คลายทุกข้อสงสัย ที่ทุกคนต้องรู้เกี่ยวกับ การตรวจมะเร็ง
ทันทีที่คุณหมอสงสัยว่าก้อนเนื้อหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจมีโอกาสเป็นโรคมะเร็ง จินตนาการเรื่องร้ายๆ จู่โจมพรวดพราดอย่างไม่ทันตั้งตัว และเราก็แทบล้มทั้งยืน การตรวจมะเร็ง จึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ในคนยุคปัจจุบัน
ชีวจิต เข้าใจความรู้สึกนี้ จึงเรียบเรียงสิ่งที่ ธันย์ โสภาคย์ (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์หม่อมราชวงศ์ธันยโสภาคย์ เกษมสันต์) รวบรวมไว้ในหนังสือคลาสสิกเรื่อง เมื่อหมอเป็นมะเร็ง สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ มาถ่ายทอด อย่างน้อยก็ช่วยไขปริศนาศัพท์แพทย์ให้สว่างโพลง และรู้ความจริงว่าตนกำลังถูกพาไปรับการตรวจแบบไหน
เอกซเรย์ทรวงอก (เชสต์เอกซเรย์)
มักถ่ายสองท่า คือ หันหน้าอกแนบฟิล์ม (ท่า พี.เอ.) และท่าตะแคงข้างแนบฟิล์มโดยยกแขนขึ้น ใช้วินิจฉัยมะเร็งปอดหลอดลม และต่อมน้ำเหลืองในทรวงอก ร่วมกับการตรวจโรคอื่นๆ คนปกติควรเอกซเรย์ทุกๆปี ปีละครั้ง หรือตามแพทย์นัด
เอกซเรย์เต้านม (แมมโมแกรม)
จัดท่ายืนให้เหมาะสม โดยเต้านมอยู่ระหว่างเครื่องแมมโมแกรมภาพรังสีแสดงเนื้ออกทึบขาวที่ทำให้สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง ต้องตรวจเพิ่มเติมอีกจึงจะรู้แน่ (ดูไบออปซี่)
อัลตราซาวนด์
เป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง คลื่นเสียงที่สะท้อนกลับจะถูกบันทึกด้วยฟิล์มเอกซเรย์ ทำให้รู้ว่ามีก้อน และก้อนนั้นมีรูปพรรณสัณฐานอย่างใด ใช้ตรวจหาก้อนมะเร็งในตับและอวัยวะอื่นๆในช่องท้อง
เอ็มอาร์ไอ
เป็นการตรวจด้วยรังสีคลื่นแม่เหล็ก โดยถ่ายภาพหน้าตัดออกมาเป็นแว่นๆคล้ายซีทีสแกน แต่ได้ภาพที่ชัดเจนกว่ามากจนคล้ายมองเห็นทะลุเข้าไปได้ด้วยตาเปล่า สามารถจำแนกเงาของเนื้อเยื่อต่างๆของอวัยวะทุกชนิดได้ดีมีข้อดีที่ปลอดภัยจากรังสีเอกซ์ที่มีอันตราย
ซีทีสแกน
เป็นการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะจัดการถ่ายภาพหน้าตัดออกมาเป็นแว่นๆคล้ายเอามีดตัดกล้วยเป็นท่อนๆ ทำให้จำแนกเงาของเนื้อเยื่อที่มีความหนาแน่นต่างๆกันว่ามีขนาดรูปร่าง ตำแหน่งต่างกันอย่างไรในแต่ละท่อนหรือแว่นที่เรียงตามลำดับ ในส่วนที่รังสีแพทย์ต้องการตรวจ เช่น สมอง ไขสันหลังอวัยวะในช่องท้อง
บางรายต้องฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้าไขสันหลังเพื่อให้จำแนกภาพได้ชัดยิ่งขึ้น
