3 วิธีเช็กมลพิษในอากาศ
ช่วย ระบบทางเดินหายใจ แข็งแรง
ทราบกันหรือไม่คะว่า ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษในอากาศเฉลี่ยปีละ2,400,000 คน ส่วนคนไทยก็ป่วยเป็นโรคใน ระบบทางเดินหายใจ จากมลพิษถึง 44 เปอร์เซ็นต์จากประชากรทั้งหมด
โดยมลพิษที่ว่านี้เกิดจากควันเสียที่ปล่อยจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง การเผาขยะหรือไร่นา ตลอดจนการใช้สารเคมีทางการเกษตร
แม้ไม่มีเครื่องมือตรวจคุณภาพราคาแพงแต่เราสามารถเช็กสภาพอากาศด้วยตัวเองโดยวิธีสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศได้เช่น
1.ใบพืชมีสีเหลือง ใบพืชที่ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นละอองและสารมลพิษจะเกิดอันตราย โดยสารมลพิษจะถูกดูดซึมเข้าทางใบผ่านกระบวนการหายใจของพืช สารมลพิษบางชนิดจะเข้าไปทำลายส่วนต่างๆของพืช ได้แก่ ใบ ลำต้น หรือดอก ตัวอย่างเช่น ไฮไดรคาร์บอน เช่น อีไทลีน ทำให้เกิดพิษที่ใบ ตาดอก และดอกของพืช และทำให้เกิดความไม่สมดุลของการลำเลียงสารอาหารในต้นพืช ส่วนซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้เกิดพิษเรื้อรังต่อต้นพืช ด้วยการเปลี่ยนสีเนื้อเยื่อใบของพืชจนกลายเป็นสีเหลืองหรือ เรียกว่า การคลอโรซีส ซึ่งเป็นการสูญเสียคลอโรฟิลล์หรือหยุดสร้างคลอโรฟิลล์ นอกจากนี้สารพวกออกซิแดนต์จะทำให้ใบพืชแห้งเหี่ยวและทำให้เซลล์ยุบตัว ไนโตรเจนไดออกไซด์จะทำให้เกิดยู่ด้วยที่ใบ
2.เกิดการบดบังแสงสว่าง โดยสารมลพิษเหล่านี้เป็นสารพวกแอโรซอล ในรูปของหมอก ควันหมอกผสมไอควัน มีผลลดการมองเห็นในระยะไกลเกินกว่า 8 กิโลเมตร บดบังแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก ทำให้เกิดปัญหาต่างๆด้านต่างๆ เช่น การคมนาคม ทัศนียภาพ เช่นในช่วง เดือน กุมภาพันธ์ถึงมีนาคม พ.ศ.2558 เมื่อมองขึ้นไปบนขอบท้องฟ้าจะมองเห็นท้องฟ้าของกรุงเทพฯเป็นสีน้ำตาล ตรงนั้นคือชั้นของฝุ่นละออง ก๊าซโอโซน
3.สำรวจไลเคนในธรรมชาติ ข้อมูลจากหนังสือ นักสืบสายลม มูลนิธิโลกสีเขียว แนะนำว่า ไลเคนคือสิ่งมีชีวิตสองกลุ่ม ได้แก่ราและสาหร่าย เข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นหุ้นส่วนพึ่งพาอาศัยกัน โดยเส้นใยราจะสานทอหุ้มห่อเซลล์สาหร่าย ป้องกันสาหร่ายไว้ ฝ่ายสาหร่ายซึ่งมีคลอโรฟิลล์ก็สามารถรับพลังงานแสงอาทิตย์มาปรุงอาหารให้รา การเอื้อประโยชน์ระหว่างสาหร่ายกับรา ทำให้ไลเคนสามารถขึ้นกระจายไปทั่วโลก และสามารถทนภูมิอากาศโหดๆได้ดีกว่าต้นไม้
หากสังเกตดีๆจะเห็นดวงต่างสีต่างๆบนต้นไม้ ดูเผินๆอาจเหมือนต้นไม้เป็นกลากเกลื้อน แต่นี่แหละคือ ไลเคน ซึ๋งมีหน้าตาแตกต่างกันหลายแบบ คาดว่าทั่วโลกจะมีไลเคนถึง 3 หมื่นชนิด นอกจากเกาะบนต้นไม้แล้ว ไลเคนยังขึ้นเกาะก้อนหิน กำแพง กระเบื้องหลังคาบ้าน ไปจนถึงพื้นถนนได้ด้วย
ไลเคนต้องการแสง ความชื้นและปัจจัยดำรงชีวิตอื่นๆ เช่นเดียวกับพืช แต่สิ่งหนึ่งที่ไลเคนทำไม่ได้เหมือนพืช คือ การทนมลภาวะทางอากาศ
ในขณะที่ผิวใบของพืชมีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งเคลือบ แต่ผิวของไลเคนเป็นเพียงเส้นใยราสานกันแน่นๆเท่านั้น มันจึงดูดซึบความชื้นและแร่ธาตุอาหารผานผิวเส้นใยราโดยตรง ดังนั้นหากอากาศมีมลพิษสูง มลพิษเหล่านั้นจึงเข้าไปสะสมในไลเคนได้ง่าย และทำลายคลอโรฟิลล์ของสาหร่าย ทำให้ไลเคนตายในที่สุด
ดังนั้นไลเคนจึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถนำมาเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศได้ ปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปออกกฎระเบียบให้ใช้ไลเคนตรวจสอบคุณภาพอากาศควบคู่ไปกับการใช้เครื่องดักวัดอากาศเพราะแต่ละวิธีมีจุดอ่อน จุดแข็งต่างกัน
ข้อดีของการใช้ไลเคนวัดคุณภาพอากาศคือ
1.ไลเคนอ่อนไหวต่อมลพิษมากกว่ามนุษย์ จึงเป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดปัญหารุนแรงตามมา
2.ผลกระทบของมลภาวะต่อไลเคนปรากฎอยู่นาน จึงแสดงให้เห็นสภาพอากาศโดยรวในบริเวณนั้น แม้กิจกรรมที่สร้างมลภาวะจะไม่ได้เกิดขึ้นอยู่ในขณะที่สำรวจก็ตาม
3.ราคาถูก เพราะอาศัยการสังเกตเท่านั้น จึงสามารถตรวจสอบได้หลายจุดกว่าการใช้เครื่องดักวัดอากาศ และสามารถบอกสถานภาพของอากาศในพื้นที่ได้ละเอียดกว่า
4.เห็นภาพชัดเจนกว่า เพราะสามารถเชื่อมโยงการปรากฎตัวหรือหายไปของไลเคนกับสภาพมลภาวะทางอากาศได้ง่ายกว่าค่าหน่วยวัดทางเคมี
บทความน่าสนใจอื่นๆ
9 สิ่งมหัศจรรย์…จากนา เกลือ ธรรมชาติ