พระธรรมเทศนากับคำร้องแร็พ!
วิธีการนำเสนอสองรูปแบบที่ผิดแผกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังดำรงอยู่ในกลุ่มคนที่ต่างกันอย่างชัดเจน หลายคนคงคุ้นตากับภาพผู้สูงอายุในชุดขาวปฏิบัติธรรมอยู่ในวัด พอ ๆ กับที่คุ้นเคยกับภาพวัยรุ่นสวมหมวกกลับหลังเต้นเพลงฮิปฮ็อปอยู่ในสวนสาธารณะ แต่วันนี้ทั้งสองสิ่งกลับผสมผสานกันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างไม่น่าเชื่อ!
หลายครั้งที่ผู้คนพยายามเชื่อมโยงโลกธรรมะเข้ากับโลกดนตรีในรูปแบบต่าง ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ความสำเร็จของวงฮิปฮ็อปชื่อ Buddha Bless ที่สอดแทรกคำสอนทางพุทธศาสนาเข้าในงานเพลงจนได้รับรางวัล “ต้นโพธิ์ทอง” จาก สภาองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย หรือเพลง เมาไม่ขับ ของวง Groove Riders ที่ใส่เสียงคำสอนของ พระราชธรรมนิเทศ (พยอม กัลยาโณ) เป็นอาทิ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นความพยายามผลักดันหลักธรรมเข้าสู่วัยรุ่นจากมุมมองของฆราวาส ด้วยมิใช่กิจที่พระสงฆ์พึงกระทำ จากเงื่อนไขของหลักธรรมวินัยในข้อ “งดเว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น อันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์”
จนกระทั่งปี 2549 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป…!
“นี่คือเรื่องเล่าเก่าแก่ เรื่องจักรวาลวิทยาอันเปี่ยมจินตนาการและความปรารถนา เฮ้ แล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ก็เกี่ยวกับพระพุทธน่ะสิ โย่ พี่น้อง ฟังให้ดีนะ เข้าใจกันหรือเปล่า ไม่เหรอ โอเค ไม่มีปัญหา…”
ท่อนแร็พในภาษาญี่ปุน่ และอังกฤษที่มีเนื้อหาเป็นหลักธรรมคำสอนได้ถูกถ่ายทอดผ่านการร้องของ พระคันโช ทากาอิ (Kansho Tagai) เจ้าอาวาสของ วัดเคียวโออุจิ ท่ามกลางผู้ชมวัยรุ่นจำนวนมาก
“ตอนที่อาตมาได้ฟังเพลงแร็พครั้งแรก เพลงเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด อาตมาจึงไม่เข้าใจเนื้อหาของเพลงเลย” เจ้าอาวาสวัยเรือนห้าสิบรำลึก “จากนั้นอาตมาก็คิดได้ว่า มันก็เหมือนกับพระสูตรที่คนส่วนมากไม่เข้าใจความหมาย แต่ข้อดีก็คือ เพลงแร็พนั้นทำให้คุณรู้สึกดีได้ แม้ว่าอาจจะไม่เข้าใจเนื้อหาเลยก็ตาม”
ในช่วงเวลาที่เสียงสวดมนต์หรือการประพฤติธรรมเป็นความเชยชราในความคิดของคนรุ่นใหม่ พระคันโช ทากาอิ ได้ตัดสินใจนำข้อดีของเพลงแร็พมาปรับเปลี่ยนให้ความเชยกลายมาเป็นความชิลล์
นับจากนั้นวัดเคียวโออุจิที่มีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปถึง 400 ปี ก็เริ่มพุทธกิจใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา นั่นคือ การจัดบรรยายธรรมในรูปแบบฮิปฮ็อป โดยพระคันโช หรือที่รู้จักกันในชื่อ MC Happiness เนื้อหาของเพลงเป็นการผสมผสานประเด็นร่วมสมัยเข้ากับหลักธรรม เพื่อให้เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยได้ง่าย รวมไปถึงการเชื้อเชิญแร็พเปอร์เก่ง ๆ มาร้องโต้ตอบกันเพื่อสร้างสีสันด้วย ส่งผลให้มีคฤหัสถ์วัยรุ่นสนใจเขาวัดเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ
“ด้วยวิธีใหม่ ๆ ในการเข้าถึงกลุ่มคนหนุ่มสาวแบบนี้ อาตมาหวังว่าพวกเขาจะได้เห็นด้านมุมอันสนุกสนานของศาสนาพุทธ รวมทั้งหันมาสนใจในศาสนาอย่างแท้จริง”
“วิธีการใหม่ ๆ” ที่พระคันโช ทากาอิ เอ่ยถึงนี้มิได้หมายถึงแต่เพียงการแร็พเท่านั้น หากยังหมายรวมถึงแนวคิดล่าสุดที่ผสมผสานการเต้นแท็ปและการเต้นแซมบ้าเข้ากับการสวดมนต์อีกด้วย โดยหวังว่าจะจูงใจคนรุ่นใหม่ให้เข้าใกล้วัดมากขึ้น
จากสภาวการณ์ในปัจจุบันที่วัยรุ่นอยู่ห่างวัดและศาสนามากขึ้นทุกที ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมต่าง ๆ นานา ผู้นำของแต่ละศาสนาจึงมุ่งมั่นแก้ปัญหาด้วยยุทธวิธีเชิงรุก เพื่อจูงใจคนรุ่นใหม่ในหลากหลายรูปแบบเท่าที่กรอบวินัยของแต่ละศาสนาหรือนิกายนั้น ๆ จะเอื้ออำนวยให้ทำได้ ดังจะเห็นได้จากหนังสือธรรมะเข้าใจง่ายของ ท่าน ว.วชิรเมธี รายการ ธรรมะเดลิเวอรี่ โดย พระมหาสมปอง หรือกิจกรรมต่าง ๆ ของเสถียรธรรมสถาน…การแร็พธรรมะของพระคันโช ทากาอิ ก็ไม่แตกต่างกัน
แม้ว่าจะมีวิธีการที่ผิดแผกไปจากขนบจารีตที่พุทธศาสนิกชนบ้านเราคุ้นเคยและยอมรับ หากเมื่อพิจารณาถึงเป้าหมายปลายทางแล้ว ความตั้งใจอันแรงกล้าของพระคันโชก็ถือเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า ความคงอยู่ของศาสนามิใช่หน้าที่ของพระสงฆ์องค์เจ้า หรือประชาชนผู้ใฝ่ธรรมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น หากหมายถึงเราทุกคนที่จะสืบทอดให้ศาสนาดำรงอยู่อย่างมั่นคงสืบไป ด้วยคุณค่าความหมายแห่งหลักธรรมอันแท้จริง
(ฮิปฮ็อปนอกกรอบ)
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง พีรภัทร โพธิสารัตนะ
ภาพ buddhistdoor.net, butsugu-design.jp
บทความน่าสนใจ
สัปเหร่อหญิงใจบุญ ช่วยทำศพ 9 วัด ไม่รับค่าจ้างมานานกว่า 20 ปี
สองเจ้าอาวาสวัดกรุงเก่ามอบเงินช่วยเหลือ โรงพยาบาลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง