8 สิ่งที่คุณทำได้ และควรทำหลังทำ บอลลูนหัวใจ
เมื่อไม่นานมานี้ผมเพิ่งเขียนถึงเรื่อง “ความเสี่ยงควรรู้ก่อนทำ บอลลูนหัวใจ” ไปแหม็บ ๆ เรียกได้ว่าพอเครื่องร้อนแล้วก็เลยอยากต่อก๊อกสอง ด้วยการเขียนเรื่องการดูแลตัวเองหลังทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ (PCI) อีกสักหน่อย จึงขอเล่าสู่กันฟังดังนี้
- ในสัปดาห์แรก ต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่รอยแทงเข็ม (การมีรอยฟกช้ำรอบ ๆ รอยแทงเข็มถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ภาวะแทรกซ้อน) ภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ (1) มีเลือดออกแล้วคั่ง (Hematoma) (2) เลือดเซาะจนผิวหนังโป่งขึ้นเป็นก้อน แล้วเต้นตุบ ๆ (Pseudoaneurysm) (3) เกิดการเชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดดำกับหลอดเลือดแดง (AV Fistula) จนเกิดเสียงฟู่ ๆ ขึ้น (4) ปลายแขนหรือปลายขาขาดเลือดไปเลี้ยง (Limb Ischemia) (5) เกิดการอักเสบติดเชื้อเป็นฝี (6) ลามไปเกิดฝีหรือเลือดคั่งที่หลังช่องท้อง (Retroperitoneal Hematoma) ซึ่งไปทำให้เกิดอาการปวดหลังหรือบั้นเอว หรือความดันตก จากการเสียเลือดเข้าไปในช่องหลังช่องท้องได้ ภาวะแทรกซ้อนทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้ 2 – 6 เปอร์เซ็นต์ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ในสัปดาห์แรกจึงไม่ควรออกกำลังกาย หรือยกของหนัก แต่ออกกำลังกายตามแผนการฟื้นฟูหัวใจได้
- การติดตามดูการทำงานของไต ซึ่งอาจเสียไปจากพิษของสารทึบรังสี ปัจจุบันห้องสวนหัวใจ ส่วนใหญ่ใช้สารทึบรังสีชนิด Non-ionic ซึ่งเป็นพิษต่อไตน้อย แต่ก็ยังมีพิษอยู่พอควร โดยเฉพาะในคนสูงอายุและคนเป็นโรคเบาหวาน หากเจาะเลือดดูครีเอตินีน ซึ่งบอกการทำงานของไต จะพบว่า การทำงานของไตจะทรุดลง 2 – 5 วันแรกหลังทำ แล้วจะค่อย ๆ กลับเป็นปกติใน 2 สัปดาห์ ในระยะ 2 สัปดาห์แรกนี้ การดื่มน้ำให้เพียงพอช่วยป้องกัน
ความเสียหายต่อไตได้ - การประเมินอาการเจ็บหน้าอกหลังทำ PCI เนื่องจากประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำ PCI จะมีอาการเจ็บหน้าอกหลังทำ เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกต้องไปหาหมอ เพื่อประเมินอาการร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ถ้าเจ็บหน้าอกไม่มาก และ ECG ปกติ ก็ช่วยยืนยันได้ว่าไม่มีอะไรซีเรียส
- การเฝ้าระวังภาวะกลับมาขาดเลือดอีก (Recurrent Ischaemia) ซึ่งอาจเกิดจาก (1) การกลับตีบใหม่ (Restenosis) ที่มักจะเป็นช่วง 3 – 12 เดือน (2) โรคดำเนินต่อไป โดยไปตีบที่หลอดเลือดอื่นอีก กรณีนี้มักเป็นเมื่อพ้น 12 เดือนไปแล้ว (3) กล้ามเนื้อ
หัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้นด้วยเหตุใดก็ตาม เช่น โลหิตจาง ลิ้นหัวใจตีบ ออกกำลังกายมากขึ้น เป็นต้น