แบเรียมมีล
คือการกลืนน้ำแป้งแบเรียมซัลเฟตไม่มีรสไม่มีกลิ่นลงไปทางปาก แล้วเอกซเรย์ตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น (ดิวโอดินัม) ลำไส้เล็กส่วนกลาง (เจจูนัม) และลำไส้เล็กส่วนปลาย (ไอเลียม) บางส่วนได้ ถ้าถ่ายเอกซเรย์หลายครั้งเรียกว่าจี.ไอ.ซีรี่ส์
ก่อนตรวจต้องงดอาหาร 3-6 ชั่วโมงเพื่อให้กระเพาะอาหารว่าง
แบเรียมอีนีมา
คือการสวนน้ำแป้งแบเรียมซัลเฟตเข้าทางทวารหนักในท่านอนตะแคงทับซ้าย น้ำแป้งจะแสดงลักษณะลำไส้ใหญ่เรื่อยขึ้นไปจนถึงถุงดัน (ซีคัม) ไส้ติ่ง (แอพเพนดิกส์) ลำไส้เล็กส่วนปลาย (ไอเลียม) สามารถบอกได้ว่ามีก้อน (แมส) หรือมีกระพุ้งยื่น (ไดเวอติคูลัม) หรือติ่งยื่น (โปลิป) ในโพรงลำไส้ได้ ก้อนที่อยู่นอกลำไส้ก็อาจเห็นรอยกดเข้ามาในโพรงลำไส
ก่อนตรวจต้องมีการงดอาหารแข็ง การใช้ยาระบาย (น้ำมันละหุ่ง) ก่อนนอน และสวนอุจจาระตอนเช้าก่อนการตรวจ เพื่อให้ลำไส้ใหญ่ว่างเปล่า
เอนโดสโคปี
คือการตรวจโดยสอดท่อพลาสติกที่มีดวงไฟตรงปลายสำหรับให้ความสว่าง มีท่อแนบคู่ขนาดที่สามารถสอดเครื่องมือเข้าไปตัดชิ้นเนื้อตรวจได้ ใช้ตัดก้อนเนื้องอก เช่น ติ่งยื่น ก็ได้ ทำได้ทั้งจากทางปาก ทางจมูก ทางช่องปัสสาวะ ทางทวารหนัก
• ทางปาก (แกสโตร-เอนเตอโรสโคปี) ใช้ตรวจหลอดอาหารกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ท่อน้ำดีร่วม
• ทางจมูก (บรองโคสโคปี) ใช้ตรวจช่องจมูก ส่วนคอหอยกล่องเสียง หลอดลมใหญ่ หลอดลมแขนง และหลอดลมย่อยในปอด และตัดชิ้นเนื้อมาตรวจได้
• ทางช่องปัสสาวะ (ซิสโตสโคปี) เป็นการสอดท่อเข้าไปทางรูปัสสาวะ ใช้ตรวจท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ ท่อไตกรวยไตได้หมด
• ทางทวารหนัก (ซิกมอยโดสโคปี หรือโคโลโนสโคปี) ใช้ตรวจไส้ตรง (เร็คตัม) ส่วนเหนือจากที่คลำได้ด้วยนิ้วมือ (ราว 15 – 20 เซนติเมตร) ลำไส้ใหญ่ทุกส่วน สามารถสอดท่อเข้าตรวจไส้ติ่งและลำไส้เล็กส่วนปลาย (ไอเลียม) ได้ด้วย
การสอดท่อเข้าทางหลอดเลือดแดง (อาร์ทิริโอสโคปี) ผ่านเข้าหัวใจ (คาร์ดิโอสโคปี) ตรวจพยาธิสภาพในหลอดเลือดหัวใจได้ด้วย
การใช้ท่อสอดเข้าช่องท้อง (เปอริโตนิโอสโคปี) ใช้ตรวจดูอวัยวะในช่องท้อง เช่น รังไข่ ท่อมดลูก ลำไส้ และอื่นๆ ทางช่องอก (ธอราโคสโคปี) ใช้เจาะผ่านช่องซี่โครง ส่องดูเยื่อหุ้มปอด ปอด หัวใจ และอื่นๆได้
