น้ำขิง

เครื่องเทศช่วยฉลาด หุ่นดี อ่อนเยาว์ อายุยืน

เครื่องเทศช่วยฉลาด หุ่นดี อ่อนเยาว์ อายุยืน      

หลายคนใช้ประโยชน์จากเครื่องเทศสําหรับแต่งสีแต่งกลิ่นและปรุงอาหาร ให้มีรสชาติกลมกล่อมแต่ทราบหรือไม่ว่าส่วนต่างๆ ของพืชทั้ง ราก ใบ เปลือก เมล็ด ดอก ผล ที่กลายมาเป็นเครื่องเทศล้วนมีสรรพคุณแสนพิเศษในการป้องกันและรักษาโรค

วันนี้ชีวจิตเราออกจะรสชาติจัดจ้านเผ็ดร้อนและหอมตลบอบอวลอยู่สักหน่อย เพราะตั้งใจยกขบวนเครื่องเทศที่ว่ากันว่ากินแล้วช่วยให้ฉลาด หุ่นดี อ่อนเยาว์ และอายุยืนมาบอกต่อ เพื่อให้คุณผู้อ่านกลายเป็นหนุ่มสาวสองพันปีกันทั่วหน้าค่ะ

ขมิ้นเหลืองป้องกันอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์คือโรคทางสมองที่มาพร้อมกับความเสื่อมถอยของร่างกาย ทําให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการสื่อสารการเรียนรู้การใช้ความคิดและความมีเหตุผล ปัญหาจะรุนแรงขึ้นจนผู้ป่วยไม่สามารถทํางานเข้าสังคมกระทั่งช่วยเหลือตนเองหรือทํากิจวัตรประจําวันแม้เพียงเล็กน้อย

ย้อนกลับไปในปี1906 นายแพทย์อโลอิสอัลไซเมอร์(AloisAlzheimer) ผู้ค้นพบโรคนี้ลงมือผ่าตัดสมองของผู้ป่วยที่เสียชีวิตเพื่อหาสาเหตุของอาการความจําเสื่อมและพฤติกรรมอันแปลกประหลาด ซึ่งเชื่อว่ามีผลมาจากความผิดปกติของสมองเมื่อตัดเนื้อสมองออกมาตรวจสอบพบว่าสมองมีกลุ่มของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ ปัจจุบันเรียกว่าแอมเมิลลอยด์ พลัค(Amyloid Plaques) มีลักษณะเป็นสารเหนียวจับตัวกันเป็นก้อนทั้งพบเส้นใยสมองพันกันยุ่งเหยิงและพบว่าเกิดการสูญเสียการเชื่อมโยงและการติดต่อกันระหว่างเซลล์ประสาทในสมองอีกด้วย

ขมิ้นชัน

แม้ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่กลับสืบรู้ความลับที่ช่วยป้องกันโรคโดยความลับนี้ได้รับการเปิดเผยเมื่อพวกเขาเดินทางไปยังประเทศอินเดีย ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพิตต์ส เบิร์ก(The University of Pittsburgh) ประเทศสหรัฐอเมริกาเก็บสถิติการเกิดโรคอัลไซเมอร์จาก กว่า 55 ประเทศทั่วโลก

ผลการสํารวจพบว่าประเทศอินเดียมีอัตราการเกิดโรคอัลไซเมอร์ต่ำที่สุด โดยต่ำกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 3 เท่า เหตุผลหนึ่งที่ทําให้ผู้สูงอายุอินเดียป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์น้อย The Journal of the American Botanical Council อธิบายว่าเพราะชาวอินเดียนิยมทําอาหารจากผงกะหรี่ซึ่งมีขมิ้นเป็นส่วนประกอบหลัก โดยมีหลายการศึกษายืนยันว่าขมิ้นมีสารแอนติออกซิแดนต์ช่วยต้านการอักเสบลดความเสี่ยงในการเกิดแอมเมิลลอยด์พลัคในสมองชะลอความเสื่อมของเซลล์ประสาทช่วยป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์

นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทํางานของสมองรวมถึงชะลอความเสื่อมของสมองและการดําเนินของโรคในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มีรายงานการใช้ขมิ้นรักษาและป้องกันโรคต่างๆ เช่น ริดสีดวงทวาร แผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งลําไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก หลอดเลือดแดงแข็ง ตับ ข้ออักเสบ อีกด้วย

