ดราม่า, โรคซึมเศร้า, ซึมเศร้า

ข่าวดราม่า ทำป่วยโรคซึมเศร้า

ดราม่า หนักเสี่ยงกระตุ้นซึมเศร้ากำเริบ จิตแพทย์ย้ำเสียชีวิตได้

ดราม่า ในโลกออนไลน์ชั่งหอมหวานมาก อาจถูกจริตใครหลายๆคน เเต่ทว่าเสพย์ หรืออินจัดมากไป อาจทำให้เรามีอารมณ์ร่วม ราวกับว่าตัวเองอยู่ในเรื่องราวนั้น ไม่วายนานๆเข้าอาจมีอาการซึมเศร้าได้ หรือคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่เเล้วยิ่งกระตุ้นอาการให้รุนเเรงขึ้น ซ้ำร้ายอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต จากการเสพย์ข่าวดราม่าได้

กระเเสโลก(โรค)ซึมเศร้า

องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดประมาณว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ทำให้เกิดความสูญเสียเป็นอันดับ 2 ในปัจจุบัน รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และคาดว่าปี 2030 โรคซึมเศร้าจะทำให้เกิดการสูญเสียสูงขึ้นเป็นอันดับที่หนึ่ง

โรคซึมเศร้า, ดราม่า, ซึมเศร้า
Beautiful young woman relaxing on the sofa at home, watching tv and enjoying coffee

รองศาสตราจารย์ นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายผ่านทางสื่อต่างๆ ว่าหลังจากมีการเผยแพร่ข่าวการฆ่าตัวตายทางสื่อออกไปก็มักจะมีข่าวการฆ่าตัวตายเหมือนเป็นพฤติกรรมเลียนแบบตามมาในช่วงเวลานั้นๆ ความจริงการเสนอข่าวการฆ่าตัวตายคงไม่ได้ทำให้ทุกคนที่ติดตามข่าวเกิดความคิดฆ่าตัวตาย แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจ เช่น ความรู้สึกเศร้าหมอง หดหู่ เป็นต้น และจะมีผลกระทบมากต่อบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว

โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง โดยทั่วไปพบได้ถึงร้อยละ 3-5 ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง คนที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงมักจะมีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอยู่แล้ว เมื่อได้รับรู้ข่าวการฆ่าตัวตายในโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะการเสนอข่าวในลักษณะที่กล่าวว่าการฆ่าตัวตายสามารถจบปัญหาต่างๆ ได้ ก็อาจไปกระตุ้นให้เขาตัดสินใจฆ่าตัวตายเพียงอารมณ์ชั่ววูบได้มากขึ้น สื่อจึงไม่ควรออกข่าวหรือพาดหัวข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายแนวดราม่า (สะเทือนใจ) หรือเสนอข่าวเกียวกับวิธีการฆ่าตัวตายโดยละเอียด โดยเฉพาะไม่ควรเสนอข่าวในลักษณะว่าการฆ่าตัวตายสามารถจบปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้

เด็กและวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากการนำเสนอข่าวทางสื่อได้ง่าย ในปัจจุบันพบว่ามีเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้าถึงร้อยละ 1-2 ส่วนวัยรุ่นพบได้สูงถึงร้อยละ 5 พ่อแม่หรือผู้ใหญ่คนอื่นจะสังเกตุว่าวัยรุ่นอาการซึมเศร้าได้จากการสังเกตุว่าวัยรุ่นมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป จากที่ร่าเริงก็จะดูเงียบเฉย การแสดงออกทางสีหน้าท่าทางและสายตาว่ามีความทุกข์ตลอดเวลา สายตาดูเป็นทุกข์ คิ้วขมวด เด็กและวัยรุ่นที่ซึมเศร้าบางคนอาจแสดงออกทางอารมณ์ในลักษณะหงุดหงิดโมโหง่าย ความอดทนต่ำลง ทำให้เกิดความขัดแย้งกับพ่อแม่บ่อยขึ้น หรือบางทีก็อาจจะไปมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อน วัยรุ่นที่ซึมเศร้าบางคนอาจแสดงออกไปในทางมีนิสัยก้าวร้าวเกเรหรือติดสารเสพติดได้

โลกของซึมเศร้าในประเทศไทย

โรคซึมเศร้าเป็นที่รู้จักกันมานานมากกว่า 100 ปี แล้ว เพียงแต่ในอดีตโรคซึมเศร้ายังไม่ได้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในสังคมไทยมากนัก อาจจะเป็นเนื่องจากในอดีตประเทศไทยยังมีจำนวนจิตแพทย์ค่อนข้างน้อย และจิตแพทย์ในอดีตจึงต้องรักษาแต่คนที่เป็นโรคจิตเวชที่มีอาการรุนแรงมากเท่านั้น เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภท จึงทำให้สังคมไทยมีภาพว่าคนที่ต้องไปพบจิตแพทย์คือ คนที่เป็นโรคจิต คนเสียสติ เท่านั้น

