8 วิธีสร้างสุขของคน หูตึง
ภาวะ หูตึง ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้สูงวัย แต่ก็น่าแปลกใจว่า ทำไมคนไทยจึงเรียกหูที่ไม่ใคร่ได้ยินว่า “หูตึง” ก็ไม่ทราบ แต่หากเปรียบเทียบกับอวัยวะอื่นๆ เช่น ผิวหนัง ใบหน้า ที่ตึงแล้วนั้น เรากลับหมายถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมา จนแอบอดนึกน้อยใจแทนหูของคนเราเสียไม่ได้
อาการหูตึง หรือประสาทการได้ยินเสื่อม เป็นปัญหาที่พบมากในวัยผู้สูงอายุ จากการสำรวจพบว่า คนวัย 60 ปีจะมีคนที่มีปัญหาการได้ยินประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ โดยมักเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบางครั้งผู้สูงอายุบางคนก็อาจไม่รู้ตัวว่ามีปัญหานี้
ภาวะหูตึง เกิดจากมีการเสื่อมและตายของเซลล์ในช่องหู รวมถึงประสาทบริเวณหูชั้นในค่อยๆ สึกกร่อนหรือฉีกขาดไป หลังจากรับฟังเสียงมาเป็นเวลานานตลอดชีวิต และหากมีอาการรุนแรง นอกจากผลกระทบทางด้านร่างกายแล้ว การไม่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้อย่างเป็นปกติยังมีผลกระทบทางด้านจิตใจได้อีก
อาการเริ่มแรกที่เกิดขึ้นได้คือ จะไม่ค่อยได้ยินเสียงแหลมๆ หรือเสียงที่มีความถี่สูง เช่น เสียงผู้หญิงหรือเสียงดนตรีคีย์สูงๆ หรือในสถานที่ซึ่งมีเสียงอื่นรบกวน ก็อาจฟังคนพูดไม่เข้าใจ จนบางทีต้องเงี่ยหูฟังกัน
ถึงแม้ปัญหาหูตึงในวัยชรา จะยังไม่มีทางรักษาให้หายได้แต่การใช้เครื่องช่วยฟังจะช่วยทำให้คุณได้ยินดีขึ้น นอกจากนี้เรายังมี 8 แนวทางการปฏิบัติตัวของผู้หูตึง เพื่อช่วยให้อยู่ในสังคมนี้ได้อย่างมีความสุข มาฝากกัน ดังนี้ค่ะ
1. บอกกล่าวให้คนใกล้ชิดรับรู้ อธิบายให้เพื่อนๆหรือญาติได้รับรู้ปัญหานี้ไว้ก่อน
2. ลดเสียงรอบๆตัว เพื่อไม่ให้สับสนปนเปกับเสียงที่คุณจะพูด โดยการปิดเสียงรบกวน เช่น วิทยุหรือโทรทัศน์ หรือใช้สถานที่เงียบๆ ในการสนทนากัน
3. อย่าตะโกน คนหูตึงมักพูดเสียงดังเกินความจำเป็นจนเป็นที่ผิดสังเกตของคนรอบข้าง ซึ่งในบางครั้งอาจทำให้เสียงแหบและเป็นที่มาของโรคเกี่ยวกับกล่องเสียงขึ้นได้
4. อย่าพูดพึมพำ พยายามพูดให้ชัดถ้อยชัดคำ
5. พูดช้าๆและสบตากับคู่สนทนาทุกครั้ง เพื่อตรวจสอบความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างคุณกับคู่สนทนาในขณะที่คุณกำลังพูด
6. เลือกยืนหรือนั่งพูดคุยในตำแหน่งที่ดี เพื่อให้คู่สนทนาเห็นปากของคุณได้อย่างชัดเจน
7. ลองเปลี่ยนรูปประโยคใหม่ หากคู่สนทนายังไม่เข้าใจสิ่งที่คุณพูด
8. อย่าทำหน้าตาประกอบคำพูดเกินจริง เพราะอาจจะยิ่งทำให้คู่สนทนาสับสนได้
ที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกๆ หลานๆ ปฏิบัติต่อผู้สูงวัยที่มีภาวะหูตึงอย่างเข้าใจ เช่น เวลาพูดกับคุณตาคุณยายต้องเข้ามาใกล้ๆ ท่าน พูดช้าและดังกว่าธรรมดา อย่าหงุดหงิด และถ้าคุณตาคุณยายจะขอให้พูดซ้ำอีกครั้ง ก็ควรพูดด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนและชัดเจน เพราะการพูดซ้ำดังๆ ด้วยความหงุดหงิดของเจ้าของเสียง อาจทำให้คนแก่พานน้อยใจไปได้ เพราะสายสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัวเริ่มต้นจากความรักและความเข้าใจเป็นสำคัญค่ะ
ข้อมูลจาก คอลัมน์เกร็ดสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 187
บทความน่าสนใจอื่นๆ
น้ำในหูไม่เท่ากัน ไม่เป็นก็ต้องอ่าน