โรคจากไมเกรน

Check! หลาย โรคจากไมเกรน

Check! หลาย โรคจากไมเกรน

ไมเกรน เป็นความเจ็บป่วยทางร่างกายที่พบบ่อย โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงาน สืบเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนในสังคมต้องเผชิญกับความเครียดอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นความเครียดสะสมที่บั่นทอนร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้เกิดอาการป่วยด้วยโรคต่าง ๆ หนึ่งในนั้นก็คืออาการปวดหัวไมเกรนที่หลายคนเผชิญอยู่ และอาจตามมาด้วย โรคจากไมเกรน

อาการของ ไมเกรน

ไมเกรน คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาการที่แสดงคือ “ปวดหัวข้างเดียว” แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการปวดหัวไมเกรนก็สามารถปวดหัวทั้งสองข้างได้เช่นกัน

การปวดหัวข้างใดข้างหนึ่ง เป็นลักษณะเฉพาะของไมเกรน เนื่องจากมีจุดหรือแหล่งกำเนิดที่ทำให้ปวดหัว ส่วนมากอยู่บริเวณก้านสมอง มีการส่งสัญญาณทางระบบประสาท เพื่อไปกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ และระบบหลอดเลือดของสมอง รวมทั้งการส่งผ่านสัญญาณของเส้นประสาทมาทางเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่รับความเจ็บปวดบริเวณใบหน้าและศีรษะ อาจทำให้บางครั้งเริ่มต้นปวดหัวข้างใดข้างหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าเป็นมากอาการปวดก็สามารถกระจายไปยังศีรษะทั้งสองข้างได้ หรืออาจปวดหัวย้ายไปมาสลับกันระหว่างซ้ายและขวา

ปวดหัวไมเกรน มีสาเหตุมาจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้เกิดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีทฤษฎีหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องทางพันธุศาสตร์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เชื่อว่าอาการปวดหัวไมเกรนถูกกำหนดโดยโครงสร้างของสมองในบุคคลนั้น ทำให้มีความไวต่อสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดอาการ สิ่งเร้านั้น ได้แก่ การอดนอน การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา อากาศร้อน แสงจ้า ความเครียด ในเพศหญิงยังมีเรื่องของฮอร์โมนเพศเข้ามาเกี่ยว เช่น ก่อนหรือหลังมีประจำเดือนจะมีอาการไมเกรนกำเริบขึ้นมา เป็นต้น

ปวดหัวไมเกรน ป้องกันได้อย่างไร

การป้องกันที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการ เช่น หลีกเลี่ยงการใช้งานคอมพิวเตอร์มากเกินไป หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น รวมถึงเลือกกินอาหารที่มีแมกนีเซียม เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า การปวดไมเกรน สัมพันธ์กับปริมาณแมกนีเซียมที่น้อยในร่างกาย ซึ่งพบได้ใน ธัญพืชเต็มเมล็ด ถั่ว เป็นต้น

โรคจากไมเกรน

โรคจากไมเกรน มีอะไรบ้าง

เพราะไมเกรน เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับระบบสมอง หลอดเลือดในสมอง และระบบประสาท จึงมีโอกาสสร้างโรคร้ายแรงอื่นๆ โดยมีงานวิจัยระบุว่า ไมเกรนมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคร้ายแรงชนิดอื่นๆ และชีวจิตไม่พลาด ที่จะนําข้อมูลเหล่านั้นมาฝากผู้อ่าน  เพื่อให้ทุกท่านได้ระมัดระวังตัวกัน

Bell’s Palsy โรคอัมพาตใบหน้า

ข้อมูลล่าสุดจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal Neurology พบว่า ผู้ป่วยไมเกรนมากกว่าครึ่งหนึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอัมพาตใบหน้า (Bell’s Palsy) หรือ โรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนน้อย