อวัยวะของคนเราทุกวันนี้ไม่มีที่เร้นลับอีกต่อไป มะเร็งซ่อนอยู่ที่ไหนแพทย์สามารถตามเข้าไปค้นให้พบจนได้ แต่ท่านต้องแจ้งอาการให้เขาทราบแต่เนิ่นๆ
อาร์ทิริโอแกรม วีโนแกรม ลิมโฟแกรม
หมายถึงภาพเอกซเรย์หลังการฉีดสารทึบรังสี(มักเป็นจำพวกไอโอดีน) เข้าไปในหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ หรือท่อน้ำเหลือง เพื่อตรวจก้อนมะเร็งที่มีหลอดเลือดไปเลี้ยงมากหรือท่อน้ำเหลืองที่สงสัยว่ามีการอุดตัน
ต้องบอกแพทย์ว่าเราแพ้สารไอโอดีน เช่น ของทะเล มาก่อนหรือไม่ จะได้ทดสอบให้แน่นอนก่อนฉีดยา
ไบออปซี่
แปลว่าการตัดชิ้นเนื้อตรวจ อาจใช้มีดผ่าหรือใช้เข็มเจาะก็ได้ถ้าตัดออกมาทั้งก้อน เรียกว่า เอ็กซิชันแนลไบออปซี่ ทำได้กับก้อนที่สงสัยทั้งภายนอกที่ผิวหนังหรือทรวงอก หรือการสอดท่อเข้าไปใช้เครื่องมือตัดชิ้นเนื้อ (ดูหัวข้อเอนโดสโคปี)
การเจาะด้วยเข็ม (นีลเดิลไบออปซี่) อาจใช้เข็มพิเศษสองชั้นเจาะตับ ไต ต่อมลูกหมาก ม้าม (อันตรายจากเลือดออก) ไทรอยด์ ก้อนในเต้านม ช่องข้อ ก็ได้ บางรายใช้เข็มฉีดยาธรรมดาเบอร์โตๆก็ดูดเอาเลือดและเซลล์ออกมาตรวจได้
การตรวจชิ้นเนื้อทางศัลยกรรม (เซอร์จิคัลไบออปซี่) หมายถึง การตรวจพยาธิแพทย์ต่อชิ้นเนื้อที่ศัลยแพทย์ตัดส่งมา มีการตรวจมหภาคและจุลภาค เพื่อให้การวินิจฉัยโรคขั้นสุดท้าย
การตรวจแป๊ปสเมียร์ เป็นการตรวจหาเซลล์ที่สงสัยจะเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็ง โดยการป้ายเอามูกที่ปากมดลูก (เซอร์จิคัลออส) ไปตรวจด้วยการย้อมสีพิเศษ สตรีผู้ย่างเข้าวัยกลางคนควรตรวจทุกปีหรือตามแพทย์นัดหมาย
การขูดมดลูกตรวจ ใช้เครื่องมือขูด (คิวเรต) เป็นการใช้เครื่องมือผ่านช่องคลอดเข้าคอมดลูก ไปขูดเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาตรวจ ถ้ามีมะเร็ง ตัวมดลูกก็ย้อมสีพบได้
การตรวจเลือด
ซี.บี.ซี. (คอมพลีตบลัดเคานต์) เป็นการตรวจเลือด อาจเจาะจากหลอดเลือดดำหรือเจาะจากปลายนิ้วมือก็ได้ นับจำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว จำแนกประเภทเม็ดเลือดขาว และหาปริมาณสีเลือด (เฮโมโกลบิน) ในเม็ดเลือดแดง มะเร็งเม็ดเลือดขาวตรวจพบโดยบังเอิญจากการทำซี.บี.ซี.ได้บ่อย ตรวจหาหมู่เลือดด้วยก็ได้
การตรวจเคมีเลือด (บลัดเคมิสตรี) เป็นการตรวจเลือดวัดระดับสารเคมีต่างๆที่สัมพันธ์กับหน้าที่ของตับ ตับอ่อน ไต ต่อมไร้ท่อ ระบบน้ำดี ระบบย่อยอาหาร สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากมีเอนไซม์ชื่อแอซิดฟอสฟาเตสสูงขึ้น
