3 ท่า กดจุดหยุดไมเกรน ชะงัด “ไมเกรน” เป็นโรคฮิตที่พบมากในปัจจุบัน ผู้ป่วยจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยจะมีอาการปวดหน่วงที่บริเวณขมับ คิ้ว และรอบดวงตา ตาพร่ามัว บางราย มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
กดจุดหยุดไมเกรน
โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะกินยาแก้ปวด เมื่อมีอาการ และกินยาป้องกัน เพื่อขยายหลอดเลือด แต่ก็ยากที่จะรักษาให้หายขาด ซึ่งการฝังเข็ม สามารถรักษาอาการขณะปวดได้ดีมาก บางเคส ที่หมอเคยเจอ ยังไม่ทันดึงเข็มออก ความปวดก็บรรเทาลงอย่างชัดเจน บอกลายาแก้ปวดไปเลย
ทำไมจึงเป็นไมเกรน ?
ศาสตร์การแพทย์จีน มีคำกล่าวว่า “ปู้ทง เจ๋อท่ง” มีความหมายว่า เมื่อเกิดการติดขัดก็จะทำให้มีอาการปวด ขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ลองนึกถึงสายยาง ที่มีตะไคร่น้ำเกาะอยู่ภายใน เฉกเช่นหลอดเลือดที่มีไขมัน หรือเลือดเสีย คั่งค้างอยู่ภายใน ซึ่งก่อให้เกิดอาการปวด
ส่วน “ปู้หรงเจ๋อท่ง” มีความหมายว่า หากขาดการบำรุงหล่อเลี้ยง จะทำให้มีอาการปวด เปรียบเทียบกับปั๊มน้ำ ที่จ่ายกระแสไฟฟ้าได้ไม่ดี ทำให้เครื่องติด ๆ ดับ ๆ เฉกเช่นเดียวกับ
หลอดเลือดที่มีการสูบฉีดเลือด และพลังงานน้อย ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
เมื่อก่อน หมอเองก็เป็นผู้ป่วยโรคนี้ เวลาเครียด พักผ่อนไม่พอ หรือก่อนมีประจำเดือน ก็จะเริ่มมีอาการแสดงออกมา หมอใช้วิธีฝังเข็มรักษาตัวเอง แต่ถ้าไม่สะดวกก็จะใช้วิธีนวดกดจุด เพื่อคลายอาการ ก็ได้ผลการรักษาดีไม่แพ้กัน
ตอนที่หมอไปศึกษาต่อ ระดับปริญญาโท หมอจึงสนใจทำวิจัยโรคนี้ ในหัวข้อ “การเลือกจุดฝังเข็มและเส้นลมปราณ ที่ใช้ในการรักษาโรคไมเกรน” เพื่อให้ผู้ป่วย สามารถนวดกดจุดตัวเองเวลาที่มีอาการ หมอขอยกตัวอย่าง จุดฝังเข็มที่ใช้บ่อยในการกดจุด และช่วยรักษาไมเกรนได้ผลดี ซึ่งอยู่บริเวณศีรษะ โดยมี 3 จุด ได้แก่
- จุดเฟิงฉือ ตำแหน่ง จุดเฟิงฉืออยู่บริเวณท้ายทอย (Occipital) ทั้งสองข้าง เป็นแอ่งอยู่ใต้ฐานกะโหลกศีรษะ เหนือชายผมด้านหลังมา 1 ชุ่น (เท่ากับความกว้างของหัวแม่มือ) หรือตรงรอยบุ๋มระหว่างกล้ามเนื้อคอ (Sternocleidomastoid) กับกล้ามเนื้อหนอกคอ (Trapezius)
วิธีกดจุด ใช้นิ้วโป้งกดที่ จุดเฟิงฉือ 4 นิ้วที่เหลือประคองศีรษะไว้ ออกแรงกดที่นิ้วโป้งค้างไว้ ก้มศีรษะลง จากนั้นค่อย ๆ เงยหน้าขึ้น แล้วก้มหน้าลง โดยให้ปลายนิ้วโป้งชี้ไปที่ปลายจมูก กดคลึงนาน 3 – 5 นาที - จุดไท่หยาง ตำแหน่ง ไท่หยาง คือ จุดที่อยู่ตรงรอยบุ๋ม บริเวณขมับ เป็นจุดกึ่งกลาง ระหว่างคิ้วกับหางตา
วิธีกดจุด ใช้นิ้วไหนก็ได้แล้วแต่ถนัด ขยี้บริเวณขมับสักครู่ แล้วจึงกดลงที่ จุดไท่หยาง โดยกดลงตรง ๆ ตั้งฉากกับผิวหนัง ค้างไว้ให้รู้สึกเจ็บ แล้วปล่อย ทำซ้ำ 3 – 5 นาที - จุดซ่วยกู่ ตำแหน่ง จุดซ่วยกู่ อยู่ด้านข้างศีรษะบริเวณทัดดอกไม้ เหนือยอดใบหูขึ้นมา 1.5 นิ้ว
วิธีกดจุด ใช้นิ้วไหนก็ได้แล้วแต่ถนัด ขยี้บริเวณทัดดอกไม้สักครู่ แล้วจึงกดลงที่ จุดซ่วยกู่ โดยกดลงตรง ๆ ตั้งฉากกับผิวหนัง ค้างไว้ให้รู้สึกเจ็บ แล้วปล่อย ทำซ้ำ 3 – 5 นาที
อย่าลืมว่า การดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้นต้องพักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้สงบผ่อนคลายด้วยค่ะ
เรื่อง แพทย์จีนนภษร แสงศิวะฤทธิ์ ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ
ชีวจิต 454 – FREE 84 TIPS FOR NEW AGING
นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 กันยายน 2560
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทความน่าสนใจอื่นๆ
Check! หลายโรคของแถมจาก “ไมเกรน”
ปวดหัวไมเกรน แก้ด้วยเมนู Migraine Free Energy Bars เคี้ยวอร่อยเพลินๆ