ผักไฮโดรโปนิกส์, ไฮโดรโปนิกส์, กินผักไฮโดรโปนิกส์, ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์, ผัก

ตอบทุกปัญหาคาใจ ไฮโดรโปนิกส์ VS ออร์แกนิก

ตอบทุกปัญหาคาใจ

ไฮโดรโปนิกส์ VS ออร์แกนิก

 

หลายคนยังคงสับสนและไม่แน่ใจ ในความหมายของพืชผักผลไม้ที่ปลูกด้วยวิธี ไฮโดรโปนิกส์ และออร์แกนิก ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ยิ่งถามจากผู้ขายยิ่งสับสน ลำพังค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็เกรงว่าจะได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

ชีวจิตช่วยได้ค่ะ เพราะจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับความหมาย วิธีการปลูก พร้อมแสดงปริมาณสารเคมีตกค้างในการปลูกพืชผักแต่ละวิธีให้เห็นกันชัด ๆ เพื่อให้คุณผู้อ่านได้ร่วมตัดสินว่าวิธีใดให้ผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด มาร่วมหาคำตอบเพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองและครอบครัวกันค่ะ

 

เช็กนิยาม

ไฮโดรนิกส์ & ออร์แกนิก

ดร.วิลเลียม เอฟ เกอร์ริค (Dr. William F. Gericke) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เป็นคนแรกที่สาธิตให้เห็นว่า สามารถปลูกพืชในน้ำผสมสารละลายจนสามารถผลิตในเชิงการค้า และเป็นผู้ตั้งชื่อวิธีการปลูกนี้โดยนำภาษากรีก 2 คำ คือ “hydro” หมายถึงน้ำ และ“ponos” หมายถึงงาน มารวมกันเป็นคำว่า ไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) ซึ่งหมายถึงการทำงานของน้ำ

วารสารมหาวิทยาลัยเฉลิมพระเกียรติวิชาการ ให้คำนิยามคำว่าไฮโดรโปนิกส์เพิ่มเติมว่า เป็นการปลูกที่ใช้น้ำแทนดิน โดยผสมสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชลงในน้ำ รากพืชที่สัมผัสน้ำจะดูดซึมสารอาหารมาเก็บสะสมไว้ที่ใบ ส่วนรากที่ไม่ได้สัมผัสน้ำจะทำหน้าที่รับออกซิเจน ผักที่นิยมใช้วิธีปลูกประเภทนี้มักเป็นผักสลัดพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งต้องนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ

ส่วนคำว่า ออร์แกนิก (Organic) มีความหมายตามตัวว่าอินทรีย์ หลายคนคุ้นหูกับคำว่าผักออร์แกนิกหรือผักเกษตรอินทรีย์มากกว่า โดยหมายถึงผักที่ปลูกด้วยวิธีธรรมชาติไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ (GMOs) ไม่ใช้สารเคมี ทั้งปุ๋ยเคมี ยาปราบวัชพืช ยาฆ่าแมลง และฮอร์โมนต่าง ๆ

เน้นวิธีปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักปุ๋ยชีวภาพ ส่วนการกำจัดศัตรูพืชจะใช้พืชจากธรรมชาติ เช่น สะเดา โล่ติ๊น หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่าหางไหล เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารกำจัดศัตรูพืชเพื่อทดแทนสารเคมีอันตรายจึงปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งผู้ปลูก ผู้กิน และสิ่งแวดล้อม

ผักและผลผลิตออร์แกนิกนี้ต้องได้รับการทดสอบและผ่านการรับรองจากองค์การตรวจสอบอิสระ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการรับรอง (Accredited) ของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (Inter-national Federation of Organic AgricultureMovements; IFOAM)

ไฮโดรโปนิกส์, ผักไฮโดรโปนิกส์, ผัก, ผักปลอดสารพิษ, ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์
ผักไฮโดรโปนิกส์ ปลูกโดยใช้น้ำผสมสารอาหารที่จำเป็นต่อพืชแทนดิน

ไฮโดรโปนิกส์ ปลูกอย่างไรเมื่อไร้ดิน

หลายคนคงสงสัยว่า แท้จริงแล้วการปลูกพืชในน้ำสารละลายนั้นทำได้อย่างไร มีอันตรายหรือไม่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ ทองเกตุภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร วิทยาเขตกำแพง-แสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า

พืชเจริญเติบโตอยู่ในดินได้เพราะรากพืชได้รับสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต 4 ประการ ได้แก่พื้นที่ให้รากยึดเกาะเพื่อทรงต้นขึ้นเหนือดิน น้ำแร่ธาตุอาหาร สุดท้ายคือออกซิเจนหรืออากาศที่รากใช้หายใจ เมื่อรู้ดังนี้หากสามารถหาสิ่งจำเป็น 4 ประการให้รากพืชได้ก็สามารถปลูกพืชด้วยสิ่งรองรับใด ๆ ก็ได้โดยไม่ต้องพึ่งดิน

สำหรับวิธีการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ “น้ำ” คือสิ่งรองรับที่เหมาะสมที่สุดเพราะรากพืชต้องการทั้งน้ำ แร่ธาตุอาหารที่ละลายน้ำ และอากาศ เพื่อดูดซึมผ่านรากขึ้นไปเลี้ยงลำต้นและใบ ปัจจัยเหล่านี้สามารถเติมลงในน้ำได้ทั้งหมดนอกจากนี้น้ำยังสามารถพยุงลำต้นพืชให้ลอยขึ้นได้

การปลูกพืชด้วยวิธีนี้ ผู้ปลูกจะเป็นผู้กำหนดปริมาณน้ำและธาตุอาหารที่พืชได้รับเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต โดยเตรียมแร่ธาตุอาหารที่มีลักษณะเป็นผง ละลายน้ำให้ได้สารละลายที่มีแร่ธาตุอาหารชนิดเดียวกับที่พืชต้องการจากดิน ต่างกันเพียงแร่ธาตุอาหารที่ละลายอยู่ในสารละลายนี้มีลักษณะเป็นประจุ รากพืชสามารถดูดซึมแร่ธาตุอาหารไปใช้ได้ทันทีไม่ต้องรอจุลินทรีย์ในดินย่อยสลาย จึงใช้เวลาในการเจริญเติบโตที่รวดเร็วกว่า ได้ปริมาณผลผลิตที่แน่นอนกว่าการปลูกพืชแบบใช้ดิน

ผักไฮโดรโปนิกส์, ไฮโดรโปนิกส์, ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์, ผัก, กินผักไฮโดรโปนิกส์
กินผักไฮโดรโปนิกส์ ที่ปลูกโดยใช้สารไนเตรตมากเกินไป เสี่ยงเป็นมะเร็ง

ข้อสงสัยเกี่ยวกับผักไฮโดรโปนิกส์

หลายคนแคลงใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของผักไฮโดรโปนิกส์ เพราะเห็นได้ชัดว่า ผักไฮโดรโปนิกส์ปลูกโดยให้รากสัมผัสกับสารละลายธาตุอาหาร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งตลอดเวลา จึงคาดว่าพืชอาจสะสมสารเคมีเหล่านั้นจนเกิดอันตรายต่อผู้บริโภค

โดยเฉพาะสารไนเตรต อนุมูลของไนโตรเจนที่มีอยู่มากในสารละลายธาตุอาหาร เพราะมีรายงานว่า สารไนเตรตเป็นอันตรายต่อร่างกาย หากกินในปริมาณมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง ทั้งนี้ผู้ที่มีปฏิกิริยาไวต่อสารชนิดนี้อาจเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ตัวเขียวหายใจลำบาก หมดสติ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจมีอันตรายถึงชีวิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า

“ไนเตรตเป็นอนุมูลของไนโตรเจนที่พืชต้องการมากช่วงพัฒนาด้านลำต้น กิ่งใบหากเราเก็บเกี่ยวพืชที่อยู่ในช่วงพัฒนาด้านลำต้น ไม่ว่าจะปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์หรือปลูกในดิน ก็จะพบว่ามีไนเตรตอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่หากมีไม่เกิน 2,500 -3,000 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัมของน้ำหนักผักสด นับว่าปลอดภัยตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป

“การปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ที่ดีต้องมีการควบคุมระดับความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหารที่เหมาะสมทุกวัน หากพืชมีการเจริญเติบโตและสังเคราะห์แสงเป็นปกติ โอกาสที่จะเกิดการสะสมไนเตรตจนถึงระดับที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคจึงไม่น่าเกิดขึ้น และยังสามารถลดไนเตรตก่อนเก็บเกี่ยวได้ง่าย ๆ โดยการงดให้ธาตุอาหาร 1 – 2 วันก่อนเก็บเกี่ยว”

ผักออร์แกนิก, ออร์แกนิก, ผักปลอดสารพิษ, ผัก, ไฮโดรโปนิกส์
ผักออร์แกนิก เป็นผักที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี มีความปลอดภัยสูง

ออร์แกนิกดีที่สุด ปลอดสารเคมีและฮอร์โมน

“ผักออร์แกนิกเป็นผักที่น่าจะปลอดจากสารเคมีมากกว่าผักสดที่ผลิตด้วยระบบอื่น” อาจารย์นันทิรา หงษ์ศรีสุวรรณ์คณะสาธารณสุขศาสตร์และสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ แสดงทัศนะต่อเรื่องนี้ไว้ในบทความเรื่อง “ความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างในผักปลอดสาร”ว่า กรมส่งเสริมการเกษตร กองป้องกันและกำจัดศัตรูพืช จำแนกผักปลอดสารไว้4 ประเภท ได้แก่ ผักไฮโดรโปนิกส์ ผักออร์-แกนิก ผักปลอดสารพิษ และผักอนามัยแต่เมื่อพิจารณากระบวนการผลิตผักปลอดสารแต่ละชนิดพบว่า ผักออร์แกนิกคือผักชนิดเดียวที่ไม่ใช้สารเคมี ทั้งยาฆ่าแมลงยาปราบวัชพืช ปุ๋ยเคมี และฮอร์โมน

ผักไฮโดรโปนิกส์และผักปลอดสารพิษไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและยาปราบวัชพืช แต่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและฮอร์โมน เพื่อเร่งผลผลิตโดยควบคุมไม่ให้มีสารเคมีตกค้างเกินปริมาณที่กำหนด ส่วนผักอนามัยใช้ครบทั้งยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช ปุ๋ยเคมี และฮอร์โมน โดยสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช จะมีพิษตกค้างในระยะสั้นและมีขั้นตอนหยุดฉีดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวตามเวลาที่กำหนด

นอกจากนี้หนังสือการทำเกษตรประยุกต์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงไม่ใช้สารเคมีและฮอร์โมนใด ๆ แต่การปลูกผักออร์แกนิกหรือการทำเกษตรอินทรีย์ที่สมบูรณ์แบบนั้นในดิน น้ำ และอากาศต้องไม่มีสารดังกล่าวตกค้างอยู่ด้วย โดยการทำเกษตรอินทรีย์ต้องเลือกพื้นที่ที่ไม่เคยผ่านการทำเกษตรเคมีมาก่อน หรือเว้นจากการทำเกษตรอินทรีย์มาอย่างน้อย 3 ปี

ควรเลือกพื้นที่ดอน โล่งแจ้ง อยู่ห่างแหล่งที่อาจได้รับสารเคมีหรือสารพิษ เช่นโรงงานอุตสาหกรรม แปลงปลูกพืชที่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี และถนนหลักที่อาจมีมลพิษจากไอเสียรถยนต์ปนเปื้อนในอากาศ ทั้งนี้ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่ปลอดจากสารเคมีและสารมีพิษด้วย

ปลูกผักออร์แกนิก, ออร์แกนิก, ผักออร์แกนิก, ผักปลอดสารพิษ, ไฮโดรโปนิกส์
ปลูกผักออร์แกนิก ช่วยให้ผู้ปลูกและผู้กินมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจากสารเคมี

ปลูกออร์แกนิก ปลูกสิ่งแวดล้อม

ไม่ใช่ปลูกเพียงผัก แต่การทำเกษตรอินทรีย์ยังหมายรวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและทำให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกด้วย โดยหนังสือการทำเกษตรประยุกต์เน้นหลักสำคัญ4 ข้อของการเกษตรอินทรีย์ คือ ต้องคำนึงถึงวิธีปลูก สุขภาพ นิเวศวิทยา ความเป็นธรรม และการดูแลเอาใจใส่

การปลูกพืชด้วยวิธีนี้เน้นการปรับปรุงดินด้วยผลผลิตจากธรรมชาติและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยชีวภาพไม่เผาตอซัง และใช้วิธีปลูกพืชผสมผสานหลายชนิดเพื่อให้พืชแต่ละชนิดเกื้อกูลกัน

ข้อดีนอกเหนือจากให้ผลผลิตปริมาณมากและคุณภาพดีคือ ทำให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์กว่า ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ช่วยให้ผู้ปลูกและผู้กินมีสุขภาพที่ดี ไม่เสี่ยงต่อการเกิดสารพิษสะสมในร่างกายเหมือนกับการปลูกพืชที่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี และยากำจัดศัตรูพืช จึงนับว่าการทำเกษตรอินทรีย์ช่วยสร้างสมดุลให้กับธรรมชาติ สามารถนำไปสู่ระบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน มั่นคง และปลอดภัย

ไม่ว่าเลือกกินผักด้วยการปลูกระบบใด สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ กินให้หลากหลาย เลือกซื้อชนิดที่มีตรารับรองมาตรฐาน และล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนกิน เท่านี้ก็หมดห่วง สุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยไร้กังวล

จาก คอลัมน์มื้อสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 422 (1 พฤษภาคม 2559)

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.