 พริกแดงเผ็ดร้อน ลดอ้วน

เมื่อกล่าวถึงเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดต้องยกนิ้วให้พริกแดง การศึกษาหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตีพิมพ์ใน The British Journal Of Nutrition แสดงให้เห็นว่าความเผ็ดร้อนจากพริกแดงช่วยเพิ่มการทํางานของระบบเผาผลาญโดยเฉพาะหากกินร่วมกับอาหารที่มีไขมัน

แต่อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยเพอร์ดู (Purdue University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าพริกแดงช่วยควบคุมความอยากอาหารและเพิ่มระบบเผาผลาญหลังมื้ออาหารในผู้ที่ไม่ชอบกินอาหารรสเผ็ดมากกว่าผู้ที่ชอบกินอาหารรสเผ็ดเป็นประจํา การศึกษานี้แบ่งอาสาสมัครผู้มีน้ำหนักตัวเกินออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกชอบกินอาหารรสเผ็ดเป็นประจํานักวิจัยจึงให้โรยพริกแดงป่นลงในอาหารวันละ 1.8 กรัม

พริกสีแดง

ส่วนกลุ่มที่สอง ไม่ชอบกินอาหารรสเผ็ดนักวิจัยให้โรยพริกแดงป่นลงในอาหารวันละ 0.3 กรัม หลังสิ้นสุดการทดลองพบว่าพริกแดงป่นช่วยเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายและมีส่วนช่วยให้ระบบเผาผลาญทํางานดีขึ้น ช่วยให้ความอยากอาหารในมื้อถัดไปลดลงโดยได้ผลดีกับผู้ที่ไม่ชอบกินอาหารรสเผ็ด

นักวิจัยสรุปว่าพริกแดงมีผลเพิ่มระบบเผาผลาญอย่างเห็นได้ชัดในผู้ที่ไม่กินรสเผ็ดเป็นประจํา อาจเพราะผู้ที่กินรสเผ็ดเป็นประจํามีระบบเผาผลาญสูงอยู่แล้วทั้งเตือนว่าแม้พริกแดงจะช่วยเพิ่มระบบเผาผลาญแต่ก็ควรกินอาหารที่ให้พลังงานต่ำและมีประโยชน์ควบคู่ไปกับการออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยการลดน้ำหนักจึงจะประสบผลสําเร็จและไม่ควรกินพริกแดงมากเกินไป เพราะอาจทําให้ระบบทางเดินอาหารระคายเคืองโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน

อบเชยหอม ลดน้ำตาล  ไขมัน ความดัน

อบเชยเป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอมได้จากการลอกเปลือกไม้ของต้นอบเชยนิยมใช้แต่งกลิ่น ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าอบเชยมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลไขมันในเลือดและความดันโลหิตซึ่งเป็น 3 ตัวการสําคัญที่ทําให้เกิดโรคเรื้อรังอันตราย สมาคมโรคเบาหวานประเทศสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association) เปิดเผยการค้นพบสรรพคุณอันน่าทึ่งของผงอบเชยในวารสาร Diabetes Care  โดยนักวิจัยทดลองให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชายและหญิงซึ่งมีอายุเฉลี่ย52 ปี กินผงอบเชยโดยโรยลงในอาหารปริมาณแตกต่างกันคือวันละ 1 กรัม 3 กรัม และ 6 กรัม

อบเชย

ส่วนกลุ่มควบคุมคือกลุ่มที่ได้รับผงอบเชยปลอมหลังจากผู้ป่วยโรคเบาหวานกินอาหารใส่ผงอบเชยครบ 40 วัน นักวิจัยตรวจสอบผลเลือดและพบว่ากลุ่มที่เติมผงอบเชยลงในอาหารมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง 18–29 เปอร์เซ็นต์ ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลง 23–30 เปอร์เซ็นต์ ระดับไขมันแอลดีแอลคอเลสเตอรอลลดลง 7–27 เปอร์เซ็นต์ และระดับคอเลสเตอรอลรวมลดลง 12–26 เปอร์เซ็นต์

ส่วนกลุ่มที่ได้รับผงอบเชยปลอมมีระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดไม่เปลี่ยนแปลง อีกหนึ่งข้อมูลจากงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในJournalof Diabetes Science and Technology ทดลองในผู้ป่วยโรคอ้วนลงพุง 22 คนโดยให้ผู้ป่วยจํานวนครึ่งหนึ่งดื่มน้ำสกัดจากอบเชย (anaqueousextractofcinnamon) วันละ 500 มิลลิลิตรนาน 12 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำสกัดจากอบเชยมีระดับความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (systolicblood pressure) ระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือดลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ดื่มจึงสรุปว่าอบเชยมีประสิทธิภาพลดระดับน้ำตาลไขมันในเลือดและความดันโลหิต

ขิงต้านอักเสบ ต้านมะเร็งลําไส้ใหญ่

ขิงมีสารจินเจอรอล (Gingerol) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ทั้งยับยั้งการขยายขนาดและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งลําไส้ใหญ่ การศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร Osteoarthritis and Cartilage ระบุว่า การกินขิงสดสามารถช่วยลดการอักเสบและบรรเทาความเจ็บปวดจากโรคข้ออักเสบบริเวณหัวเข่าได้ ชายและหญิงที่มีอาการปวดหัวเข่าเรื้อรังอายุระหว่าง 42–85ปี ได้รับชุดอาหารที่มีขิงสดเป็นส่วนประกอบทุกวัน

หลัง 6 เดือน นักวิจัยพบว่าอาสาสมัครมีอาการเจ็บหัวเข่าลดลงและสามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น โดยมีเกณฑ์วัดระดับความเจ็บปวดสูงสุดที่ 100 คะแนนก่อนทดลอง อาสาสมัครให้คะแนนความเจ็บปวดมากถึง 76 คะแนน และหลังทดลองให้คะแนนลดลงเป็น 41 คะแนน

ขิงแก่

หลังจากนั้นนักวิจัยทดลองเปลี่ยนชุดอาหารให้อาสาสมัครอีกครั้งโดยเปลี่ยนกลับมาเป็นอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบของขิงและให้กินติดต่อกันนาน 6 เดือน ผลปรากฏว่าอาสาสมัครกลับมามีอาการปวดหัวเข่าเพิ่มขึ้น โดยให้คะแนนความเจ็บปวดมากขึ้นถึง 82 คะแนน ไม่เพียงมีผลต้านการอักเสบ ยังช่วยต้านโรคมะเร็งได้อีกด้วย พิสูจน์โดยมหาวิทยาลัยมินนิโซตา(University of Minnesota) ประเทศสหรัฐอเมริกา นักวิจัยคัดเลือกหนูทดลองที่มีร่างกายแข็งแรงจากนั้นฉีดเซลล์มะเร็งลําไส้ใหญ่เข้าไปในร่างกาย แล้วจึงแบ่งหนูทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม หนูทดลองกลุ่มแรกได้รับการฉีดสารจินเจอรอลซึ่งสกัดจากขิงปริมาณ 0.5 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ3 ครั้ง

ส่วนหนูทดลองอีกกลุ่มไม่ได้รับสารสกัดหรือยาชนิดใดเพื่อต่อสู้กับเซลล์มะเร็งผ่านไป15 วัน ก้อนมะเร็งปรากฏในร่างกายหนูทดลองทั้งสองกลุ่ม โดยพบก้อนมะเร็ง 4 ก้อนในหนูทดลองกลุ่มที่ได้รับสารจินเจอรอลส่วนหนูทดลองอีกกลุ่มพบก้อนมะเร็งมากถึง 13 ก้อน หลังจากนั้น 49 วัน นักวิจัยวัดขนาดก้อนมะเร็งในหนูทดลอง พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารจินเจอรอลมีขนาดของก้อนมะเร็ง 0.5 ลูกบาศก์เซนติเมตร ในขณะที่หนูทดลองอีกกลุ่ม มีขนาดก้อนมะเร็งใหญ่กว่าถึง 2 เท่า

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมินนิโซตายื่นขอจดสิทธิบัตรการค้นพบครั้งนี้แล้ว โดยมีการวิจัยต่อเนื่องเพื่อใช้ประโยชน์จากสาร      จินเจอรอลรักษามะเร็งในคนต่อไป เพราะมีเครื่องเทศแฝงอยู่ในสารพัดอาหารรอบตัว เพียงรู้จักเลือกกินก็เตรียมตัวฉลาด   หุ่นดี อ่อนเยาว์ อายุยืนได้ง่าย

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

5 สมุนไพรบำรุงกระดูกเพื่อผู้สูงวัย

วิธี “ปรับตัว ปรับใจพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงวัย”

ลือกอาหารแบบไหนถึงดีต่อสุขภาพ และระบบทางเดินอาหารของสว.

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.