ซึมเศร้า ภัยเงียบร้ายแรงกว่าที่คิด
จากข่าว จอนแทซู (Jeon Tae Soo) นักแสดงหนุ่มชื่อดัง น้องชายของ “ฮาจีวอน” ได้เสียชีวิตลงแล้วในวัย 34 ปี หลังต่อสู้กับโรค ซึมเศร้า มานาน โดย manager online มีเนื้อหาดังนี้
รายงานระบุว่า จอนแทซู (Jeon Tae Soo) ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ด้วยวัยเพียง 34 ปี โดยเขาเป็นที่รู้จักหลังรับบทร้ายในเรื่อง Sungkyunkwan Scandal รวมถึงยังมีผลงานซีรีส์อีกมากมายทั้ง All My Love และ It’s Okay, Daddy’s Girl.
โดยต้นสังกัดของเขาได้เปิดเผยว่า นักแสดงหนุ่มเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับอาการซึมเศร้ามาสักระยะแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่เขาจะคืนวงการกลับมารับงานแสดงอีกครั้ง จึงเป็นเรื่องค่อนข้างช็อกที่เขามาจากไปอย่างกะทันหัน โดยต้นสังกัดได้แถลงว่า
“ผมเสียใจที่ต้องนำข่าวที่หนักอึ้งนี้มาบอกทุกๆ คน เมื่อวันที่ 21 ม.ค. นักแสดง จอนแทซู (Jeon Tae Soo) วัย 34 ปี ได้เปลี่ยนชะตาชีวิตของเขาลงแล้ว เขาได้เข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้ามาสักระยะ และอาการของเขาก็ดีขึ้นมาก และเมื่อไม่นานนี้ที่เองเขาได้ปรึกษาเกี่ยวกับการคืนวงการกลับมาในฐานะนักแสดงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จากการสูญเสียครั้งนี้ทางครอบครัวและเพื่อนๆ ต่างโศกเศร้ามากต่อการจากไปอย่างกะทันหัน
จอนแทซู เป็นคนที่หลงใหลในเรื่องของการแสดงและเป็นศิลปินอย่างแท้จริง โดยเขามีความรู้อย่างมากด้านศิลปะในหลายๆ แขนงรวมถึงไฟน์อาร์ต ดังนั้นเราจึงอยากขอให้ทุกคนงดเสพข่าวที่คาดคะเนไปต่างๆ นานาหรือความคิดเห็นที่ไม่ดีและแต่งเรื่องจนเกินจริงด้วยนะครับ
ในส่วนของพิธีศพจะจัดขึ้นอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมีครอบครัวและเพื่อนๆ เข้าร่วมพิธี เราอยากจะขอความร่วมมือจากสื่อว่าครั้งนี้งดการตั้งกล้องในบริเวณที่จัดพิธีศพเพื่อให้บุคคลอันเป็นที่รักได้เข้าร่วมเคารพศพผู้วายชนม์เป็นการส่วนตัว
เราต้องขอโทษและเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ต้องมาแจ้งข่าวเศร้าเช่นนี้กับทุกคน ทางเราเองขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของเขาอีกครั้งด้วยครับ”
ทั้งนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของการเสียชีวิตของนักแสดงหนุ่ม
สู้กับ โรคซึมเศร้า ไม่ง่ายเลย
หลายคนอาจคิดว่าโรคซึมเศร้าอยู่ไกลตัว แต่เชื่อไหมว่า สาเหตุก่อโรคซึมเศร้าล้วนเป็นปัจจัยใกล้ตัวที่เราคาดไม่ถึงเช่นเดียวกับกรณีของคุณรัตนา (สงวนนามสกุล) อายุ36 ปี อาชีพกราฟิกดีไซเนอร์ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อันเนื่องมาจากการสูญเสียบุคคลที่รัก
“คุณพ่อเสียได้ไม่นาน เริ่มมีอาการเศร้า ไม่อยากคุยกับใคร เพราะรู้สึกเสียใจมาก มีอาการอยู่นานเกือบห้าเดือน หลังจากนั้นเริ่ม นอนไม่หลับและคิดอยากฆ่าตัวตาย ญาติเลยพาไปหาหมอ จึงรู้ว่าเป็นโรคซึมเศร้า สาเหตุเป็นเพราะสูญเสียบุคคลที่รัก”
เมื่อรักษาตัวสามเดือน อาการของคุณรัตนาดีขึ้น จึงถือโอกาสหยุดกินยาเอง แต่ไม่นานอาการก็กำเริบอีกครั้ง จนส่งผลกระทบต่อการทำงานและสุขภาพจิตคนในครอบครัว
“หลังหยุดยา อาการกำเริบหนักกว่าเดิมมาก คือ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่มีสมาธิในการทำงาน ทำงานผิดพลาด จนต้องลาออกมาอยู่บ้านเฉยๆ บรรยากาศในบ้านตึงเครียดมาก เพราะแม่ต้องเลิกขายของมาดูแลเรา พี่น้องก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมีอาการแบบนี้
