สวนอุ้มฉันท์ เกษตรอินทรีย์

สวนอุ้มฉันท์ จากหนุ่มวิศวะสู่เกษตรกรหน้าใหม่ ท้าท้ายและได้แก้โรค

สวนอุ้มฉันท์ จากหนุ่มวิศวะสู่เกษตรกรหน้าใหม่ ท้าท้ายและได้แก้โรค

แวะมาเยี่ยมวิศวกรหนุ่มสุดไฮเปอร์ที่กลับบ้านในจังหวัดขอนแก่นมาปลูกผักและทำนา

ตกลงว่า…การอยู่ในสวนในไร่แบบนี้ จะได้ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ จริงรึเปล่านะ

 

ปีนี้ เป็นปีที่สภาพอากาศเลวร้ายลงอย่างเห็นได้ชัดเจน เฉพาะในจังหวัดขอนแก่น ทางการประกาศว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือไม่ถึง 3% ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 โดยขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดการใช้น้ำอุปโภคบริโภค

ท่ามกลางอากาศร้อนจัด อุณหภูมิในวันนั้น คือ เกือบๆ 38 องศาเซลเซียส แต่พอเดินเข้ามาในอาณาเขตของ สวนอุ้มฉันท์ สวนเกษตรอินทรีย์หลังบ้านของ คุณอุ้ม พรชัย พันธะ อายุ 36 ปี เราก็สัมผัสได้ถึงความร่มครึ้มร่มเย็นของต้นไม้ที่อยู่รอบๆ ซึ่งทำหน้าที่ต้อนรับผู้มาเยือนให้ได้พักผ่อนคลายร้อนลงทีละน้อยๆ

 

WATER OF LIFE

ความลับในสวน ‘อุ้มฉันท์’

ความเขียวชอุ่มของสวน สดชื่นสบายตาสบายใจ ทั้งๆ ที่อยู่ท่ามกลางสภาพอากาศเช่นนี้ได้ แสดงว่า เจ้าของสวนต้องใส่ใจและมีการบริหารจัดการที่ดี ด้วยความสงสัยใคร่รู้ เราจึงอดไม่ได้ที่จะเปรยๆ ถึงข่าวเรื่องปัญหาภัยแล้งหนักต่อเนื่องและฝนจะขาดช่วงไปจนถึงกลางปี

คุณอุ้ม ก็ยิ้มๆ แล้วพาไปเดินรอบๆ สวนจนถึงแนวต้นไผ่ซึ่งปลูกไว้เป็นแนวกันชนแล้วอธิบายว่า พื้นที่ด้านหลังแนวต้นไผ่นั้นได้ขุดเป็นบ่อสำรองน้ำไว้แล้ว

“การเป็นเกษตรกร ทำให้ต้องปรับตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะกับสภาพอากาศ อาชีพอื่นๆ อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนไม่มากนัก แต่พอมาเป็นเกษตรกรแล้วผมรู้ซึ้งเลย ไม่มีน้ำนี่เรื่องใหญ่มากครับ มีต้องมีแผนสำรองไว้ก่อน”

แม้ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา สภาวะอากาศจะแปรปรวน เดี๋ยวร้อนแล้ง เดี๋ยวน้ำท่วม แต่คุณอุ้ม ในฐานะเกษตรกรมือใหม่ ก็ดูจะรับมือได้สบายๆ หลังจากที่ไปดูบ่อสำรองน้ำ คอกเป็ดคอกไก่ แปลงผักสลัด ข้าวโพด และผักสวนครัวอื่นๆ แล้ว เราก็มานั่งคุยกันต่อที่ม้านั่งใต้ต้นลำไย ลมพัดมาเบาๆ ได้ยินเสียงนกเขาแว่วมาเป็นระยะ

“ปีนี้ ทุกคนกังวลเรื่องภัยแล้ง ฝนขาดช่วง แต่ตอนนี้ผมสบายใจแล้วเพราะในสวนขุดสระเก็บน้ำไว้ 1 ไร่กว่าๆ ลึก 8 เมตร ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครทำนะครับ (หัวเราะ) ส่วนเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ผมไม่ใช้น้ำในคลองชลประทานเพราะก่อนที่น้ำจะไหลมาถึงที่นี่ก็ผ่านโรงงานอุตสาหกรรมด้านบน ผมสังเกตเห็นเลยว่าน้ำเป็นสีดำ โอ้โห…ไม่ไหวล่ะ

“พอรู้แบบนั้น ตอนกลับมาทำสวนก็ต้องมาเจาะบ่อบาดาลใช้เอง กว่าจะได้น้ำบ่อปัจจุบันต้องเจาะไป 9 ครั้ง ล่าสุด เราได้น้ำมาก็แค่พอใช้ครับ อัตราการไหลก็ช้าแค่ 300 ลิตรต่อชั่วโมง แต่ก็พอไหวครับ ใช้แบบประหยัดๆ หน่อย”

คุณอุ้ม ย้ำว่า ปัญหาเรื่องน้ำสำหรับคนทำเกษตรอินทรีย์ คือ น้ำผิวดินปนเปื้อนเยอะ จะเอามาใช้ไม่ได้ ถ้าไม่ขุดบ่อน้ำเก็บไว้ใช้เองก็จะเพาะปลูกอะไรไม่ได้เลย

