ชิคุนกุนยา โรคร้ายจากยุงลาย
นอกจากไข้เลือดออกแล้ว ยุงลายยังเป็นพาหะของอีกหนึ่งโรคร้ายที่แม้ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน รวมถึงว่าถ้าเป็นแล้วมีโอกาสที่จะปวดข้อเรื้อรังจนถึงต้องห่อตัวด้วยความปวดและหนาวสั่น โรคที่เรากำลังพูดถึงคือ ชิคุนกุนยา
ชิคุนกุนยา เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยมียุงลายสวน (Aedes albopictus) และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะ เกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ทุกวัย โดยอาการในเด็กจะไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่ พบครั้งแรกบริเวณหมู่เกาะคาริบเบียน ก่อนแพร่หลายไปทั่วโลก
อาการของโรค
- มีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 วัน
- มีอาการไข้สูงฉับพลันประมาณ 2 วัน
- ขึ้นผื่นแดง ตาแดง
- ปวดตามข้อ โดยเฉพาะข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า บางรายอาจปวดเรื้อรัง และเดินตัวงอได้เป็นปีๆ หลังหายจากโรคแล้วก็ตาม
การติดต่อของโรค ชิคุนกุนยา
- ติดต่อผ่านการโดนยุงที่มีเชื้อกัด
- ผ่านทางการให้เลือด
- ผ่านทางมารดาที่ตั้งครรถ์ไปสู่ทารกแรกคลอดได้
แต่ในปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยที่ติดต่อผ่านทางการให้เลือด และจากมารดาสู่บุตร
ชิคุนกุนยา vs. ไข้เลือดออก
ชิคุนกุนยา
- เกิดไข้ขึ้นฉับพลัน และหายในเวลา 2 วัน
- ปวดตามข้อเล็กๆ เช่น ข้อนิ้ว ข้อมือ
- ผื่นขึ้นบริเวณลำตัว และแขนขา
- อาจปวดข้อเรื้อรัง
ไข้เลือดออก
- ไข้ขึ้นสูง 3-4 วัน
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และใบหน้า
- อาจมีอาการแทรกซ้อนเช่น ช็อค หายใจลำบาก เลือดออกเป็นจำนวนมาก
การรักษา
นอกจากจะยังไม่มีวัคซีนแล้ว ในปัจจุบันก็ยังไม่มียารักษาโรคโดยตรง ทำได้เพียงการรักษาตามอาการ เช่นยาลดปวด ลดไข้ การพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
สำหรับการป้องกันโรคมีหลักปฎิบัติเหมือนโรคไข้เลือดออก คือป้องกันการโดนยุงกัด ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของยุง รวมถึงใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด
ข้อมูล โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงพยาบาลกรุงเทพ-พัทยา
ข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