โรคฮันนีมูน, ขัดเบา, แก้ขัดเบา, ชาสมุนไพรแก้ขัดเบา, ปัสสาวะกะปริดกะปรอย

สูตรชาสมุนไพร แก้ขัดเบา

จิบชาสมุนไพร แก้ขัดเบา

เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักอาการขัดเบา เป็นอาการที่รบกวนชีวิตประจำวันอยู่ไม่น้อย วันนี้ผู้เขียนจึงนำเอาสูตรชาสมุนไพร แก้ขัดเบา มาฝากคุณผู้อ่านค่ะ

ขัดเบา…ทางเดินปัสสาวะป่วย

ปกติแล้วคนเราจะถ่ายปัสสาวะวันละ 4 – 6 ครั้ง ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ดื่มเข้าไป ผู้ที่มีอาการขัดเบาจะถ่ายปัสสาวะบ่อยแต่กะปริดกะปรอย ร่วมกับมีอาการปวดขัดหรือปวดแสบเวลาถ่ายปัสสาวะ ปวดบริเวณหัวหน่าวเวลาปัสสาวะใกล้จะสุด และมักจะรู้สึกว่าถ่ายปัสสาวะไม่สุดตลอดเวลา คนที่มีอาการรุนแรงจะปวดบริเวณท้องน้อยร่วมด้วย

อาการขัดเบาพบได้บ่อยในผู้หญิงสาเหตุที่พบบ่อยคือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (cystitis) กระเพาะปัสสาวะอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีช่วงของท่อปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชายมาก ยิ่งท่อปัสสาวะสั้นมากเท่าไร ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเท่านั้น เพราะเชื้อโรคจะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่าย โดยเฉพาะเชื้อที่พบในอุจจาระ หรือจากช่องทวารหนักที่อยู่ด้านหลัง เช่น เชื้อ อี.โคไล (Escherichiacoli – E.coli) นอกจากนี้การอั้นปัสสาวะนานๆ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรืออาการต่อมลูกหมากโตก็ทำให้เกิดอาการขัดเบาขึ้นได้

เรื่องน่ารู้สำหรับผู้หญิงที่แต่งงานใหม่ๆ หรือผู้หญิงที่ร่วมเพศครั้งแรกๆ ก็อาจมีอาการขัดเบาได้ เนื่องจากได้รับการกระทบ-กระเทือนจนเกิดการฟกช้ำ การอักเสบหรือมีการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ อาการที่เป็นนี้เรียกว่า โรคฮันนีมูน

โรคฮันนีมูน, ขัดเบา, แก้ขัดเบา, ชาสมุนไพรแก้ขัดเบา, ปัสสาวะกะปริดกะปรอย
อาการขัดเบาพบได้บ่อยในผู้หญิงที่เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ป้องกันได้หากใส่ใจดูแล

อาการขัดเบาสามารถป้องกันได้ง่ายๆ ด้วยการเอาใจใส่ในเรื่องสุขอนามัยและปฏิบัติตัวดังนี้

-ไม่อั้นปัสสาวะ เพราะการอั้นปัสสาวะทำให้เชื้อโรคอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานจนสามารถเจริญพันธุ์ได้ ทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายขึ้น ฝึกถ่ายปัสสาวะในห้องน้ำนอกบ้าน หรือระหว่างเดินทางได้ทุกที่

-หลังถ่ายอุจจาระ ให้ใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลัง เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะ

-เลือกใส่กางเกงในจากผ้าฝ้าย ไม่ใส่กางเกงรัดรูปเป็นเวลานาน

-หลีกเลี่ยงการใช้สารที่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ผ้าอนามัยแบบสอด น้ำยาฆ่าเชื้อ สเปรย์ดับกลิ่น น้ำยาสวนล้าง

-กินอาหารที่มีกาก เช่น ผัก ผลไม้ เพื่อป้องกันท้องผูกจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

-สำหรับการป้องกันอาการขัดเบาหลังการมีเพศสัมพันธ์ (โรคฮันนีมูน) ป้องกันได้โดยดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนและหลังร่วมเพศและปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ ที่สำคัญคือ ทั้งสองฝ่ายต้องใส่ใจเรื่องความสะอาด

ชาสมุนไพรแก้ขัดเบา

สำหรับผู้ที่มีอาการขัดเบาไม่รุนแรงหรือเริ่มมีอาการเบื้องต้นให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยขับเชื้อโรคออกและลดอาการปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ

นอกจากนั้นแล้วขอแนะนำให้ชงชาสมุนไพรดื่มควบคู่กันไปด้วย ซึ่งสมุนไพรส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานที่แนะนำให้ใช้ขับปัสสาวะ มีสรรพคุณบรรเทาอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ สมุนไพรที่แนะนำได้แก่

เถาวัลย์เปรียง นำมาหั่นเป็นแว่นๆ แล้วคั่วให้หอม ชงน้ำดื่ม ดื่มได้อร่อยและเป็นยาด้วย ช่วยให้ปัสสาวะคล่องและแก้ขัดเบา

กระเจี๊ยบ นำกลีบดอกตากแห้งมาบดเป็นผง 3 กรัม (ประมาณ 1 ช้อนชา) ชงกับน้ำ 1 ถ้วย (300 ซีซี) ดื่มวันละ 3 ครั้งติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการขัดเบาจะหายไป

หญ้าหนวดแมว ต้มใบและก้านแห้งครั้งละ 1 หยิบมือ (4 – 5 กรัม) กับน้ำ 750 มิลลิลิตร (ประมาณ 1 ขวดน้ำปลา) โดยต้มน้ำให้เดือด ใส่หญ้าหนวดแมวแล้วยกหม้อลงจากเตา ปิดฝาหม้อทิ้งไว้ 15 – 20 นาที รินเฉพาะน้ำใสๆ มาดื่ม

ตะไคร้ ใช้ต้นแก่หรือเหง้าแก่หั่นเป็นแว่นพอประมาณ (หากใช้ต้นหรือเหง้าสดให้ใช้ 40 – 60 กรัม ต้นหรือเหง้าแห้งใช้ 20 – 30 กรัม) ชงหรือต้มกับน้ำ 75 ซีซี ดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

สับปะรด นำต้นแก่หรือเหง้าแก่มาหั่นเป็นแว่นพอประมาณ (สด 200 – 250 กรัม แห้ง 100 – 150 กรัม) ต้มกับน้ำ 250 ซีซี ดื่มวันละ 75 ซีซี 3 เวลา ก่อนอาหาร

หญ้าคา นำรากแก่มาหั่นเป็นแว่นพอประมาณ หากใช้รากสด ให้ใช้ 40 – 60 กรัม รากแห้งใช้ 10 – 15 กรัม ต้มกับน้ำ 400 ซีซี ดื่มครั้งละ 75 ซีซี วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร (ผสมตะไคร้ลงไปด้วยก็ได้)

ขลู่ ใช้ใบสด 40 – 50 กรัม หรือใบแห้ง 15 – 20 กรัม ต้มกับน้ำ 400 ซีซี ดื่มครั้งละ 75 ซีซี วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

อ้อยแดง ใช้ต้นแก่ สดหรือแห้ง วันละ 1 กำมือ (ลำต้นสดหนัก 70 – 90 กรัม หรือใช้ลำต้นแห้งหนัก 30 – 40 กรัม) หั่นเป็นแว่นหรือสับเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำ จะได้ยารสขมๆ หวานๆ แบ่งดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 ซีซี) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

โรคฮันนีมูน, ขัดเบา, แก้ขัดเบา, ชาสมุนไพรแก้ขัดเบา, ปัสสาวะกะปริดกะปรอย

อาการปัสสาวะผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์

* ถ่ายปัสสาวะไม่ออกเลย

* ปัสสาวะแสบขัดหรือมีหนอง

* มีปัสสาวะออกมากร่วมกับอาการกระหายน้ำผิดปกติ

* อาการปัสสาวะแสบขัดรุนแรงหรือเป็นนานกว่า 2 – 3 วัน หรือหากเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษาเชื้อโรคอาจลุกลาม ทำให้กรวยไตอักเสบได้

* ปวดท้องน้อย หรือในผู้ชายมีอาการปวดฝีเย็บ (ผิวหนังที่อยู่รอบๆอวัยวะเพศและทวารหนัก)

* ปัสสาวะเป็นสีชมพู ขุ่น หรือมีเลือดปน

* อาการปัสสาวะลำบากเกิดกับทารกหรือเด็กเล็ก

อ้างอิง

อุทัยวรรณ วิสุทธากุล, บรรณาธิการ. รักษาโรคด้วยวิธีธรรมชาติ.กรุงเทพฯ: รีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทย), 2546.

ขอขอบคุณ

หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

อุ้งเชิงกราน แข็งแรง ด้วย 2 ท่าง่ายเลี่ยงปัสสาวะเล็ด

9 EASY WAYS หยุดปัญหาปัสสาวะเล็ดอยู่หมัด

ปัสสาวะ-อุจจาระ เพื่อนซี้ ชี้สุขภาพ

ป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.