“เรื่องนี้ผมเข้าใจ เพราะหลายคนโดยเฉพาะผู้ใหญ่หรือเกษตรกรรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา เขาจะเสียดายที่ดิน แต่ผมขอยืนยันว่า ในสภาพอากาศที่เราไม่อาจคาดเดาได้แบบนี้ จะหวังพึ่งน้ำฝนไม่ได้ ดังนั้น ต้องแบ่งพื้นที่มาขุดบ่อเก็บน้ำครับ ไม่ต้องทำบ่อขนาดใหญ่ก็ได้แต่ขอให้ขุดลึกๆ ถ้าขุดพื้นที่กว้างน้ำก็ระเหยมาก”

สวนอุ้มฉันท์ เกษตรอินทรีย์

FROM ENGINEER TO FARMER

จากวิศวกรโรงงานสู่ชีวิตชาวนาชาวสวน

ในวัยหนุ่มเช่นนี้ มีน้อยคนนักจะกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ส่วนใหญ่พวกเขาจะยังโลดแล่นในเมืองหลวงใช้ชีวิตและทำงานตามประสาคนหนุ่มสาว เรานึกสงสัยว่า เหตุใดคนหนุ่มอย่างคุณอุ้มจึงไม่เลือกเส้นทางแบบนั้น เจ้าของสวนเกษตรอินทรีย์จึงเริ่มเล่าถึงที่มาของการกลับบ้านเกิดครั้งนี้ให้ฟัง

“ก่อนหน้านี้ ผมเป็นวิศวกรโรงงาน งานดีเงินดีมากครับ (หัวเราะ) เป็นคนไฮเปอร์บ้างานสุดๆ เลิกงานดึกๆ ดื่นๆ บางทีก็ทำงานข้ามวัน เลิกตี 2 ตี 3 กว่าจะได้กลับบ้าน แต่ไม่ใช่นอนยาวนะครับ เช้ามาก็ตื่นมาทำงานใหม่ เป็นแบบนี้เรื่อยๆ ภรรยาผมเขาจะรู้ทันที ถ้าสัปดาห์นี้ทำงานหนัก สัปดาห์หน้าผมจะป่วยต้องนอนโรงพยาบาล

“ช่วงที่ปิดโรงงานในวันหยุดยาว เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เป็นช่วงที่ต้องมีวิศวกรประจำเพื่อตรวจซ่อมบำรุงเครื่อง ผมจะเป็นคนอยู่เฝ้าโรงงาน ด้วยตารางชีวิตแบบนั้น ทำให้ผมไม่ได้กลับไปบ้านเกิดในช่วงวันหยุดตามประเพณี พอเข้าปีที่ 7 ที่ 8 ของการทำงานผมก็เริ่มคิดว่า เราควรจะได้กลับไปใช้ชีวิตจริงๆ เสียที ช่วงนั้นตัวผมเองก็ป่วย มีอาการปอดอักเสบเป็นๆ หายๆ แล้วก็เป็นภูมิแพ้ จามอยู่เรื่อย น้ำมูกไหลอยู่ตลอดเวลา พอสุขภาพแย่ก็ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยๆ วนๆ ไป

“มีช่วงหนึ่ง ที่โรงงานมีโปรเจคก่อสร้างติดๆ กัน ผมก็ต้องทำงานเลิกดึกๆ ดื่นๆ 4-5 ทุ่ม บางทีก็ตี 2 ตี 3 ร่างกายก็สะสมความเครียดความเหนื่อยล้า จากนั้นผมก็ไปแจ้งหัวหน้างานเป็นระยะๆ ว่าจะลาออกไปทำเกษตรที่บ้าน ซื้อที่เตรียมไว้แล้ว ลงมะนาวในท่อซีเมนต์แล้ว ในที่สุดก็ลาออกจากโรงงานปลายปีพ.ศ.2559”

คุณอุ้ม เล่าต่อว่า ก่อนลาออก 3 ปีได้เตรียมซื้อที่ไว้อีกแปลงเพื่อทำนา จากนั้นก็เริ่มลงมะนาวโดยปลูกในท่อซีเมนต์ ใช้พื้นที่ในบริเวณสวนหลังบ้าน

“ที่ตรงนี้ที่เรานั่งคุยกันอยู่เป็นบ้านเกิดผมเอง เดิมทีเดียวพ่อผมเลี้ยงไก่แบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ใช้ที่หลังบ้านทำโรงเรือน ก่อนผมไปโรงเรียนจะมีหน้าที่ทำความสะอาดที่ให้น้ำไก่ พ่อบอกว่าทำไปก็มีหนี้สะสม พอถึงตอนผมเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 พ่อโทร.ไปบอกว่าพ่อเลิกทำฟาร์มไก่แล้วนะ

“ปีนั้นเป็นปีที่ไข้หวัดนกระบาด ทางบริษัทให้พ่อปรับปรุงโรงเรือนใหม่ทำเป็นระบบปิดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เดิมก็มีหนี้สะสมอยู่แล้วก้อนหนึ่ง ถ้าต้องปรับปรุงโรงเรือนอีกก็ต้องใช้เงินมหาศาล พ่อก็เลยบอกว่าพอแล้ว นั่นเป็นสิ่งที่ผมจำได้ดี ดังนั้น ตอนที่ลาออกจากการเป็นวิศวกรโรงงานจะกลับบ้านไปทำเกษตร เราก็ไม่คิดจะไปทำเกษตรแบบใช้ปุ๋ยใช้สารเคมี เพราะรู้ว่าชีวิตต้องเข้าสู่วงจรแบบนั้นอีก”

 

อ่านต่อหน้าถัดไป แนะวิธีเริ่มต้นปลูก

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.