โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ป้องกันได้ง่ายๆ แค่ลูกหลานช่วยกันร่วมมือ
โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ สามารถป้องกันได้ ซึ่งยาดีที่สุดก็คือ ลูกหลาน แค่ทำกิจกรรมร่วมกันก็จะทำให้คุณตาคุณยายห่างไกลจากโรคซึมเศร้า นอกจากนี้ การปรับไลฟ์สไตล์ก็จะเพิ่มความเบิกบานให้ผู้สูงวัยอีกด้วย
ผศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล อธิบายเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ไว้ในเว็บไซต์ http://www.si.mahidol.ac.th ว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรที่มีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าวัยอื่น โดยพบว่าร้อยละ 10- 13 ของผู้สูงอายุมีอาการของโรคนี้
ทำไมผู้สูงอายุจึงมีอาการโรคซึมเศร้ามากกว่าวัยอื่น
เพราะในวัยสูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ง่าย ได้แก่
-การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ง่าย
-การที่มีโรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคต่อมธัยรอยด์เป็นต้น
-การเจ็บป่วยทางกายที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อสมองโดยตรงแต่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน เจ็บปวด หรือเกิดความรู้สึกว่าร่างกายไม่แข็งแรง อาจทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้าได้ เช่น ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคไต ปวดข้อ เป็นต้น
-ยาหลายชนิดอาจทำให้มีอารมณ์เศร้าได้เช่นกัน เช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด เป็นต้น
-การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ เช่น ต้องสูญเสียคู่ชีวิต หรือต้องออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุการทำงาน ทำให้ต้องปรับตัวกับการดำเนินชีวิตแบบใหม่ ไม่มีเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น
-การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เช่น การต้องเปลี่ยนบทบาทจากหัวหน้าผู้นำครอบครัวเป็นผู้ตาม หรือการที่ไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากลูกหลาน เนื่องจากเห็นว่าอายุมากแล้ว ไม่ทันต่อเหตุการณ์ เป็นต้น
อาการโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร
สำหรับอาการเริ่มแรกอาจมีอาการไม่มากจนถึงบางรายมีอาการชัดเจน อาการประกอบไปด้วย
-รู้สึกเซ็ง เศร้าหรือเสียใจอย่างไม่มีเหตุผล
-ความรู้สึกสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวลดลง เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไรที่เคยชอบ
-นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป
-รู้สึกตัวเองไร้ค่า คอยตำหนิกล่าวโทษตนเอง
-รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง
-ไม่มีสมาธิ ไม่มีความมั่นใจในตนเอง ขี้หลงขี้ลืม
-ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป อาจเบื่ออาหารหรือบางรายรับประทานมากขึ้น น้ำหนักตัวลดลงหรือเพิ่มขึ้น
-ความคิดและการเคลื่อนไหวเชื่องช้า กระสับกระส่ายหงุดหงิด
-มีความคิดอยากตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย
แพทย์หญิงภาพันธ์ ไทยพิสุทธิกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า วิธีป้องกันโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ คือลูกหลานต้องหมั่นไปเยี่ยม โดยการรับประทานอาหารด้วยกัน หรือนวดฝ่าเท้าให้กับผู้สูงวัยเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้ท่าน
นอกจากนี้ แพทย์หญิงศรีประภา ชัยสินธพ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ยังชี้ให้เห็นถึงแนวทางพัฒนาจิตใจผู้สูงอายุให้ห่างไกลปัญหาสุขภาพจิต ดังนี้
งานอดิเรกรักษาใจให้สดชื่น
น่าเสียดายว่าในช่วงวัยหนุ่มสาวและวัยทํางาน หลายคนมองข้ามประโยชน์ ของงานอดิเรก จึงปล่อยให้เวลาว่างผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่คุณๆ ทราบหรือไม่ว่า การมีงานอดิเรกหรือกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ตนเองชอบและทําอย่างต่อเนื่องในยามว่าง มีส่วนช่วยให้บุคคลนั้นๆ ปรับตัวง่ายขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ
นอกจากได้รับความเพลิดเพลินแล้ว การทํางานอดิเรกยังช่วยขยายขอบเขตความรู้ความเชี่ยวชาญพิเศษอื่นๆ นอกเหนือไปจากการทํางานประจําด้วย หากทําได้ดีและเชี่ยวชาญมากพอ ยังเป็นที่มาของการสร้างรายได้เสริมอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ลดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้สูงอายุมีได้อีกด้วย เมื่อมีองค์ความรู้อื่นๆ และหากมีรายได้พิเศษเสริมเข้ามาในช่วงบั้นปลายชีวิต งานอดิเรกสามารถนําไปสู่การขยายเครือข่ายทางสังคม ช่วยให้ผู้สูงอายุ ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือซึมเศร้าได้
บทความอื่นที่น่าสนใจ
สิทธิประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุ รู้เถอะ! จะได้ใช้กันเต็มที่
ดูแลผิวผู้สูงอายุ วัย 50+ ก็ยังสวยใสปิ๊ง
อาหารป้องกัน ต้อกระจก วายร้ายที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