จุลินทรีย์, โพรไบโติก, ระบบย่อย, ลำไส้

จุลินทรีย์ ดี มิตรสร้างสุขภาพที่ขาดไม่ได้

จุลินทรีย์ ดี มิตรสร้างสุขภาพที่ขาดไม่ได้

จุลินทรีย์ ดี หรือโพรไบโอติกในลำไส้ ส่งผลดีต่อร่างกายอย่างไร จากหนังสือเรื่อง Effortless Healing โดย ดอกเตอร์โจเซฟ เมอร์โคลา แพทย์แผนปัจจุบัน ที่หันมาศึกษาด้านธรรมชาติบำบัดจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐอเมริกา กับวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้ทุกๆ ระบบของร่างกายทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ มาเริ่มต้นลงมือสร้างวิถีชีวิตใหม่ เพื่อสุขภาพแข็งแรง สมองแจ่มใส อ่อนกว่าวัยไปด้วยกัน

ดอกเตอร์โจเซฟ อธิบายว่า การที่คนเรามีสุขภาพแข็งแรงดีได้นั้นไม่ได้เกิดจากการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานประสานกันอย่างพอเหมาะเท่านั้น แต่ยังต้องพึ่งพาอาศัยแบคทีเรียดีที่มีอยู่ในลำไส้มากถึง 100 ล้านล้านเซลล์มาช่วยให้การทำงานในระบบต่างๆ สมบูรณ์ครบถ้วน

คนส่วนใหญ่ทราบว่า แบคทีเรียดีเหล่านี้ มีหน้าที่ช่วยย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารต่างๆ แต่มิตรตัวจิ๋วๆ เหล่านี้ยังมีอยู่ในช่องปาก ช่องคลอด และผิวหนัง ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ อีก ดังนี้

  • สนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลดการติดเชื้อ
  • ช่วยขับโลหะหนักและสารเคมีอื่นๆ ออกจากร่างกาย
  • สร้างวิตามินบีและวิตามินเค
  • สร้างสารสื่อประสาท ช่วยให้การทำงานของระบบประสาทเป็นไปตามปกติ

จุลินทรีย์, โพรไบโติก, ระบบย่อย, ลำไส้

ดูแลสมองที่ 2 ด้วยโพรไบโอติก

ดอกเตอร์โจเซฟ อธิบายว่า ช่วง 10 ปี หลังมานี้ นักวิจัยหันมาศึกษาประโยชน์ของจุลินทรีย์ดีหรือโพรไบโอติกในลำไส้มากขึ้น และพบว่าเมื่อปริมาณจุลินทรีย์ดีในลำไส้สมดุล จะช่วยให้การส่งสัญญาณผ่านเส้นประสาทในลำไส้สื่อสารไปที่สมองได้ดี เป็นที่มาของการเรียกระบบลำไส้ว่า “สมองที่ 2”

ตัวอย่างที่สำคัญคือ งานวิจัยจาก Texas Tech University สหรัฐอเมริกาซึ่งพบว่า แบคทีเรียบางสายพันธุ์สัมพันธ์กับการผลิตสารสื่อประสาท เช่น กาบา เซโรโทนิน โดพามีน และส่งต่อจากลำไส้ไปยังสมองผ่านเส้นประสาทคู่ที่ 10 หรือเส้นประสาทเวกัส (Vagus Nerve) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประสาทพาราซิมพาเทติก

พบในกล้ามเนื้อเรียบของหลอดอาหารกระเพาะอาหาร ลำไส้ จนถึงส่วนทอดขวางของลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน หัวใจ ปอดรวมทั้งต่อมต่างๆ ของทางเดินลำไส้ใหญ่และมีประสาทรับความรู้สึกจากอวัยวะต่างๆ เหล่านี้ด้วย

นอกจากนี้งานวิจัยจาก University of California สหรัฐอเมริกา ยังพบว่าผู้หญิงที่กินโยเกิร์ตเป็นประจำไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง มีรูปแบบการทำงานของสมอง และการเชื่อมต่อสัญญาณกับสมอง ที่แตกต่างกับกลุ่มที่ไม่กินโยเกิร์ตเลยแสดงว่าการรักษาสมดุลโพรไบโอติกในลำไส้มีผลต่อสมอง

ข้อมูลดังกล่าวสัมพันธ์กับงานวิจัยอีกฉบับที่พบว่า แบคทีเรียบางสายพันธุ์ซึ่งมีในโยเกิร์ตส่งผลให้ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ช่วยให้อาการวิตกกังวลและซึมเศร้าลดลงได้

 

 

 

 

<< สังเกตสัญญาณเตือนภัยจากลำไส้ อยู่ที่ 2 ค่ะ >>

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.