ข้าวสวย หนึ่งทัพพี นิทานสอนธรรมเรื่อง ความกตัญญูกตเวที – ท่านว. วชิรเมธี
ปุณณ์และปัณณ์หลานรัก
ปู่เคยอ่านพบว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนว่าในโลกนี้มีคนที่หาได้ยากอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน
- บุพการี คนที่ทำดีต่อเรามาก่อน
- กตัญญูกตเวที คนดีที่พร้อมตอบแทนคุณ
บุพการีหรือคนที่ทำดีต่อเรามาก่อนนั้นมีมากมาย เริ่มแต่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายครูบาอาจารย์ หรือใครอื่นก็ตามที่เคยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่เรามาก่อน รวมถึงสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ ฟ้า ป่าเขาที่ให้ร่มเงาแก่เรามาก่อน ก็ใช่ทั้งนั้น
กตัญญูกตเวทีก็คือ คนที่รู้ว่าใครเป็นผู้มีพระคุณต่อตัวเอง แล้วไม่ลืมบุญคุณของท่านเหล่านั้น มีสำนึกอยู่เสมอว่าจะต้องหาโอกาสตอบแทนพระคุณของท่านเหล่านั้นให้ได้ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ปุณณ์และปัณณ์หลานรัก
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า บุคคลสองประเภทนี้หาได้ยากนักในโลกนี้ คำตอบก็เพราะว่า คนที่ทำดีต่อคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนนั้นหาได้ยาก เพราะมนุษย์เรามักมีความเห็นแก่ตัวซ่อนอยู่ในใจไม่มากก็น้อย
ส่วนคนที่รู้ว่าผู้อื่นมีพระคุณต่อตนแล้วหาโอกาสทำตอบแทนนั้นก็ไม่ใช่จะหาได้ง่าย ๆเพราะหลายต่อหลายคนแม้จะรู้ว่าคนอื่นดีต่อตนมามากมายเพียงไร แต่ก็ไม่เคยคิดจะลุกขึ้นมาทำอะไรเลย เพียงแค่รู้อยู่ในใจเฉย ๆครั้นผู้มีพระคุณของตนมาล่วงลับดับขันธ์จากไป พวกเขาก็เอาแต่ร้องไห้ บ่นว่าเสียดายที่ไม่ได้ทำอะไรตอบแทน
ความกตัญญูที่มาสายก็ไม่ต่างอะไรกับไฟไหม้บ้านจนมอด แล้วนักดับเพลิงเพิ่งมาถึงนั่นแหละ
หลานเอ๋ย ใครก็ตามที่ถึงพร้อมด้วยความรู้คุณและตอบแทนคุณท่านนั้น พระ-พุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็น “ยอดคน” ของโลกนี้เลยทีเดียว
ความข้อนี้สอดคล้องกับพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า
“ภูมิ เว สปฺปุริสานํ กตญฺญูกตเวทิตา” แปลว่า “ความกตัญญูกตเวทีเป็นพื้นฐานของการเป็นคนดี”
ปู่จะแปลง่าย ๆ ว่า
“ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี” ก็คงไม่ผิด
หลานรัก เพื่อให้หลานเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นว่าคนที่หาได้ยากทั้งสองประเภทข้างต้นนั้นมีลักษณะอย่างไร ปู่จะเล่านิทานต่อไปนี้ให้หลานฟัง
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…
มีมหาเศรษฐีอยู่คนหนึ่ง เขาเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติ ข้าทาสบริวารมากมาย ทั้งยังใจบุญสุนทาน นิยมตักบาตรทำบุญ และสงเคราะห์คนอนาถาตกยากเป็นประจำไม่เคยขาด
วันหนึ่งมีสมณะรูปหนึ่งจาริกภิกขาจารผ่านมาทางหน้าปราสาทอันใหญ่โตโอฬารของตนท่านเศรษฐีเหลือบไปเห็น จึงอาราธนาท่านมารับบาตร มหาเศรษฐีตักข้าวหอมกรุ่นถวายท่านไปหนึ่งทัพพี สมณะหนุ่มรูปนั้นอนุโมทนาแล้วก็เดินจากไปด้วยอาการอันสงบสำรวม
ล่วงกาลผ่านไปหลายปี
มหาเศรษฐีคนนั้นกลายเป็นคนตกยากไม่รู้ว่านรกชังหรือสวรรค์แกล้ง เขาถูกโกงจนสิ้นเนื้อประดาตัว กลายมาเป็นยาจกเข็ญใจพลัดที่นาคาที่อยู่ อาศัยขอทานเขาเลี้ยงชีพไปวันต่อวันเท่านั้นเอง
วันหนึ่งขอทานมอซอคนนี้เดินโซซัดโซเซเข้ามาถึงในวัดที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ เขาเข้าไปพบภิกษุมากมายหลายรูปเพื่อขอบวช ด้วยคิดว่าการบวชคงจะเป็นหนทางสุดท้ายที่จะยังชีพรอดต่อไปโดยไม่อดอยากตายไปเสียก่อน
แต่ไม่ว่าจะบากหน้าไปหาภิกษุรูปใดก็ล้วนแต่ถูกปฏิเสธ
เพราะสภาพร่างกายที่แก่ชรา งก ๆ เงิ่น ๆ สกปรมมอมแมม บวกกับความเป็นคนไม่มีหัวนอนปลายเท้า จึงไม่มีพระภิกษุรูปใดอยากข้องแวะด้วย แต่ถึงแม้จะถูกปฏิเสธกี่ครั้งกี่หน พราหมณ์เฒ่าก็ยังไม่ละความพยายาม
แกยังคงดุ่มเดินต่อไปด้วยใจสู้จนกระทั่งไปพบกับพระพุทธองค์เข้าโดยบังเอิญทรงเรียกประชุมสงฆ์ พลางตรัสถามว่า ใครจะรับบวชให้เขาได้บ้าง ที่ประชุมเงียบกริบไม่มีใครกล้าออกตัวรับเป็นธุระในการบวชให้พราหมณ์เฒ่าผู้ไม่รู้ที่มาที่ไปคนนั้น
ท่ามกลางความเงียบนั้นเอง ก็มีพระมหาเถระรูปหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า ท่านยินดีรับเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้พราหมณ์ตกยากคนนี้เอง
พระพุทธองค์ตรัสถามว่า ทำไมถึงยินดีจะบวชให้พราหมณ์เฒ่าผู้ไม่รู้ที่มาที่ไปคนนี้ล่ะพระมหาเถระทูลตอบว่า หากจำไม่ผิด ท่านน่าจะได้เคยพบกับพราหมณ์เฒ่าคนนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว เพียงแต่ว่าสภาพตอนนั้นกับตอนนี้ ร่างกายและวัยของพราหมณ์เปลี่ยนไปมากยังกับเป็นคนละคนเลยทีเดียว แล้วพระเถระก็รำลึกความหลังให้ฟังว่า
หลายปีมาแล้วท่านเคยจาริกภิกขาจารผ่านไปยังคฤหาสน์ของพราหมณ์ผู้นี้ ตอนนั้นเขายังร่ำรวย มีข้าทาสบริวารมากมาย ทุกวันจะเปิดคฤหาสน์ทำบุญทำทานให้แก่คนยากคนจนไม่เคยขาด ตอนนั้นพราหมณ์คนนี้ได้ตักข้าวสวยทัพพีหนึ่งใส่ลงในบาตรของท่านและนั่นคือเหตุการณ์เดียวที่ท่านกับพราหมณ์คนนั้นได้เข้ามาเกี่ยวข้องกันจากนั้นต่างคนต่างก็ไปมีวิถีชีวิตของตนเองไม่เคยแวะเวียนมาพบกันอีกเลย แต่เพียงข้าวทัพพีเดียวนี้ ก็เป็นเหตุผลอันเพียงพอแล้วที่ท่านยินดีจะรับเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้พราหมณ์ผู้ตกยาก
ครั้นทรงทราบเหตุผลอย่างนี้แล้วพระพุทธองค์จึงทรงสาธุการแก่พระสารีบุตรแล้วตรัสยกย่องว่า
“สารีบุตรคือยอดแห่งสาวกผู้เปี่ยมด้วยความกตัญญูกตเวทีของเรา”
นับแต่นั้นเป็นต้นมา เวลาจะทรงสอนเรื่องความกตัญญูกตเวที พระพุทธองค์จะทรงยกเรื่อง “ข้าวสวยทัพพีเดียว” นี้มาเล่าอยู่เสมอ
ปุณณ์และปัณณ์หลานรัก
ข้าวสวยทัพพีเดียว พระอรหันต์ฉันแล้วยังไม่ลืมเลย แล้วหลานทั้งสองเล่าได้รับความรัก ความเมตตา น้ำนม ข้าวปลาอาหาร เสื้อผ้าอาภรณ์ ที่อยู่อาศัย การศึกษา จากมารดาบิดามาแล้วมากมายเพียงไรปู่หวังว่าหลานทั้งสองคงจะจำคุณูปการเหล่านี้ได้ไม่ลืมเลือน และเมื่อจำได้แล้วก็โปรดอย่าลืม หาโอกาสตอบแทนพระคุณมารดาบิดาทั้งสองท่านนี้ให้ดี
ปู่ขอย้ำอีกทีว่า
“ความกตัญญูกตเวทีนี้ไม่ใช่สำหรับมีไว้รู้เท่านั้น แต่ควรจะลงมือทำด้วย และเมื่อจะลงมือทำนั้น ก็ควรจะ ‘ททท.’ คือ ‘ทำทันที’ ไม่ต้องรอให้พ่อแม่แก่เฒ่าแล้วจึงคิดจะลงมือทำ
“ขอให้หลานทั้งสองจงจำไว้ว่า ความกตัญญูกตเวทีที่มาสาย ก็เหมือนไฟไหม้จนมอดแล้วรถดับเพลิงเพิ่งมาถึงนั่นแหละต่อให้มากันกี่คันต่อกี่คัน ก็หามีประโยชน์อันใดไม่ ลูกหลานที่เปี่ยมกตัญญูจึงควรตอบแทนพระคุณท่านเสียตั้งแต่เมื่อท่านยังคงมีชีวิตอยู่กับเรา เนื่องเพราะลูกหลานกตัญญูคือสิ่งชุบชูจิตใจที่วิเศษที่สุดของพ่อแม่”
Photo by Timothy Eberly on Unsplash
บทความที่น่าสนใจ
มรณานุสติภาวนา (การระลึกถึงความตาย) ท่าน ว.วชิรเมธี
กุศโลบายสลาย ความโกรธ บทความดีๆ จาก ท่าน ว. วชิรเมธี
โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ บทความดีๆ จากท่าน ว.วชิรเมธี
สันติในเรือนใจเท่ากับสันติในโลก ว.วชิรเมธี
หลักโยนิโสมนสิการ และกัลยาณมิตรสู่การมีชีวิตที่ดี โดย ท่าน ว.วชิรเมธี