สวนอุ้มฉันท์ เกษตรอินทรีย์

สวนอุ้มฉันท์ จากหนุ่มวิศวะสู่เกษตรกรหน้าใหม่ ท้าท้ายและได้แก้โรค

PRACTICE MAKES PERFECT

ปรับตัว ปรับใจ เลือกพืชเพาะปลูกให้เหมาะกับพื้นที่

หากดูที่ผลผลิต การกลับมาทำเกษตรอินทรีย์ในระยะเวลาสั้นๆ ที่สวนอุ้มฉันท์แห่งนี้นับว่า ได้ผลน่าพอใจ แต่กว่าจะได้แบบนี้ คุณอุ้ม ก็อธิบายว่าต้องเรียนรู้และปรับตัวมากเหมือนกัน

“ต้นไม้เดิมในสวนแห่งนี้มีมะพร้าว ลำไย ที่เหลือเป็นพื้นที่โล่ง เริ่มปลูกแรกๆ คือต้นไผ่ ต่อมาก็เป็นมะนาวในท่อซีเมนต์ ปลูกข้าวโพดกับถั่วเหลืองหมุนเวียนครับ

“ตอนที่กลับมาเห็นพ่อทำเกษตร ผมก็คิดว่าไม่ได้อยากทำแบบนี้ แต่อยากทำนาในที่ๆ ซื้อไว้แล้ว ห่างจากที่บ้านตรงนี้ไป 3 กิโลเมตร ทำนาก็เหมือนชาวนาทั่วไปคือนาน้ำฝน ไม่ใช่นาที่ลุ่ม ทำนาเสร็จก็มาทำสวน เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ไข่

“ผมไม่ได้ทำเยอะ เริ่มทดลองเลี้ยง 40 ตัว ไข่คุณภาพดี เปลือกไข่สีขาวๆ ไม่ใช่สีน้ำตาลอ่อนๆ แบบไข่ไก่อุตสาหกรรม ไข่ขาวมี 2 ชั้น มีแบบเหลวกับข้น ส่วนไข่แดงเป็นสีเหลืองอ่อนๆ ไม่ใช่สีออกส้มๆ แบบไข่ไก่ฟาร์ม ขายดีมากครับ รสชาติดีไม่เหมือนไข่ทั่วไป คนที่กินอาหารออร์แกนิกจะรู้ความแตกต่าง เอาไปขายทีไรก็หมดทุกที (ยิ้ม)”

คุณอุ้ม เล่าว่า การทำเกษตรอินทรีย์ช่วยสอนให้อดีตวิศวกรอย่างเขาได้งัดเอาธรรมชาติของวิศวกรมาใช้อีกครั้ง ทั้งทักษะการแก้ไขปัญหา ทดลองด้วยวิธีใหม่ๆ และเอาผลลัพธ์ที่ได้มาปรับปรุงการทำเกษตรด้วยตนเองไปเรื่อยๆ

“จริงๆ ผมชอบงานวิศวกรรมนะ ชอบการทำงานที่มีแผน มีคำตอบชัดเจน ตอนที่ทำงานก็ทำเต็มที่ทำจนสุดทางเลย ส่วนอาชีพเกษตร ผมก็ไม่แน่ใจนะว่าจะเป็นอาชีพสุดท้ายรึเปล่า รู้แต่ว่าตอนนี้ยังสนุกเพราะเราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เรื่อย สิ่งที่ทำให้มีความสุขเวลาที่อยู่ในสวนก็คือ ตอนที่ได้เรียนได้แก้ไขปัญหา ได้ลงมือทำอะไรใหม่ๆ ทำแล้วมันรู้สึกสนุก มีชีวิตชีวา ตอนนี้กำลังสนุกกับการทำเกษตรอินทรีย์ที่สอนให้เรายอมรับปัญหา เรียนรู้ และปรับตัวอยู่เสมอ

