6 ขั้นตอนต้องรู้รักษา โรคนอนกรน คนทำงาน
โรคนอนกรน ไม่ได้นิยามจากอาการว่ากรนครอกฟี้แล้วจะเป็นโรคนอนกรนนะ แต่นิยามจากผลตรวจการนอนหลับด้วยกราฟ (Polysomnography)
ตัวชี้วัดสำคัญในการตรวจนี้คือ ดัชนีแสดงการรบกวนการหายใจขณะหลับ (RDI Respiratory Disturbance Index) นิยามของ RDI ก็คือจำนวนครั้งของการหยุดหายใจหรือเกือบหยุดหายใจที่เกิดขึ้นพร้อมกับการผวาตื่น (ซึ่งเจ้าตัวไม่รู้ตัวว่าตื่น) เพราะการหายใจไม่พอในหนึ่งชั่วโมง ทางการแพทย์ถือว่า ถ้าค่า RDI เกิน 15 ครั้งต่อชั่วโมงก็วินิจฉัยได้เลยว่าเป็นโรคนอนกรน
6 วิธีแก้โรคนอนกรน ตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน
การรักษาโรคนอนกรนตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบันมีวิธีตามลำดับดังนี้
1. ลดความอ้วนก่อน ลดแบบเอาเป็นเอาตาย เป้าหมายคือลดดัชนีมวลกายลงให้ต่ำกว่า 25
2. เลิกนอนหงาย หัดนอนตะแคงกอดหมอนข้าง
3. ถ้าสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ ต้องเลิกให้หมด
4. ออกกำลังกายให้หนัก ออกแบบเอาเป็นเอาตาย ให้ถึงระดับมาตรฐานทุกวัน ออกกำลังกายแบบแอโรบิกจนถึงระดับหนักพอควร คือหอบแฮกๆ จนร้องเพลงไม่ได้ให้ต่อเนื่องกันไปอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง บวกกับเล่นกล้ามอีกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
การออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนแข็งแรง ไม่หย่อนยานยวบยาบ ทำให้มีการหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ทำให้หลับดี หลับลึก และหลับถึงระยะหลับฝันได้มากขึ้นทำทั้งสี่ข้อนี้ให้ได้ รับรองหาย ถ้าไม่หายเขียนมาต่อว่าผมได้เลย แต่ก่อนจะว่าผมต้องชั่งน้ำหนักก่อนนะ ถ้าน้ำหนักยังสูงจนดัชนีมวลกายเกิน 25 ยังไม่มีสิทธิ์ว่าผมนะ แหะ…แหะ พูดเล่นถ้ายังไม่หายก็ต้องขยับไปใช้มาตรการต่อไป คือ
5. การใช้อุปกรณ์ช่วย อุปกรณ์ที่ดีที่สุดที่แนะนำเป็นตัวแรกคือ เครื่องเพิ่มความดันลมหายใจแบบต่อเนื่องผ่านจมูก (Nasal CPAP) พูดแบบบ้านๆ ก็คือ “งวงช้าง” ซึ่งอธิบายรูปลักษณ์ของอุปกรณ์ได้ดีที่สุด ถ้าไม่ได้ผลหรือไม่ชอบก็ต้องหันไปใช้อุปกรณ์ตัวที่สองคือ เครื่องครอบช่วยหายใจสองจังหวะ (BiPAP) ซึ่งผู้ป่วยปรับความดันในช่วงหายใจเข้าและออกให้พอดีได้เอง แต่ว่ามีราคาแพงกว่าและผลการรักษาก็ไม่ได้แตกต่างจาก CPAP
ถ้าผู้ป่วยยังทนไม่ได้อีก คราวนี้ก็เหลืออุปกรณ์สุดท้ายคืออุปกรณ์เปิดทางเดินลมหายใจ (OA) ที่นิยมใช้มีสามแบบ คือ ตัวกันลิ้นตก (Tongue Retaining Device TRD) ตัวค้ำขากรรไกรและตัวค้ำเพดานปาก ข้อมูลความสำเร็จของการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในระยะยาวยังมีจำกัดมาก งานวิจัยพบว่า การใช้ CPAP ชนิดปรับความดันได้ด้วยตัวเองที่บ้านโดยมีพยาบาลคอยดูแล ให้ผลดีไม่แตกต่างจากการปรับค่าการใช้ CPAP โดยการทำ Sleep Study ที่โรงพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์ ถ้าใช้อุปกรณ์แล้วยังไม่หายอีกคราวนี้ก็เหลือทางเดียวแล้วครับ คือ
6. การผ่าตัด วิธีผ่าตัดที่ใช้แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการอุดกั้นทางเดินลมหายใจอยู่ที่ระดับหลังเพดานปาก หลังลิ้น หรือคร่อมทั้งสองระดับ
ถ้าการอุดกั้นเกิดที่เพดานปากส่วนหลัง การผ่าตัดก็แค่ยกเพดานปากและลิ้นไก่ (Uvulopalatopharyngoplasty UPPP) ก็พอการผ่าตัดชนิดนี้มีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าผ่าตัดเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ และมีประมาณ 31 เปอร์เซ็นต์ที่ทำการผ่าตัดด้วยวิธีนี้แล้วอาการกลับแย่ลง
แต่ถ้าการอุดกั้นเกิดที่ระดับหลังลิ้นก็อาจจะต้องทำการผ่าตัดดึงลิ้น (Genioglossus Advancement and Hyoid Myotomy GAHM) หรือบางทีก็อาจจะต้องถึงกับผ่าตัดเลื่อนกระดูกกรามล่า (Maxillomandibular Advancement Osteotomy MMO) ซึ่งมักจะแก้การอุดกั้นได้ทุกระดับ
การจะเลือกผ่าตัดแบบไหนย่อมสุดแล้วแต่ผลการประเมินจุดอุดกั้นว่าเกิดตรงไหน อัตราการได้ผลก็ระดับลูกผีลูกคน ดังนั้นจึงถูกจัดไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะทุกคนต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นวิธีที่แย่ที่สุด
จาก คอลัมน์ WELLNESS CLASS นิตยสารชีวจิต ฉบับ 481
บทความน่าสนใจอื่นๆ
โรคนอนกรนหรือโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