ซี.อี.เอ. (แคนเซอร์แอนติเจน) เป็นการตรวจหาแอนติเจนของเซลล์มะเร็งบางชนิด โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ ปกติคนไม่สูบบุหรี่ มีค่าไม่เกิน 5 หน่วย ถ้ามีมะเร็งอาจขึ้นไปหลายสิบหน่วย (สูงสุดหนึ่งร้อย) ใช้การเจาะเลือดตรวจ แต่วิธีการทางแล็บออกจะซับซ้อนและใช้น้ำยาราคาแพงมาก จึงไม่ได้ทำเป็นประจำ เพราะแม้มีค่าต่ำก็ไม่สามารถแยกมะเร็งบางชนิดออกไปได้
พี.เอส.เอ. (พรอสเตทสเปซิฟิกแอนติเจน) ใช้ตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก
การตรวจไขกระดูก (โบนแมร์โรว์ไบออปซี่) เป็นต้นตอของเม็ดเลือดที่ไหลเวียนอยู่ ใช้ตรวจมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคอื่นๆ โดยการเจาะกระดูกเข้าไปตรงหน้าอกหรือเชิงกรานด้วยเข็มขนาดใหญ่แล้วดูดไขกระดูกที่เป็นมันเยิ้มออกมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
การตรวจภูมิคุ้มกัน (อิมมูนบอดี) และการตรวจแอนติเจนเป็นการตรวจหาระดับ (ไตเตอร์) ที่สูงกว่าปกติ อันแสดงถึงพยาธิสภาพที่มีอยู่ในร่างกาย เช่น โรคเอดส์ ซึ่งบางรายก็มีมะเร็งร่วมด้วย
การตรวจปัสสาวะและอุจจาระ
ตรวจโดยดูด้วยตาเปล่า ลักษณะอุจจาระที่ผิดแปลกไปจากเดิมมีความสำคัญทั้งสิ้น อาจมีมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ได้
ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้าปัสสาวะมีเลือด อาจสงสัยว่ามีนิ่ว การอักเสบ หรือมะเร็ง
วิเคราะห์ทางเคมี โดยมากเป็นการตรวจทั่วไป ไม่ใคร่ เกี่ยวกับมะเร็งโดยตรง ยกเว้นเอนไซม์แอซิดฟอสฟาเตส ถ้าสูงอาจแสดงว่ามีมะเร็งต่อมลูกหมาก
การตรวจอ็อคคัลท์บลัดในอุจจาระ เป็นการตรวจว่ามีเลือดออกจากลำไส้แม้ในปริมาณเล็กน้อยที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าหรือด้วยกล้องจุลทรรศน์ แต่ผู้ถูกตรวจต้องงดกินเนื้อสัตว์ก่อน 2 – 3 วัน
การตรวจพิเศษทั้งหมดที่กล่าวนี้ทำตามคำสั่งของแพทย์ผู้รับผิดชอบ โดยมีผู้ตรวจเป็นรังสีแพทย์และนักเทคนิคการแพทย์ซึ่งมีประจำตามโรงพยาบาลทุกแห่ง และยังมีคลินิกเอกชน (เทคนิคการแพทย์) ที่รับตรวจพิเศษแบบนี้ได้ด้วย
เมื่อรู้ว่าตนจะต้องเผชิญกับวิธีการตรวจเช่นไร อย่างไรแล้วช่วยให้จินตนาการวูบแรกลดความโหดร้ายลงได้ และเราก็จะเข้มแข็งขึ้น
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
พาร์สลีย์ ต้านมะเร็งคุณผู้หญิง
วิตามินธรรมชาติ ป้องกันมะเร็ง ทุกอวัยวะ
อังกาบหนู รักษามะเร็ง ได้จริงหรือไม่