“เราจึงเครียดมาก จนอาการทรุดลง มีอาการหูแว่ว ได้ยินเสียงคนสั่งให้ฆ่าตัวตาย ในที่สุดคุณแม่พาไปหาหมออีกครั้ง คุณหมอบอกว่า สาเหตุที่โรคกำเริบเพราะไม่ได้รับยาต่อเนื่องและความเครียด สะสมจากการทำงาน”
กรณีของคุณรัตนาทำให้รู้ว่า สาเหตุโรคซึมเศร้าในคนทำงานนั้น มีด้วยกันหลายประการ ดังที่นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า
“ปัจจัยก่อโรคซึมเศร้ามีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก นอกจากนี้ คนวัยทำงานยังมีปัจจัยกระตุ้นที่ต่างจากคนทั่วไปด้วย”
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้ามีอะไรบ้าง
คุณหมอกิตต์กวีสรุปปัจจัยก่อโรคซึมเศร้าดังนี้
• ปัจจัยภายใน คุณหมอกิตต์กวีอธิบายกลไกเกิดโรคซึมเศร้าจากปัจจัยภายในว่า
ร่างกายมีการหลั่งฮอร์โมนหรือสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุม อารมณ์ผิดปกติ เช่น ซีโรโทนิน (Serotonin) นอร์เอพิเนฟรีน (Norepinephrine) เป็นต้น หรือสมองได้รับการกระทบกระเทือน นอกจากนี้ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วย เสี่ยงเป็นโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป เพราะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
รวมทั้งวิธีการมองโลกในแง่ร้ายและบุคลิกพื้นฐานในเชิงลบ เช่น โทษตัวเอง ย้ำคิดย้ำทำ ก็เป็นปัจจัยภายในตัวแต่ละบุคคลที่ก่อโรคซึมเศร้า
• ปัจจัยภายนอก คุณหมอกล่าวว่า ปัจจัยภายนอกได้แก่ การเลี้ยงดู เช่น ผู้ที่ ถูกเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดมักมีความเครียดมากกว่าคนทั่วไป และเผชิญเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต เช่น การสูญเสียบุคคลที่รัก การประสบ อุบัติเหตุ เป็นต้น
• ปัจจัยจากการทำงาน ส่วนปัจจัยก่อโรคซึมเศร้าคนวัยทำงานโดยเฉพาะนั้น นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า การไม่สามารถจัดการความเครียดจากการทำงานคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนวัยนี้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เพราะการทำงานมักมีความกดดัน ความผิดหวัง และปัญหาเกิดขึ้น เช่นเดียวกับนักแสดง จอนแทซู ซึ่งการอยู่ในวงการบันเทิงเกาหลีนี้เต็มไปด้วยความคาดหวีงและความกดดันสูง
หากบุคคลนั้นไม่สามารถปรับตัวและแก้ไขจึงเกิดความเครียดสะสมจนเกิดภาวะซึมเศร้า
นายแพทย์ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า ที่จริงแล้ววัยทำงานมีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ต่างจากผู้สูงอายุ เพราะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด มาก ทั้งยังมีทักษะการจัดการความเครียดน้อยกว่าผู้สูงอายุที่ผ่านโลกมามาก
นอกจากการจัดการความเครียดแล้ว อาหารยังเป็นหนึ่งปัจจัยก่อโรคซึมเศร้าในคนวัยทำงาน ดังที่จิตแพทย์ ไมเคิล บี. แชชเตอร์ อธิบายไว้ในหนังสือ What Your Doctor May Not Tell You About Depression ว่า
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักเป็นคนวัยทำงานที่มีภาวะโภชนาการไม่ดีหรือขาดสารอาหาร โดยเฉพาะการกินน้ำตาลและแป้งขาว เนื่องจากทำให้ระดับของทริปโตแฟน (trytophan) ซึ่งเป็นกรดแอมิโนที่ส่งเสริมการทำงานของ ซีโรโทนินเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ที่กินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลจึงมีอารมณ์ไม่คงที่
ภาวะขาดสารอาหาร โปรตีนและวิตามินจำเป็น ยังทำให้สารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ส่งผลให้อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่ายและซึมเศร้า
วิธีรับมือโรคซึมเศร้าคนทำงานที่ต้องเจอกับภาวะความกดดัน คลิ๊กอ่านหน้าต่อไป