โรคซึมเศร้า, ดราม่า, ซึมเศร้า
Young woman watching TV in the room

และในอดีตสังคมมีช่องทางการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชค่อนข้างน้อย คนทั่วไปจึงขาดความรู้และเข้าใจผิดมีมุมมองต่อคนที่เป็นโรคซึมเศร้าว่าเป็นที่มีจิตใจอ่อนแอไม่เข้มแข็ง หรืออาจเข้าใจไปว่ามีความผิดปกติทางจิตที่รุนแรง โดยไม่เข้าใจเกี่ยวกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างแท้จริงว่าเป็นความเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีจิตใจอ่อนแอหรือไม่สามารถทำอะไรได้ดีแล้ว

แต่ความจริงก็คือผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าเมื่อได้รับการรักษาแล้วก็เป็นคนปกติทั่วไปคนหนึ่ง ในบางครั้งสามารถทำอะไรได้มีประโยชน์ต่อส่วนรวมได้มากกว่าคนทั่วๆ ไป ด้วยซ้ำไป ถ้าคนในสังคมเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าก็สะดวกใจที่จะไปรับการรักษา โดยไม่ต้องรู้สึกอับอายได้ง่ายขึ้น

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่พบบ่อยในคนวัยทำงานถึงวัยกลางคน แต่ในปัจจุบันพบว่าเด็กและวัยรุ่นก็เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น และพบว่าผู้ใหญ่ที่เป็นโรคซึมเศร้าจำนวนมากเริ่มมีอาการซึมเศร้ามาตั้งแต่เป็นเด็กหรือวัยรุ่น

อ่านเพิ่มเติม

โรคซึมเศร้า แก้ก่อนสาย หลังดาราเกาหลีจบชีวิตลงอีกราย

วิธีเอาชนะโรคซึมเศร้า เมื่อความหนาวมาเยือน

อาการโรคซึมเศร้า

ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีอารมณ์ซึมเศร้าที่รุนแรงติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นสัปดาห์ และรู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร แม้แต่กิจกรรมที่เคยทำแล้วรู้สึกมีความสุข บางคนพยายามเบี่ยงเบนตนเองไปทำกิจกรรมอื่นก็ยังไม่รู้สึกเพลิดเพลิน หรือแม้แต่กิจกรรมใดที่เราเคยเพลิดเพลิน เคยชอบดูหนัง ฟังเพลง ก็ไม่อยากทำอะไร

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอาการนอนหลับยาก ตื่นกลางดึกแล้วนอนหลับต่อไม่ได้ เบื่ออาหาร ทานอาหารได้น้อย น้ำหนักลดลง การทำงานของสมองโดยเฉพาะการมีสมาธิก็จะบกพร่องไป มักคิดด้านลบ คิดด้านลบไปในทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องที่เกิดขึ้นในวัยเด็กและจบไปแล้วก็ยังกลับมาคิดวนไปวนมาว่าตนเองเคยทำอะไรไม่ดี รู้สึกผิด คิดว่าตนเองไม่มีอะไรดี ไม่มีคุณค่า และหากมีอาการรุนแรงขึ้นก็จะคิดไปถึงว่าตนเองไม่น่าจะมีชีวิตอยู่และคิดถึงการฆ่าตัวตายในที่สุด

ตัวป่วย ครอบครัวป่วยตาม

โรคซึมเศร้าเกิดจากปัจจัยทั้งการทำงานของสมอง จิตใจ โดยเฉพาะความเครียดที่รุนแรงหรือเรื้อรัง และยังเกียวข้องกับปัจจัยทางสังคมด้วย สังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เป็นครอบครัวขยาย มีความผูกพันและการช่วยเหลือกันในครอบครัวมาก กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ความผูกพันทางจิตใจในครอบครัวลดลง รวมถึงการเป็นสังคมเมืองก็ทำให้ความผูกพันในสังคมในชุมชนลดลงไปด้วย

ในด้านปัจจัยทางพันธุกรรม พบว่าหากมีคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้าจะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนที่ไม่มีญาติพี่น้องเป็นโรคซึมเศร้า การเกิดโรคซึมเศร้ายังขึ้นอยู่กับพื้นฐานการพัฒนาทางด้านจิตใจที่เราเติบโตมาด้วย หากเติบโตมาอย่างขาดความรักความอบอุ่น การเลี้ยงดูด้วยความเมตตา ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น หรือชีวิตที่ต้องเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเครียดต่างๆ เช่น การแข่งขันด้านการเรียน ปัญหากับเพื่อน การถูกกลั่นแกล้งทำร้ายร่างกาย ความขัดแย้งในครอบครัว หากเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ก็จะมีปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาจากการทำงาน รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

เกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยทั่วไปคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มในการติดเกมติดอินเทอร์เน็ตมากขึ้น บางทีการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คมากอาจทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้ายิ่งซึมเศร้ามากขึ้นได้ เพราะเวลาที่คนเป็นโรคซึมเศร้าเห็นคนอื่นโพสต์เรื่องที่มีความสุข เขาก็จะคิดว่าทำไมชีวิตคนอื่นมีแต่เรื่องดีๆ แต่ทำไมชีวิตเราแย่ ก็เลยทำให้ยิ่งซึมเศร้ามากขึ้น

วิธีการบำบัด โรคซึมเศร้า

การรักษาโรคซึมเศร้ามีหลายวิธีด้วยกัน ตั้งแต่การรักษาด้วยยา การทำจิตบำบัดรูปแบบต่างๆ เป็นต้น จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน การรักษาด้วยยาเป็นวิธีที่ได้ผลดีมากที่สุดวิธีหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้การรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวได้ การรักษาทางจิตใจเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก การรักษาทางจิตใจมีหลายรูปแบบ เช่น การจิตบำบัดตามทฤษฎีจิตพลวัต การทำจิตบำบัดแนวซาเทียร์ การทำจิตบำบัดแนวพุทธ การทำจิตบำบัดแบบปรับแนวคิดและพฤติกรรม หรือ cognitive behavioral therapy เป็นต้น

ซึมเศร้า, ดราม่า, โรคซึมเศร้า
Two cheerful young business people giving high-five while their colleagues looking at them and smiling

ผลการรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษาดี แต่ผลการรักษาก็เช่นเดียวกับการรักษาโรคอื่นๆ ที่ผู้ป่วยแต่ละคนมีความรุนแรงของโรคไม่เท่ากัน บางคนก็รักษาง่าย รับประทานยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจไม่นานอาการดีขึ้นมากจนเป็นปกติเลย บางรายก็รักษาหายยาก บางคนได้รับการรักษาแล้วดีขึ้น แต่ยังไม่เป็นปกติทีเดียว มีอารมณ์ซึมเศร้ารุนแรงเป็นบางครั้งได้อีก หรือบางคนรักษาด้วยยาเต็มที่แล้วแต่ยังมีอาการรุนแรงอยู่ ก็อาจจะต้องใช้วิธีการอื่น เช่น การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพดีมากวิธีหนึ่ง

ผลการรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น บางคนมีเรื่องราวความทุกข์ตั้งแต่เด็กก็มีแนวโน้มรักษายาก ใช้เวลานาน กลุ่มที่รักษาง่ายน่าจะเป็นกลุ่มที่มีพื้นฐานพัฒนาการทางด้านจิตใจดี ได้รับความรักความอบอุ่นดี แต่อาจจะมีเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจรุนแรงจริง ๆ ที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า การเข้าถึงธรรมะสามารถที่จะช่วยให้จิตใจเราดีขึ้นได้ โดยเฉพาะคำสอนในทางพุทธศาสนาสามารถช่วยทางด้านจิตใจได้มากทีเดียว

บุคคลทั่วไปสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ แต่ต้องมีความเข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้าพอสมควร เช่น ต้องเข้าใจว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะคิดอะไรแง่ลบเกินความจริง สิ่งที่จะช่วยได้คือรับฟังและคอยให้กำลังใจ ไม่ซ้ำเติม ไม่ตำหนิ คำที่ไม่ควรพูดคือ “ทำไมจิตใจอ่อนแออย่างนี้ ทำไมไม่ทำตัวให้เข้มแข็ง”

ควรให้คำแนะนำ ให้กำลังใจมากกว่า เมื่อคนที่เป็นโรคซึมเศร้าพูดถึงการฆ่าตัวตายให้คิดเสมอว่าคำพูดนั้นสำคัญมาก มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายจริงได้

วิธีรักษาโรคซึมเศร้า

3 steps ป้องกันโรคซึมเศร้า ง่ายๆ แบบฉบับแพทย์แผนไทย

10 แหล่งโอเมก้า-3 บำรุงสมอง หัวใจ ป้องกันซึมเศร้า

บ.ก. ขอตอบ : 6 EXERCISES เยียวยาโรคซึมเศร้า จากคลินิกระดับโลก

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.