“ชีวิตเกษตรกร ผมไม่มีเคล็ดลับอะไรเลย นอกจากให้ลงมือทำ ทำไปปรับไปครับ สังเกตว่าเราปลูกอะไรได้ดี ทำสะสมไปเรื่อยๆ อดทนและศึกษาความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อย่างเรื่องอากาศ ปีนี้แล้งเราต้องปรับตัวอย่างไร ในช่วงแล้งจัดแบบนี้ ทำแบบเดิมไม่ได้ต้องปรับครับ ถ้าแล้งมากผมจะปลูก ข้าวโพด ถั่ว แตง บวบ หรือผักที่เป็นเครือชนิดไหนๆ ก็ได้หมด ตอนนี้พยายามเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองด้วย

“ค่อยๆ ปลูกทีละอย่าง แบบนี้เราทำได้ดี เออ…เก็บเป็นประสบการณ์ค่อยๆ เอาไปขยายต่อ เริ่มจากทำน้อยๆ ก่อน ไม่ต้องทำเยอะมาก ทำใหม่ๆ ต้องล้มเหลว อันนี้เรื่องธรรมดาครับ อย่าเพิ่งท้อ อาจจะต้องทำไปเรื่อยๆ 3 4 5 6 หรือ 10 ครั้งกว่าจะสำเร็จ อย่าทำวิธีเดิม ลองปรับไปเรื่อยๆ ครับ ทดลองไปครับ”

สวนอุ้มฉันท์ เกษตรอินทรีย์

2 EXAMPLES

บทเรียนจากแปลงนาและผักสลัด

เพื่อจะได้ให้เห็นภาพ คุณอุ้ม จึงยกตัวอย่างความรู้ที่ได้จากการลงมือทำเกษตรที่ผ่านมา

“เอาเรื่อง ข้าว ก่อนแล้วกัน ผมชอบทำนาดำเพราะได้ผลผลิตเยอะ ไม่ต้องควบคุมเรื่องหญ้า เชื่อไหมครับว่า ผมทำนา 4 เดือนได้ตัดหญ้าแค่ 3-4 ครั้งเอง ที่เหลือคือควบคุมเรื่องน้ำอย่างเดียว ปีแรก ลองทำนาหว่าน 3 วันก็เสร็จ แต่หลังจากนั้นต้องถอนหญ้า 1 เดือนกว่า โอย เข็ดเลย นั่งถอนหญ้ากับภรรยากับแม่ยาย  ปวดไปทั้งตัว (หัวเราะ)

“ปีต่อมาเลยทำนาดำครับ ดำนาก็ยาก ถอนกล้าก็ยาก ต้นกล้าขาดเสียหายไปเยอะ กว่าจะรู้จังหวะที่เหมาะสมเตรียมพื้นที่ก็ยากทั้งไถทั้งคราดให้พื้นที่เรียบเสมอกัน ตอนดำก็สนุกครับ ผมไปเจอวิธีหนึ่งใช้ข้าวต้นเดียว อายุต้นกล้า 15 วัน แตกกอจาก 1 ต้นเป็น 50 ต้น ผมมาตีตารางปลูกทีละต้นกับภรรยา 1 ไร่ ไม่ได้ผลครับเพราะนาเราเป็นนาน้ำฝนไม่ใช่นาลุ่ม ปีต่อมาก็เลยทำนาดำ ปลูกแบบชาวบ้านทั่วๆ ไป แรกๆ ยังได้ผลผลิตไม่มากนักซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำเกษตรอินทรีย์ แต่พอดินฟื้นตัวเริ่มมีอินทรียวัตถุมากขึ้นเพราะเราไม่ได้เผาตอซังข้าวแบบคนอื่น แต่ใช้วิธีหว่านเมล็ดปอเทืองให้โตจากนั้นก็ไถกลบแล้วทิ้งไว้อีก 1 เดือนให้ปอเทืองย่อยสลาย คราวนี้ ผลผลิตก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเอง

“อีกตัวอย่าง คือ ผักสลัด ตอนนี้เล่าได้แล้วเพราะรู้วิธีปลูกให้ผักหวานกรอบ ปีแรกนี่บอกเลยว่าแทบไม่ได้ขายเพราะผักต้นไม่โต ใบกระด้าง รสชาติพอกินได้ จืดๆ ไม่กรอบไม่หวาน สาเหตุเพราะช่วงแรกผมยังทำแปลงไม่เป็นปรุงดินไม่ดี ให้น้ำน้อย วันละ 1-2 ครั้ง ต่อมาถึงปรับไปให้น้ำแบบชุ่มๆ เลย วันละ 2-3 ครั้งเพราะพื้นที่เราเป็นดินทรายเลยต้องให้น้ำมาก แต่ถ้าเป็นดินชนิดอื่นต้องปรับลดปริมาณน้ำลง ต้องสังเกตการเจริญเติบโตของผักในแปลงแล้วค่อยๆ ปรับไป

