NEW NORMAL

“NEW NORMAL ” ชีวิตวิถีใหม่ของ สว. ที่จะเปลี่ยนไปในหลายๆ ด้าน

“NEW NORMAL ” ชีวิตวิถีใหม่ของ สว. ที่จะเปลี่ยนไปในหลายๆ ด้าน

ตั้งแต่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาด หรืออโควิด-19 ครั้งแรกได้ระบาดและแพร่กระจายไปทั่วทั้งโลกในตอนนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรค ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแทบทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงานที่หลายคนจำเป็นต้อง Work From Home หรือต้องอยู่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อมากที่สุด ก็จำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคม

กรมการแพทย์ก็ได้เคยออกมาให้ข้อมูลแล้วว่ากลุ่มผู้ป่วย COVID-19 ในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุวัยทำงาน แต่กลุ่มที่มีการเสียชีวิตมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป โดยคิดเป็นร้อยละ 12.1 ขณะที่ผู้ป่วยอายุ 80-89 ปี จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 24 หรือหมายถึงคนอายุเกิน 80 ปี หากป่วย COVID-19 จำนวน 4 คน เสียชีวิต 1 คน

ดังนั้น จึงควรดูแลตามหลักการโดยเน้น 2 ส่วนคือ การป้องกันติดเชื้อ และป้องกันร่างกาย-สมองถดถอยช่วงเก็บตัวอยู่บ้าน ผ่าน 5 อ.คือ อาหาร เน้นรับประทานโปรตีนมากขึ้น, อารมณ์ พยายามอย่าเครียด, ออกกำลังกาย ภายในบ้าน เดินซอยเท้าอยู่กับที่ หรือแกว่งแขนไปมา, เอนกายพักผ่อน นอนพักผ่อนให้ได้วันละ 7-9 ชม. และออกห่างสังคมนอกบ้าน ไม่ออกไปนอกบ้าน หรือหากจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เสมอ

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า หลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พฤติกรรมของคนทั่วโลกจะเปลี่ยนไป จนกลายเป็น “New Normal” หรือ ชีวิตวิถีใหม่ขึ้น ในหลายๆ พฤติกรรมที่ไม่ว่าจะเป็น การใส่หน้ากากอนามัย ที่จากนี้ไปจะกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่จำเป็นว่าใส่เฉพาะตัวเองป่วยการหมั่นล้างมือบ่อยๆ หรือแม้แต่การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ “Social distancing” โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก

การหันมาสนใจสุขภาพอนามัยของส่วนรวมมากขึ้น การรับประทานอาหารที่ไม่ใช้ช้อน-ส้อมหรือแก้วน้ำร่วมกันรวมถึงการปรับเปลี่ยนธุรกิจและบริการต่าง ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะเน้นการซื้อ-ขายผ่านออนไลน์มากขึ้น การใช้เงินสดจะลดลง เพราะไม่ต้องการสัมผัสธนบัตรที่ผ่านหลายมือ การทำงานที่บ้าน หรือ Work from home หรือการเรียนผ่านออนไลน์จากบ้านจะกลายเป็นแนวทางปฏิบัติในอนาคต

โรคโควิด-19 ทำให้การใช้ชีวิตผิดไปจากปกติ ซึ่งระยะเวลานั้น อาจกินเวลาหลายเดือนและอาจจะเป็นปี สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า New Normal หรือความปกติในรูปแบบใหม่ ซึ่งหมายถึงบรรทัดฐานและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมจะไม่เหมือนเคย ส่วนจะเปลี่ยนแปลงด้านไหนบ้างโดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย เราลองไปดูกันค่ะ

 การใช้ชีวิต

มาตรการปิดเมืองทำให้ร้านอาหารหลายร้านต้องปิดชั่วคราว หลายคนกังวลเรื่องความสะอาดมากขึ้น จึงใช้ระยะเวลาในช่วงกักตัว หันมาหัดทำอาหาร หรือรื้อฟื้นฝีมืออีกครั้ง ทำให้ การนั่งรับประทานอาหารที่ร้านจะไม่เป็นที่นิยมเท่าแต่ก่อน แน่นอนว่าผลดีคือทำให้การใช้ชีวิตร่วมกันในบ้าน กลับมาอบอุ่นและมีความเข้าใจกันมากขึ้น

จากเดิมที่ผู้สูงอายุต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน แต่หลังจากนี้ ความตระหนักด้านสุขอนามัยที่มากขึ้นจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้คนจะหันมาเสพสื่อ ทำกิจกรรมผ่านทางออนไลน์ และใช้เวลาในโลกออนไลน์ยาวนานขึ้น

เรื่องของเทคโนโลยี

อย่างที่ได้บอกไปว่าโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้สูงอายุหันมาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น อินเทอร์เน็ตจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมากจนแทยจะขาดไม่ได้ ทุกอย่างจะทำงานผ่านระบบดิจิตอล ทั้งการจ่าย การโอน หรือการทำธุรกรรมต่างๆ การทำธุรกรรมออนไลน์จะกลายเป็นเรื่องปกติแทนที่การใช้เงินสด ซึ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องเรียนรู้

ด้านสาธารณสุข

สาธารณสุขกำลังถูกท้าทายจากโรคระบาด สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาการรักษาในรูปแบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ช่วยให้ผู้สูงอายุหรือผู้ที่เข้ารับบริการทางแพทย์สามารถติดต่อและรับการรักษา อย่างการติดต่อสอบถามแพทย์ผ่านระบบ video conference ได้แบบ real-time ที่บ้าน ข้อดีคือประหยัดเวลา ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการเดินทาง และการรอตรวจ ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อได้

อีกทั้งผู้คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น การรักษาสุขอนามัย เช่น การล้างมือ การใช้เจลแอลกอฮอล์ หรือการใส่หน้ากากอนามัยจะเป็นเรื่องปกติในสังคมยุคใหม่จะเป็น New Normal ที่จำเป็นกับทุกคน

ระบบเศรษฐกิจ

อีกหนึ่งด้านที่จะเปลี่ยนไปหลังโรคระบาด คือการขยายตัวของ E-commerce แม้จะเคยชินกับการซื้อสินค้าออนไลน์ แต่ยุคหลังจากนี้จะยิ่งทวีความนิยมมากขึ้น รวมไปถึงการซื้อของสด ผัก ผลไม้ออนไลน์ก็จะเติบโตมากขึ้น ในอนาคตผู้สูงอายุอาจจะได้เลือกช้อปของใช้ออนไลน์แบบถาวร แทนการไปเดินตลาดก็เป็นได้

จะเห็นได้ว่าเรื่องของ New Normal ที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 นั้นกมีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ผู้สูงอายุจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจเตรียมความพร้อมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น อย่าตื่นตระหนก น้อมรับและปรับตัวด้วยความเข้าใจ เพราะการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อาจนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าก็เป็นได้ค่ะ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

เลือกคอนโดผู้สูงอายุ อย่างไรให้เหมาะกับคนวัยเกษียณ

4 แพลตฟอร์ม ดูแลผู้สูงอายุ ใช้งานง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว

วัยเก๋ายุคดิจิทัล ทันสมัย ใส่ใจโลกโซเชียล

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.