลย! อาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิด

ปวดท้องประจำเดือน ถ้าเป็นแล้ว อย่าละเลย

ปวดท้องประจำเดือน เป็นอาการที่พบได้บ่อยในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยแต่ละช่วงอายุก็พบมากน้อยต่างกันไป ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ ต่างเคยมีอาการปวดประจำเดือน และมักคิดว่าอาการปวดประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติ โดยเฉพาะหากมีอาการปวดเพียงเล็กน้อย และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม อาการปวดประจำเดือนเล็กน้อยแต่ปวดมาเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของโรคร้ายได้เช่นเดียวกับ อาการปวดประจำเดือนที่รุนแรงจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

อาการ ปวดท้อประจำเดือน คืออะไร

ผู้หญิงจำนวนมากมีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 1-2 วัน และระหว่างมีประจำเดือนในช่วงวันแรก ๆ อาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) มีตั้งแต่อาการปวดหน่วง หรือปวดเกร็งเล็กน้อย ไปจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรงบริเวณท้องน้อย และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลังด้านล่าง คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออก ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด เวียนศีรษะ และปวดศีรษะ เป็นต้น

ปวดท้องประจำเดือน
อาการปวดท้องประจำเดือน มันเกิดขึ้นใน 1-2 วันก่อนมีประจำเดือน หรือในวัน 1- 2 ของการมีประจำเดือน หากมีอาการปวดที่นอกเหนือจากวันเหล่านี้ หรือมีอาการปวดที่รุนแรงหนักๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจความผิดปกติ

สาเหตุของการ ปวดท้องประจำเดือน

โดยเฉลี่ยทุกๆ 28 วัน หากไข่ไม่มีอสุจิมาผสม เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน ชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งก่อตัวขึ้นที่เยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างมีประจำเดือน โพรสตาแกลนดินทำให้กล้ามเนื้อบีบตัว และหดเกร็งคล้ายกับอาการเจ็บปวดขณะคลอดบุตร นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หากร่างกายหลั่งสารนี้ในปริมาณมาก จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการบีบรัด ทำให้รู้สึกปวดประจำเดือนยิ่งขึ้น

ประเภทของอาการ ปวดท้องประจำเดือน

อาการปวดประจำเดือนแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน

ปวดประจำเดือนประเภทปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea)

เป็นอาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุมักเกิดจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกผลิตสารโพรสตาแกลนดินมากเกินไป

ปวดประจำเดือนประเภททุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea)

เกิดจากภาวะผิดปกติของมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ

  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก ซึ่งเมื่อเจริญผิดที่ แต่ยังทำหน้าที่สร้างประจำเดือนเหมือนเดิม ทำให้อาจมีเลือดประจำเดือนในอุ้งเชิงกราน บริเวณที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเกาะในแต่ละรอบเดือน จะเกิดอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง และอาจเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก
  • เยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis)  ผู้ป่วยจะมีอาการปวดประจำเดือนอย่างมาก และ หรือ มีเลือดประจำเดือนมากและยาวนานกว่าปกติ
  • เนื้องอกมดลูก (uterine fibroids)  มักไม่ใช่เนื้อร้าย ขนาดมีตั้งแต่เล็กมากไปจนถึงขนาดใหญ่ หากมีขนาดใหญ่ มักทำให้มีเลือดประจำเดือนออกมามาก หรือประจำเดือนกระปริบกระปรอยนานเป็นสัปดาห์ พร้อมกับอาการปวดประจำเดือนหรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease) เป็นการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง ส่วนใหญ่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากไม่รักษาให้หายขาด ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน  และอาจเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก
  • ภาวะปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis) เกิดจากปากมดลูกแคบเกินไป ทำให้เลือดประจำเดือนไหลได้ช้าแต่หากรูปิดสนิท จะทำให้ของเหลวคั่งค้างภายในโพรงมดลูก ทำให้เกิดอาการปวดท้องมากและเรื้อรัง

 การป้องกันและบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

หากมีอาการปวดประจำเดือน ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตัวเองได้โดย

  • ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบท้องน้อยและหลัง
  • อาบน้ำอุ่น
  • ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น โยคะ หรือนั่งสมาธิ
  • รับประทานยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) ควรรับประทานเมื่อเริ่มมีอาการปวดหรือก่อนมีอาการปวด การรับประทานยาแก้ปวดอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้นควรใช้เมื่อมีอาการปวดอย่างรุนแรงเท่านั้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานผักและผลไม้
  • ลดปริมาณอาหารที่มีไขมัน เกลือ เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขนมหวาน

 เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

สำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่อาการปวดประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคภัยที่ร้ายแรงกว่าอาการปวดประจำเดือนทั่วไป

-รับประทานยาแล้วแต่ยังไม่หายปวด

-อาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้น

-มีอายุมากกว่า 25 ปีและรู้สึกปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรก

-มีไข้พร้อมปวดประจำเดือน

-เลือดประจำเดือนไหลออกมามากว่าปกติ โดยต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง

-รู้สึกปวดท้องน้อยถึงแม้ไม่มีประจำเดือนก็ตาม

-มีอาการติดเชื้อ เช่น ตกขาวมีกลิ่น อาการคันบริเวณปากช่องคลอด เลือดประจำเดือนมีสีแปลกไปจากปกติ

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ปวดประจำเดือน

อาการปวดประจำเดือนเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและเกิดขึ้นได้ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ทุกคน อาการมากบ้างน้อยบ้าง แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือเรื้อรังอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเฉพาะ ดังนั้น สตรีที่มีอาการผิดปกติ ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางเพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

บทความอื่นที่น่าสนใจ

4 เทคนิค ลดปวดประจำเดือน ด้วยตัวเองง่าย ๆ ที่บ้าน

ตรวจภายใน 101 มือใหม่ ตรวจครั้งแรก ต้องเตรียมตัวอย่างไร

วิธีรับมือซึมเศร้า หลัง ตัดมดลูก สำหรับคุณผู้หญิง

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

займ на электронный кошелек без проверок и звонков

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.