“ผักสลัดนี่รดน้ำตอนแดดออกไม่มีปัญหาเลย แต่ถ้าเป็นผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักคะน้า นี่เรียบร้อยครับ ใบจะร่วง แปลงก็ปรับครับต้องยกขอบขึ้นให้น้ำที่รดลงไปนองในแปลง ไม่ไหลออก ตอนเตรียมแปลงต้องเอาหญ้าและเมล็ดหญ้าออกให้หมด ตอนปลูกเรื่องวัชพืชจะน้อยลงตามไปเอง ตอนที่ผักเริ่มโตต้องหมั่นถอนหญ้า อย่าปล่อยให้หญ้าออกดอกในแปลง แต่ถ้าหญ้าขึ้นขอบแปลงปล่อยไว้ได้ครับเพราะจะช่วยรักษาความชื้นในดิน เวลารดน้ำก็จะไม่แห้งเร็ว”

กว่าจะมาถึงวันนี้ สวนอุ้มฉันท์ก็ต้องผ่านการทดลอง เรียนรู้ และปรับเปลี่ยนมามากมาย ตัวคุณอุ้มเองก็รู้สึกสนุกไปด้วย เพราะยิ่งลงมือทำก็ยิ่งรู้และรู้สึกดีใจที่เลือกกลับมาใช้ชีวิตที่ได้อยู่ใกล้ชิดครอบครัวเช่นนี้

“แน่นอนว่า ทุกคนที่ตัดสินใจจะออกมาทำเกษตร ต้องออกมาเจอกับปัญหามากมาย ขอให้ทำใจให้สบายๆ นะครับ ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ปรับแก้กันไป คนในครอบครัวก็มีบ้าง เขาเป็นห่วง ไม่อยากเห็นเราลำบาก แต่ถ้าเรามีความมุ่งมั่น สุดท้าย ความสำเร็จก็จะมาถึงสักวัน

“ทำเกษตรอินทรีย์นี่แรกๆ ก็เหนื่อยครับเพราะเป็นงานคราฟท์งานแฮนเมดทั้งหมด แต่ใช้เวลาอยู่สักปีสองปีจะเริ่มรู้จังหวะแล้วว่า ควรไปทำอะไรช่วงไหน คราวนี้ก็จะเหนื่อยน้อยลง ผลผลิตจะค่อยๆ ดีขึ้น พอเราเห็นแล้วก็พอชื่นใจมีแรงทำต่อได้เรื่อยๆ ที่สำคัญมีภรรยาและครอบครัวมาช่วยกัน อะไรๆ ก็พร้อมสู้ครับ”

 

+++++++++++++++++++++++++++++++

 

ขอขอบคุณ

สวนอุ้มฉันท์ ออร์แกนิกฟาร์ม

บ้านเลขที่ 52 หมู่ 2 บ้านท่อน ตำบลโนนท่อน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ติดต่อ คุณพรชัย พันธะ โทร. 087-486-0874

เฟซบุ๊คเพจ https://web.facebook.com/OomChanFarm/

 

บทความน่าสนใจ

อ่างขาง สถานีเกษตรหลวงเพื่อปวงชน

บอกรักคุณแม่ ด้วย เมนูข้าวอินทรีย์ พิเศษพร้อมโปรโมชั่นรับฟรี ข้าวมาบุญครอง

รักษ์ทำ เครือข่ายเกษตรกรปลูกข้าว ผัก และผลไม้แบบออร์แกนิก

ชื่นใจวิถีชาวลุ่มน้ำเพชร ชิมผักสด และชมแปลงผักเกษตรอินทรีย์ ณ บ้านถ้ำเสือ จ.เพชรบุรี

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.