พุทธศาสนาคืออะไร ทำไมเราต้องปฏิบัติตนตามหลักพุทธศาสนา
พุทธศาสนาคืออะไร หลายคนคงเคยสงสัยกันมาบ้าง พุทธศาสนาคือ ศาสนาของผู้รู้ เพราะพุทธะแปลว่าผู้รู้ คือรู้ความจริงของสิ่งทั้งปวงได้ถูกต้องเพราะฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่อาศัยสติปัญญา หรืออาศัยวิชาความรู้ที่ถูกต้องเพื่อทำลายความทุกข์และต้นเหตุของความทุกข์เหล่านั้น
การทำพิธีรีตองเพื่อบูชาบวงสรวง อ้อนวอนบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่ใช่พุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าไม่รับเข้ามาไว้ในศาสนาของพระองค์เลย เพราะเป็นสิ่งที่น่าขบขัน น่าหัวเราะ และถือเอาเป็นที่พึ่งอันแท้จริงไม่ได้; พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการกระทำเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง
พุทธศาสนาไม่ประสงค์การคาดคะเน
หรือทำอย่างที่เรียกว่าเผื่อจะเป็นอย่างนั้นเผื่อจะเป็นอย่างนี้ เราจะทำไปตรง ๆ ตามที่มองเห็นด้วยปัญญาของตัวเอง โดยไม่ต้องเชื่อคนอื่น แม้จะมีคนอื่นมาบอกให้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเชื่อเขาทันที เราจะต้องฟังและพิจารณาจนเห็นจริงว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้แล้วจึงจะเชื่อ และพยายามทำให้ปรากฏผลด้วยตนเอง
ศาสนาเหมือนกับของหลายเหลี่ยม
ดูเหลี่ยมหนึ่งมันก็เป็นไปอย่างหนึ่ง ดูอีกเหลี่ยมหนึ่งมันก็เป็นไปอีกอย่างหนึ่งแล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะถือหลักการคิดในแนวไหน ก็จะเห็นศาสนาเดียวกันในลักษณะที่แตกต่างกันได้ แม้พุทธศาสนาก็ตกอยู่ในลักษณะเช่นนี้
คนเราย่อมเชื่อความคิดเห็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น ความจริงหรือสัจจะสำหรับคนหนึ่ง ๆ นั้น มันอยู่ตรงที่ว่าเขาเข้าใจและมองเห็นเท่าไรเท่านั้นเอง : สิ่งที่เรียกว่า “ความจริง” ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนเราเข้าถึงปัญหาหนึ่ง ๆ ได้ตื้นลึกกว่ากัน หรือด้วยลักษณะที่ต่างกันและด้วยสติปัญญาที่ต่างกัน สิ่งใดที่อยู่เหนือสติปัญญาความรู้ความเข้าใจของตนหรือตนยังไม่เข้าใจ คนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความจริงของเขา ถ้าเขาจะพลอยว่าจริงไปตามผู้อื่น เขาก็รู้สึกอยู่แก่ใจว่าไม่เป็นความแท้ความจริงของเขาเลย
ความจริงของคนหนึ่ง ๆ นั้นจะเดินคืบหน้าได้เสมอ ตามสติปัญญา ความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน จนกว่าจะถึงความจริงขั้นสุดท้ายคนเรามีการศึกษามาต่างกัน และมีหลักพิจารณาสำหรับจะเชื่อต่าง ๆ กันฉะนั้น ถ้าจะเอาสติปัญญาที่ต่างกันมาดูพุทธศาสนาก็จะเกิดความคิดเห็นต่างกันไป ทั้งนี้เพราะว่าพุทธศาสนาก็มีอะไร ๆ ครบทุกอย่างที่จะให้คนดู
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว พุทธศาสนาคือวิธีปฏิบัติเพื่อเอาตัวรอดจากความทุกข์ โดยการทำให้รู้ความจริงว่าอะไรเป็นอะไร ตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงทำได้ก่อนและได้ทรงสอนไว้ แต่คัมภีร์ทางศาสนานั้นย่อมมีอะไร ๆเพิ่มขึ้นได้ทุกโอกาสที่คนชั้นหลังเขาจะเพิ่มเติมลงไป พระไตรปิฎกของเราก็ตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกัน คนชั้นหลัง ๆ เพิ่มเติมข้อความเข้าไปตามที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับยุคนั้น ๆ เพื่อจะช่วยให้คนมีศรัทธามากขึ้น ๆ หรือกลัวบาปรักบุญมากขึ้น ซึ่งอาจจะมากเกินขอบเขตจนกระทั่งเกิดการเมาบุญกันใหญ่
แม้แต่พิธีรีตองต่าง ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นและเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็พลอยถูกนับเข้าเป็นพุทธศาสนาไปด้วยอย่างน่าสมเพชเช่น การจัดสำรับคาวหวานผลหมากรากไม้เพื่อเซ่นวิญญาณของพระพุทธเจ้าอย่างที่เรียกว่าถวายข้าวพระเป็นต้น มันเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ตามหลักของพุทธศาสนา แต่พุทธบริษัทบางพวกเข้าใจว่านี่เป็นพุทธศาสนา และได้สอนกันถือกันอย่างเคร่งครัด.
