โรคนอนกรน, นอนกรน, แก้นอนกรน, รักษานอนกรน

6 ขั้นตอนต้องรู้รักษา โรคนอนกรน คนทำงาน

6 ขั้นตอนต้องรู้รักษา โรคนอนกรน คนทำงาน

โรคนอนกรน ไม่ได้นิยามจากอาการว่ากรนครอกฟี้แล้วจะเป็นโรคนอนกรนนะ แต่นิยามจากผลตรวจการนอนหลับด้วยกราฟ (Polysomnography)

ตัวชี้วัดสำคัญในการตรวจนี้คือ ดัชนีแสดงการรบกวนการหายใจขณะหลับ (RDI Respiratory Disturbance Index) นิยามของ RDI ก็คือจำนวนครั้งของการหยุดหายใจหรือเกือบหยุดหายใจที่เกิดขึ้นพร้อมกับการผวาตื่น (ซึ่งเจ้าตัวไม่รู้ตัวว่าตื่น) เพราะการหายใจไม่พอในหนึ่งชั่วโมง ทางการแพทย์ถือว่า ถ้าค่า RDI เกิน 15 ครั้งต่อชั่วโมงก็วินิจฉัยได้เลยว่าเป็นโรคนอนกรน

 

6 วิธีแก้โรคนอนกรน ตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน

การรักษาโรคนอนกรนตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบันมีวิธีตามลำดับดังนี้

1. ลดความอ้วนก่อน ลดแบบเอาเป็นเอาตาย เป้าหมายคือลดดัชนีมวลกายลงให้ต่ำกว่า 25

อ้วน, โรคนอนกรน, นอนกรน, แก้นอนกรน, รักษานอนกรน
ความอ้วน เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคนอนกรน

2. เลิกนอนหงาย หัดนอนตะแคงกอดหมอนข้าง

3. ถ้าสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ ต้องเลิกให้หมด

4. ออกกำลังกายให้หนัก ออกแบบเอาเป็นเอาตาย ให้ถึงระดับมาตรฐานทุกวัน ออกกำลังกายแบบแอโรบิกจนถึงระดับหนักพอควร คือหอบแฮกๆ จนร้องเพลงไม่ได้ให้ต่อเนื่องกันไปอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง บวกกับเล่นกล้ามอีกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

การออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนแข็งแรง ไม่หย่อนยานยวบยาบ ทำให้มีการหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ทำให้หลับดี หลับลึก และหลับถึงระยะหลับฝันได้มากขึ้นทำทั้งสี่ข้อนี้ให้ได้ รับรองหาย ถ้าไม่หายเขียนมาต่อว่าผมได้เลย แต่ก่อนจะว่าผมต้องชั่งน้ำหนักก่อนนะ ถ้าน้ำหนักยังสูงจนดัชนีมวลกายเกิน 25 ยังไม่มีสิทธิ์ว่าผมนะ แหะ…แหะ พูดเล่นถ้ายังไม่หายก็ต้องขยับไปใช้มาตรการต่อไป คือ

อุปกรณ์รักษาโรคนอนกรน, โรคนอนกรน, นอนกรน, แก้นอนกรน, รักษานอนกรน
เครื่องเพิ่มความดันลมหายใจแบบต่อเนื่องผ่านจมูก

5. การใช้อุปกรณ์ช่วย อุปกรณ์ที่ดีที่สุดที่แนะนำเป็นตัวแรกคือ เครื่องเพิ่มความดันลมหายใจแบบต่อเนื่องผ่านจมูก (Nasal CPAP) พูดแบบบ้านๆ ก็คือ “งวงช้าง” ซึ่งอธิบายรูปลักษณ์ของอุปกรณ์ได้ดีที่สุด ถ้าไม่ได้ผลหรือไม่ชอบก็ต้องหันไปใช้อุปกรณ์ตัวที่สองคือ เครื่องครอบช่วยหายใจสองจังหวะ (BiPAP) ซึ่งผู้ป่วยปรับความดันในช่วงหายใจเข้าและออกให้พอดีได้เอง แต่ว่ามีราคาแพงกว่าและผลการรักษาก็ไม่ได้แตกต่างจาก CPAP

ถ้าผู้ป่วยยังทนไม่ได้อีก คราวนี้ก็เหลืออุปกรณ์สุดท้ายคืออุปกรณ์เปิดทางเดินลมหายใจ (OA) ที่นิยมใช้มีสามแบบ คือ ตัวกันลิ้นตก (Tongue Retaining Device TRD) ตัวค้ำขากรรไกรและตัวค้ำเพดานปาก ข้อมูลความสำเร็จของการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในระยะยาวยังมีจำกัดมาก งานวิจัยพบว่า การใช้ CPAP ชนิดปรับความดันได้ด้วยตัวเองที่บ้านโดยมีพยาบาลคอยดูแล ให้ผลดีไม่แตกต่างจากการปรับค่าการใช้ CPAP โดยการทำ Sleep Study ที่โรงพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์ ถ้าใช้อุปกรณ์แล้วยังไม่หายอีกคราวนี้ก็เหลือทางเดียวแล้วครับ คือ

6. การผ่าตัด วิธีผ่าตัดที่ใช้แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการอุดกั้นทางเดินลมหายใจอยู่ที่ระดับหลังเพดานปาก หลังลิ้น หรือคร่อมทั้งสองระดับ

ถ้าการอุดกั้นเกิดที่เพดานปากส่วนหลัง การผ่าตัดก็แค่ยกเพดานปากและลิ้นไก่ (Uvulopalatopharyngoplasty UPPP) ก็พอการผ่าตัดชนิดนี้มีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าผ่าตัดเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ และมีประมาณ 31 เปอร์เซ็นต์ที่ทำการผ่าตัดด้วยวิธีนี้แล้วอาการกลับแย่ลง

แต่ถ้าการอุดกั้นเกิดที่ระดับหลังลิ้นก็อาจจะต้องทำการผ่าตัดดึงลิ้น (Genioglossus Advancement and Hyoid Myotomy GAHM) หรือบางทีก็อาจจะต้องถึงกับผ่าตัดเลื่อนกระดูกกรามล่า (Maxillomandibular Advancement Osteotomy MMO) ซึ่งมักจะแก้การอุดกั้นได้ทุกระดับ

 

การจะเลือกผ่าตัดแบบไหนย่อมสุดแล้วแต่ผลการประเมินจุดอุดกั้นว่าเกิดตรงไหน อัตราการได้ผลก็ระดับลูกผีลูกคน ดังนั้นจึงถูกจัดไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะทุกคนต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นวิธีที่แย่ที่สุด

 

จาก คอลัมน์ WELLNESS CLASS นิตยสารชีวจิต ฉบับ 481


บทความน่าสนใจอื่นๆ

โรคนอนกรนหรือโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ

แก้นอนกรนด้วย 4 สมุนไพร

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.