ซึมเศร้า ในคนทำงาน ทำอย่างไรเมื่อจัดการกับความเครียดและความกดดันไม่ได้
แม้เราไม่สามารถยับยั้งปัญหาและเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อันเป็นสาเหตุของอาการ ซึมเศร้า แต่ผู้เชี่ยวชาญและคุณรัตนา ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ปัจจุบันอาการหายเป็นปกติ ยืนยันว่า การเตรียมร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงสามารถป้องกันโรคนี้ได้
ออกกำลังเสริมพลังกาย+ใจ
คุณหมอไมเคิลอธิบายประโยชน์ของการออกกำลังกายว่า การออกกำลังกายกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนชนิดดี และสารสื่อประสาทที่ทำให้อารมณ์ดีและมีความสุข เช่น สารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ไม่ต่างจากการกินยา
ดังผลการศึกษาในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอายุ20 – 40 ปี โดยกำหนดให้กลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรกออกกำลังกายแอโรบิกชนิดออกแรงมาก (เช่น เต้นแอโรบิก) กลุ่มที่สองออกกำลังกายแอโรบิกชนิดออกแรงไม่มาก (เช่น เดิน) และกลุ่มสุดท้ายออกกำลังกายแบบยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
พบว่า สามเดือนต่อมา กลุ่มที่ออกกำลังกายแอโรบิกชนิดออกแรงมากมีอาการซึมเศร้าลดลงถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มที่ออกกำลังกายแอโรบิกชนิดออกแรงไม่มากและยืดเหยียดมีอาการซึมเศร้าลดลง 30 และ 29 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
เช่นเดียวกับคุณรัตนาที่หันมาออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิกเป็นประจำ
“แม้ว่าอาการหายเป็นปกติแล้ว แต่ยังต้องกินยาต้านอาการซึมเศร้าเป็นประจำ ซึ่งคุณหมอแนะนำให้ออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย เพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้นจึงเลือกเต้นแอโรบิกที่สวนสาธารณะ ทำให้นอนหลับสนิท อารมณ์ดีขึ้น ทั้งยังช่วยลดน้ำหนักตัวได้ด้วย”
(คลิ๊กอ่านวิธีออกกำลังกายต้านโรคซึมเศร้าที่น่าสนใจ)
ผ่อนคลาย สลายเครียด
คุณหมอกิตต์กวีกล่าวว่า คนวัยทำงานมักมีความเครียดจากการทำงานและปัญหาชีวิตด้านอื่น การผ่อนคลายความเครียดจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยแต่ละคนควรหากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบทำเมื่อมีเวลาว่าง
ทำสมาธิ พิชิตความเศร้า
คุณหมอไมเคิลกล่าวว่า การทำสมาธิช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารู้สึกสงบ ลดความฟุ้งซ่านและความวิตกกังวล นอกจากนี้ ผลการวิจัยระดับฮอร์โมนและสารสื่อประสาทในร่างกายหลังจากการนั่งสมาธิพบว่า กิจกรรมนี้(เช่นเดียวกับการวิ่งออกกำลังกาย) กระตุ้นให้ร่างกายผลิตสารสื่อประสาทและฮอร์โมนชนิดดี ในสมองในระดับเท่ากัน
อาหารดี อารมณ์ดี
คุณหมอไมเคิลกล่าวว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เปลี่ยนพฤติกรรมการกินจากอาหารจานด่วนและแป้งขัดขาวมาเป็นขนมปังโฮลวีตและอาหารสุขภาพ รวมทั้งลดการกินน้ำตาล มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ สมองจึงหลั่งฮอร์โมนและสารสื่อประสาทตามปกติ
ก่อนจบบทความ ผู้เขียนชวนผู้อ่านมาลองเช็กโรคซึมเศร้าและภาวะอยากฆ่าตัวตายดูกันค่ะ
รู้สาเหตุและวิธีป้องกันแล้ว อย่าลืมนำไปปรับใช้เพื่อรักษาสุขภาพใจให้ห่างไกลโรคซึมเศร้า พร้อมสู้กับการทำงานค่ะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
วิธีเอาชนะโรคซึมเศร้า เมื่อความหนาวมาเยือน
3 steps ป้องกันโรคซึมเศร้า ง่ายๆ แบบฉบับแพทย์แผนไทย
บ.ก. ขอตอบ : 6 EXERCISES เยียวยาโรคซึมเศร้า จากคลินิกระดับโลก