พิธีรีตองต่าง ๆ ทำนองนี้ได้เกิดขึ้นอย่างหนาแน่นมากมาย จนหุ้มห่อของจริงหรือความมุ่งหมายเดิมให้สาบสูญไป. ขอยกตัวอย่างเช่นในเรื่องการบวชนาค ก็เกิดมีพิธีทำขวัญนาค เชื้อเชิญแขกมาเลี้ยงดูกันอย่างเมามายเอิกเกริก ทำพิธีทั้งที่วัดและที่บ้าน บวชไม่กี่วันก็สึกออกมา แล้วกลายเป็นคนเกลียดวัดยิ่งไปกว่าเดิมก็มี นี่ขอให้คิดดูเถิดว่าสิ่งไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลก็ได้มีขึ้น
พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา
คือส่วนที่เป็นตัวระเบียบปฏิบัติ ซึ่งได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา กระทั่งผลที่เกิดขึ้นคือความหลุดพ้น. และปัญญาที่รู้เห็นความหลุดพ้น ว่าเมื่อใครปฏิบัติแล้วจะหลุดพ้นไปจากความทุกข์ได้จริง นี่เรียกว่าพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา
พุทธศาสนาในเหลี่ยมที่เป็นจิตวิทยา
เช่นคัมภีร์พระไตรปิฎกภาคสุดท้ายกล่าวบรรยายถึงลักษณะของจิตไว้กว้างขวางอย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด เป็นที่งงงันและสนใจแก่นักศึกษาทางจิตแม้แห่งยุคปัจจุบัน เป็นความรู้ทางจิตวิทยาที่จะอวดได้ว่าแยบคายหรือลึกลับกว่าความรู้ทางจิตวิทยาของโลกปัจจุบันไปเสียอีก
พุทธศาสนายังมีเหลี่ยมความรู้ซึ่งจัดได้ว่าเป็นปรัชญา
คือสิ่งที่ทดลองไม่ได้ ยังต้องอาศัยการคำนึงคำนวณไปตามหลักแห่งการใช้เหตุผลแห่งการคำนึงคำนวณระบอบหนึ่ง. แต่ถ้าเห็นแจ้งประจักษ์ได้ด้วยตา หรือด้วยการพิสูจน์ทดลองตามทางวัตถุ หรือแม้เห็นชัดด้วย “ตาใน” คือญาณจักษุก็ตาม เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์(Science) ได้ความรู้อันลึกซึ้งเช่นเรื่องสุญญตาย่อมเป็นปรัชญาสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรมไปพลางก่อน แต่จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ทันทีสำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว เช่น พระอรหันต์ เพราะท่านได้เห็นแจ้งประจักษ์แล้วด้วยจิตใจของท่านเอง ไม่ต้องคำนึงคำนวณตามเหตุผล
หลักพระพุทธศาสนาบางประเภทก็เป็นวิทยาศาสตร์
โดยส่วนเดียวเพราะพิสูจน์ได้ชัดแจ้งด้วยความรู้สึกภายในใจของผู้มีสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอริยสัจจ์เป็นต้น ถ้าผู้ใดมีสติปัญญาสนใจศึกษาค้นคว้าแล้วจะมีเหตุผลแสดงอยู่ในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มืดมัวเป็นปรัชญาเหมือนอย่างบางเรื่อง
ข้อมูลจากหนังสือ คู่มือมนุษย์สำนักพิมพ์ Amarin Dhamma
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความน่าสนใจ
เรื่องเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากเมืองสวรรค์ในพระพุทธศาสนา
ตปุสสะและภัลลิกะ อุบาสกคู่แรกของพระพุทธศาสนา กับตำนานพระเจดีย์ชเวดากอง
องค์ประกอบของ ชีวิตมนุษย์ ตามหลักพระพุทธศาสนา