แผนการเฝ้าระวังนี้แพทย์จะเป็นผู้แนะนำ ในรายที่มีความเสี่ยงต่อการกลับตีบใหม่สูง แพทย์อาจเฝ้าระวังด้วยการตรวจสมรรถภาพหัวใจ (EST) เมื่อครบ 6 เดือน แม้ว่าจะเป็นการตรวจที่ไม่ดีนัก เพราะมีความไวเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ หรือแพทย์อาจตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) ซึ่งทำได้โดยไม่ต้องกลัวขดลวดวิ่ง เพราะแรงแม่เหล็ก หรือกรณีที่ใส่ขดลวดไว้ที่จุดสำคัญ (Left Main) แพทย์อาจเฝ้าระวังโดยการสวนหัวใจฉีดสีดูซ้ำหลังทำ PCI ไปแล้ว 3 – 9 เดือนก็ได้ - การให้ยาป้องกันการกลับตีบใหม่ มาตรฐานปัจจุบันคือการให้ยาแอสไพรินควบกับคลอพิโดเกรล (พลาวิกซ์) ทุกราย นานอย่างน้อย 4 สัปดาห์ เนื่องจากมีข้อมูลใหม่เรื่องการกลับตีบแบบล่าช้า (Late Stent Thrombosis) แพทย์บางท่านจึงให้กินยาควบแบบนี้ไปนานถึง 1 ปี หลังจากนั้นก็ให้แต่แอสไพรินตัวเดียวไปตลอดชีวิต
ในกรณีพิเศษที่มีการผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียมด้วย แพทย์อาจให้ตัวที่สามคือยาวาร์ฟารินเสริมเข้าไปด้วย - การจัดการหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งหากเกิดขึ้น แพทย์ต้องเลือกใช้ยาอย่างระมัดระวัง
ยากั้นเบต้าเป็นตัวเลือกที่ใช้ได้อย่างปลอดภัย ส่วนยา Amiodarone ซึ่งเป็นยายอดนิยมนั้นก็ใช้ได้อย่างปลอดภัย ถ้าไม่มีหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย แต่ว่ายานี้ไม่ได้ทำให้อัตราการตายลดลงแต่อย่างใด - การจัดการภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อเกิดหัวใจล้มเหลวขึ้น หมายถึงมีอาการหอบเหนื่อย
หายใจไม่อิ่ม นอนราบไม่ได้ บวม แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาในกลุ่ม ACEIs ร่วมกับยาขับปัสสาวะในกลุ่มยาต้าน Aldosterone เฉพาะรายที่ทนยา ACEIs ไม่ได้ จึงจะใช้ยา
ในกลุ่ม ARB แทน - การป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดไม่ให้เป็นมากขึ้นไปกว่าเดิม (Secondary Prevention) ได้แก่ การปรับวิถีชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงของโรคลงกล่าวคือ
(1) เลิกบุหรี่
(2) ลดการดื่มแอลกอฮอล์
(3) ออกกำลังกายให้ถึงระดับเหนื่อยพอควร วันละอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 5 วัน
(4) ปรับโภชนาการให้มีสัดส่วนของผักผลไม้สูง และมีส่วนของแคลอรี ไขมัน และเกลือต่ำ
(5) ถ้าไขมันในเลือดยังสูงอยู่ ต้องใช้ยาลดไขมันในเลือด โดยมีจุดที่จะต้องใช้ยาต่ำกว่าคนทั่วไปกล่าวคือ หากไขมัน LDL สูงเกิน 100 ก็เริ่มใช้ยาแล้ว
(6) ถ้าความดันโลหิตยังสูงอยู่ก็ใช้ยาลดความดัน โดยมีจุดที่จะใช้ยาต่ำกว่าคนทั่วไป กล่าวคือ ถ้าความดันโลหิตเกิน 140/80 มิลลิเมตรปรอท ก็เริ่มใช้ยาแล้ว
(7) วางแผนชีวิตใหม่ ให้มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ และจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม
หลายข้ออาจต้องปล่อยเป็นหน้าที่ของแพทย์ แต่สำหรับข้อ 8 คุณทำเองได้ง่าย ๆ เชื่อสิ
เรื่อง นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ
ชีวจิต 454 – FREE 84 TIPS FOR NEW AGING
นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 กันยายน 2560
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทความน่าสนใจอื่นๆ
มารู้จักโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันกันเถอะ