ลดปวดประจำเดือน

4 เทคนิค ลดปวดประจำเดือน ด้วยตัวเองง่าย ๆ ที่บ้าน

ลดปวดประจำเดือน ด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ

เมื่อพูดถึงอาการปวดท้องประจำเดือน เรียกติดปากว่า “ปวดท้องเมนส์” เรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องเผชิญทุกเดือนเลยทีเดียว บางคนโชคดีอาจมีอาการปวดเพียงเล็กน้อย หรือบางคนมีอาการรุนแรงหนักมากถึงขั้นเป็นลมต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติ ของมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่น ๆ ได้ เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกมดลูก เป็นต้น วันนี้ชีวจิตจึงมีเทคนิค ลดปวดประจำเดือน มาฝากทุกคนค่ะ

เชื่อว่าในทุกๆ เดือนสาว ๆ หลายคนต้องเผชิญกับอาการปวดท้องประจำเดือนมากน้อยแตกต่างกันไป บางคนไม่ปวดเท่าไร บางคนปวดนิดหน่อยทนได้ บางคนปวดแบบไม่เป็นอันทำอะไรเลย บางคนความปวดทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน หรือบางครั้งปวดมากจนต้องลาหยุดงานกันเลยทีเดียว และแน่นอนว่าการปวดประจำเดือนมากๆ นอกจากจะทำให้รู้สึกหมดเรี่ยวแรง ไม่อยากทำอะไรแล้ว แม้กระทั่งหัวถึงหมอนอยากล้มตัวลงนอนก็ยังนอนไม่ได้

สาวๆ คนไหนกำลังหาวิธีแก้อาการปวดท้องประจำเดือนอยู่ วันนี้อาสามาแนะนำ ลดปวดที่ทำได้เองง่าย ๆ ลองดูค่ะ

การปวดท้องประจำเดือน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

ปวดประเภทปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea)

การปวดท้องประจำเดือนแบบปฐมภูมิ คือการปวดท้องที่ไม่มีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เป็นการปวดที่เกิดจากสาร Prostaglandin(โพรสตาแกลนดิน) ที่ร่างกายหลั่งออกมาในช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวมากขึ้น อาการปวดท้องประจำเดือนปฐมภูมิที่สังเกต เช่น ปวดบริเวณท้องน้อยในช่วงในช่วง 48 ชั่วโมง ก่อนมีประจำเดือน และจะคงอยู่ประมาณ 2 วันของการมีประจำเดือน, ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน และอาจร้าวไปถึงหลัง หรือต้นขาได้, ท้องเสีย ถ่ายเหลว มีอาการคลื่นไส้  อ่อนเพลีย เหนื่อย รวมถึงตรวจภายในแล้วไม่พบความผิดหรือโรคอื่นๆ

ปวดประเภททุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea)

อาการปวดท้องประจำเดือนทุติยภูมิคืออาการปวดท้องประจำเดือนที่มีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ การใส่ห่วงอนามัย และอื่น ๆ โดยมักมีอาการที่สังเกตได้ดังนี้ คือ ปวดท้องประจำเดือนรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ปวดจนนอนไม่ได้, กินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs หรือยาคุมกำเนิดแล้วอาการไม่ดีขึ้น ไม่ตอบสนองกับยา, อาการปวดประจำเดือนรุนแรงมากกว่าในอดีต หรือในอดีตไม่เคยปวดท้องประจำเดือนมาก่อน, ประจำเดือนมามาก หรือมาผิดปกติ, รู้สึกเจ็บ ปวด ขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือมีตกขาวที่มีสีหรือกลิ่นผิดปกติ

ลดปวดประจำเดือน

 

วิธีแก้อาการปวดท้องประจำเดือน ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ มีดังนี้

ประคบร้อนลดปวด

การประคบร้อนลดปวดเป็นวิธีแก้อาการปวดท้องประจำเดือนที่ง่ายที่สุด เพียงแค่ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณท้องน้อย หรือบริเวณที่ปวดท้องเมนส์ ความอุ่นจากประเป๋าน้ำร้อนจะช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น

ข้อมูลจากวารสาร American Journal of Obstetrics & Gynaecology พบว่าการประคบด้วยความร้อนที่ท้องน้อยได้ผลในการลดอาการปวดประจำเดือนธรรมดาพอ ๆ กับการกินยาแก้ปวดไอบูโปรเฟน หากใช้ทั้งความร้อนและกินยาไอบูโปรเฟน พบว่า ช่วยลดช่วงระยะเวลาที่เจ็บปวดลงเมื่อเทียบกับการกินยาไอบูโปรเฟนเพียงอย่างเดียวโดยไม่ใช้ความร้อน

ส่วนข้อมูลจาก Journal of Reproductive Medicine, Gynaecology & Obstetrics พบว่า การประคบด้วยความร้อนที่ท้องน้อยด้วยอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ติดต่อกันนาน 8 ชั่วโมงซึ่งคนไข้มักทนได้ ได้ผลดีกว่าการกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล

นวดท้อง

เราสามารถนวดด้วยตัวเองหรือใช้คนอื่นนวดให้ก็ได้ โดยกางมือออก นิ้วโป้งซ้ายจรดนิ้วโป้งขวา ใช้นิ้วโป้งทั้งสองกดลงที่ท้องน้อยเหนือหัวหน่าว ส่วนนิ้วมือที่เหลือกดลงบนกระดูกอุ้งเชิงกราน นับ 1 -10 จึงผ่อนการกด ค่อย ๆ ทำติดต่อกัน 10 ครั้ง จนการปวดทุเลาลง

นวดกล้ามเนื้อ

นวดกล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อบริเวณท้องน้อยที่ขนานกับกระดูกเชิงกราน กล้ามเนื้อท้องน้อยส่วนที่อยู่ต่ำกว่าสะดือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าและด้านหลัง น่องและข้อเท้าบริเวณเอ็นร้อยหวาย จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้

การนวดบริเวณหน้าท้อง เป็นศาสตร์แพทย์แผนไทยจะรักษาอาการปวดท้องประจำเดือน เป็นการเปิดทางให้เลือด และลม ไหลเวียนได้สะดวก มีการประคบร้อนด้วยลูกประคบสมุนไพร เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก และลดอาการปวด นอกจากนี้ก็ยังมีการเผายาหน้าท้องด้วยสมุนไพรสดร่วมด้วย เพื่อเป็นการกระจายลม และลดการปวด อักเสบของกล้ามเนื้อได้ดียิ่งขึ้น

ลดปวดประจำเดือน

หายใจลดปวด

การหายใจที่ถูกวิธีทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟินซึ่งมีฤทธิ์ต้านการเจ็บปวดและเมื่อกล้ามเนื้อผ่อนคลาย มีสมาธิ ทำให้อาการปวดประจำเดือนลดลง สามารถทำได้ทั้งท่านั่ง ท่ายืน และท่านอน ทำได้โดย

1. หายใจเข้านับ 1 -5 จนลมเต็มทรวงอก กลั้นไว้นับ 1 – 5 หายใจออกนับ 1 – 10 จนท้องแฟบ หายใจเข้า – ออกเท่ากับ 1 ชุด ทำทั้งหมด 10 ชุด

2. หายใจเข้านับ 1 -5 จนลมเต็มทรวงอก กลั้นไว้พร้อมเบ่งให้เต็มที่เหมือนจะทำให้มดลูกไหลออกมานับ 1 – 5 หายใจออกนับ 1 – 10 จนท้องแฟบ แล้วขมิบเกร็งเหมือนดึงมดลูกเข้าสู่อุ้งเชิงกราน ทำทั้งหมด 10 ชุด

3. หากได้ผลดี คุณจะรู้สึกอุ่นที่ส่วนล่าง แสดงว่าเลือดหมุนเวียนได้ดีและอาการปวดประจำเดือนมักจะลดลง

อย่างไรก็ตามการดูแลร่างกายที่เหมาะสมสามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนและส่งผลกระทบน้อยลงต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่หากมีอาการปวดท้องรุนแรงกว่าปกติ หรือมีอาการปวดท้องน้อยบริเวณด้านขวาแนะนำให้ไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นการปวดไส้ติ่ง หรือมาจากสาเหตุอื่นๆ นอกเหนือจากการปวดประจำเดือนปกติได้

(ที่มา : คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 502)


บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

อาการน่าห่วงของสาวๆ พวกหล่อนอยาก ฆ่าตัวตาย เพียงเพราะมีประจำเดือน

10 ข้อ “ประจำเดือน” ที่คุณอาจไม่เคยรู้

สาวๆ ต้องไม่พลาด อาหารแก้ปวดประจำเดือน

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.