นอกจากเพราะความผิดปกติของเส้นประสาทในสมองแล้ว Bell’s Palsy ยังมีสาเหตุเกิดได้จาเชื้อไวรัส และมักพบบ่อยในสตรีตั้งครรภ์ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ทำให้เกิดความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เรียกว่าเส้นประสาทใบหน้า (Facial nerve) ที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้าทำให้ไม่สามารถทำงานได้ชั่วคราว ส่งผลให้กล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีกด้านนั้นอ่อนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการหลับตาไม่สนิท ปากเบี้ยวมุมปากตก ดื่มน้ำจะมีน้ำไหลออกจากมุมปาก ยักคิ้วไม่ขึ้นและขยับใบหน้าซีกนั้นไม่ได้ และมักจะดีขึ้นใน 4 – 6 สัปดาห์

โรคซึมเศร้า

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งคัลการี  ประเทศเเคนาดา พบว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคซึมเศร้าสูง และหากมีอาการปวดไมเกรนร่วมด้วยจะยิ่งส่งผลให้โรคซึมเศร้ากําเริบรุนแรงขึ้น ทั้งนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อมีอาการซึมเศร้า ร่างกายจะหลั่งสาร เซโรโทนินออกมาต่ำกว่าปกติ และเมื่อร่างกายมีสารดังกล่าวน้อย ก็จะกระตุ้นให้เกิดไมเกรนขึ้นได้

มีงานวิจัยระบุว่า ผู้ที่มีอาการไมเกรนมากกว่า 15 วัน ต่อเดือน มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า

โรคพาร์กินสัน

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ ของกองทัพทหารแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้ป่วยที่เห็นแสงระยิบระยับ  แล้วมีอาการปวดไมเกรน หรือที่เรียกว่า ไมเกรนแบบมีออร่า (เป็นไมเกรนแบบมีอาการเตือน โดยอาจจะมองเห็นแสงระยิบระยับ เห็นเส้นซิกแซก หรืออาจเป็นภาพมืดบางส่วน มองเห็นไม่ชัด เห็นภาพบิดเบี้ยว)

โดยในงานวิจัยระบุว่าผู้ที่มีไมเกรนแบบเห็นแสง โดยเฉพาะในวัยกลางคน จะมีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสันมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า โดยนักวิจัยพบว่า สารสื่อประสาทโดพามีนที่เกี่ยวข้องกับการเป็นไมเกรนและโรคพาร์กินสันเป็นต้นเหตสําคัญ

โรคหัวใจเเละหลอดเลือดสมอง

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal Neurology ระบุว่า ผู้ป่วยไมเกรนโดยเฉพาะผู้หญิงที่เห็นแสงระยิบระยับแล้วมีอาการ จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเเละโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 50 ปี

และจากการตรวจด้วยเครื่อง MRI พบว่าสมองคนที่เป็นไมเกรนมีอาการเส้นเลือดตีบแบบไม่แสดงอาการ และพบความผิดปกติของเนื้อสมองส่วนขาวมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า

ดังนั้นคนที่มีอาการไมเกรนจึงควรต้องระวังการเกิดเส้นเลือดสมองตีบและแตกมากกว่าคนทั่วไป ใช้ยาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เนื่องจากยาในกลุ่มแก้ปวดบางตัวส่งผลต่อการเกิดโรคเส้นเลือดสมองและหัวใจได้

ถึงแม้โรคและอาการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนมีความสัมพันธ์กับการเกิดไมเกรน  แต่นักวิจัยก็ยังไม่ฟันธงร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการป้องกันโรคไมเกรนจึงเป็นสิ่งสําคัญทําได้โดยกินอาหารชีวจิตและหมั่นออกกําลังกาย เพียงเท่านี้ไม่ว่าไมเกรนหรือโรคร้ายชนิดใดก็ ไม่กล้าเข้ามาจู่โจมแน่นอนค่ะ

ที่มา: นิตยสาร ชีวจิต ฉบับที่ 397 และ RAMA CHANNAL

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

ต้องอ่าน! ยาแก้ปวดไมเกรน Ergotamine ใช้อย่างไรถึงจะปลอดภัย

อดมื้อเช้า อาจทำเสี่ยง อัลไซเมอร์

แจกสูตร Migraine Free Energy Bars ของขบเคี้ยว ลดปวดไมเกรน

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.