วิตามิน, วิตามินเอ

[[EP.2]] เรื่อง วิตามิน โดย ดร.สาทิส อินทรกำแหง : เจ้าพ่อวิตามิน (ตอนที่ 2)

เรื่อง วิตามิน : เจ้าพ่อวิตามิน (ตอนที่ 2)

เอลเมอร์ แมคคอลลัม ได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าพ่อวิตามิน” เพราะเป็นคนแรกที่ค้นพบ วิตามิน A แต่กว่าเรื่องของ วิตามิน จะแพร่หลายเป็นที่ยอมรับนับถืออย่างแท้จริงก็ต้องใช้เวลานานมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการค้นพบตัวยาใหม่ๆ ในวงการแพทย์บางตัวใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็เป็นที่รู้จักและต้องการไปทั่วโลก

แต่วิตามิน A เมื่อถูกค้นพบเป็นครั้งแรกโดยอาจารย์ทางชีวเคมีการเกษตร คือ อาจารย์เอลเมอร์เวอร์เนอร์ แมคคอลลัม เมื่อปี 1912 นั้น ไม่มีการตื่นเต้น หรือตื่นตัวอะไรนักหนาในวงการแพทย์ และวงการอาหารและกว่าจะมีการค้นคว้าเรื่องวิตามินต่อมา จนพบวิตามินตัวอื่นๆ พอจะเป็นหลักเป็นฐานแน่นอนได้ ก็ต้องใช้เวลาถึง 36 ปี และยิ่งมาถึงสมัยผู้ค้นคว้าวิตามินลึกไปถึงด้านชีวเคมีจนได้รับรางวัลโนเบล อย่างเช่น อาจารย์ไลนัส พอลลิ่ง นั้น ก็ต้องใช้เวลารวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 50 ปี

การที่วิตามินต้องใช้เวลานานอย่างเหลือเกินกว่าจะได้ผุดได้เกิดในวงการแพทย์ได้นั้น ก็เพราะ ในตอนแรกแมคคอลลัมเข้าใจว่า วิตามินจะอยู่แต่ในเนื้อสัตว์และไขมันเท่านั้น ตอนแรกแมคคอลลัมใช้ชื่อเรียก วิตามิน A ของเขาว่า “FAT-SOLUBLE A” นั่นก็หมายความว่า วิตามิน A มาจากไขมัน ต่อมาเขาเปลี่ยนไปเรียกว่า “VITAMIN A” (VITA = LIFE + AMINE = AMINO ACID = PROTEIN) นั่นก็หมายความว่า เขาเชื่อว่าวิตามิน ซึ่งต่อไปจะมีต่ออีกหลายตัวอักษรนั้นมาจากกลุ่มไขมันและโปรตีนทั้งสิ้น

ดังนั้นต่อมาอีก 10 ปี หลังจากค้นพบวิตามิน A แมคคอลลัม ก็ได้ค้นพบวิตามิน D ซึ่งเป็นวิตามินอีกตัวหนึ่งจากกลุ่มไขมัน

ต่อมาอีกหนึ่งปีก็มีผู้ค้นคว้าตามแบบของแมคคอลลัม ก็ได้พบวิตามินอีกตัวหนึ่งคือ วิตามิน E (Tocopherol) ซึ่งเป็นวิตามินจากกลุ่มไขมันอีกเหมือนกัน ผู้ค้นพบคือ H. EVAN และ K. BISHOP

วิตามินที่ค้นพบตอนแรกๆ คือ A, D และ E จึงเป็นวิตามินที่ได้มาจากไขมันทั้งสิ้น และก็ทำให้นักค้นคว้าด้านวิตามินในสมัยแรกเชื่อกันว่า วิตามินไม่ว่าจะค้นพบใหม่ๆ ในอนาคตอย่างไร จะต้องมาจากไขมันและโปรตีนทั้งหมด และนั่นคือความเชื่อซึ่งทำให้การค้นคว้าหาวิตามินตัวอื่นๆ ต้องหลงทางและเสียเวลานานกว่าจะค้นพบวิตามินตัวอื่นๆได้ครบด้วน

จนกระทั่งอีก 2 ปีต่อมาหลังจากแมคคอลลัมพบวิตามิน A โจเซฟโกลด์แบร์เกอร์ แพทย์สาธารณสุข ซึ่งเป็นรุ่นน้องของแมคคอลลัมได้รับคำสั่งให้ไปสอบสวนการเจ็บป่วยของประชาชนด้วยโรคโรคหนึ่ง ซึ่งในสมัยนั้นเชื่อกันว่าเป็นโรคระบาด คือ โรคเพลลากรา (PELLAGRA)

สมัยนั้นอยู่ในราว 1914 เป็นสมัยที่เท็ดดี้โรสเวลท์ เป็นประธานาธิบดีอเมริกา โรคเพลลากราเป็นโรคระบาดอยู่ทางตอนใต้ของอเมริกา มีผู้ป่วยประมาณ 100,000 คน และผู้ที่ตายด้วยโรคนี้ไม่ต่ำกว่าปีละหลายพันคน จำนวนผู้ป่วยและคนตายระพับนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อมองจากมุมของรัฐบาลและนักการเมือง และยิ่งการเจ็บป่วยเกิดขึ้นในถิ่นภาคใต้ซึ่งถือเป็นถิ่นสำคัญในการหาเสียงของพรรคการเมือง ประธานาธิบดีจึงเห็นว่าโรคเพลลากรานี้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนแปลงฐานะและสภาพทางการเมืองของประธานาธิบดีได้ เท็ดดี้โรสเวลท์ จึงสั่งให้นายแพทย์โจเซฟโกลด์แบร์เกอร์ ออกไปดูแลและสอบสวนหาทางแก้ไขให้ได้ว่า โรคเพลลากรานี้มันคืออะไรแน่ และจะแก้ไขหรือรักษาโรคนี้ให้หมดไปได้อย่างไร

วิตามิน, วิตามินเอ

โรคเพลลากรานั้นว่ากันที่จริงก็คือ โรคของคนจน เกิดจากการขาดอาหารหรือกินอาหารไม่ถูกส่วน เลยทำให้ขาดวิตามิน B3 หรือ NIACIN ซึ่งในสมัยนั้น ในวงการแพทย์และโภชนาการยังไม่มีใครรู้จักและค้นพบ

ในขณะเดียวกันก็มี AMINO ACID ตัวหนึ่งชื่อ TRYPTOPHAN ซึ่งเป็นตัวร่วมช่วยสร้างไนอะซิน ซึ่งถ้าขาดกรดแอมิโนตัวนี้ ก็จะทำให้เกิดโรคเพลลากราขึ้นได้เช่นกัน

อาการของเพลลากรา ก็คือ ตามเนื้อตามตัวของผู้ป่วยจะเกิดเป็นสะเก็ดหรือเกล็ดแห้งๆ ทั่วตัว โดยเฉพาะบริเวณที่ถูกแดดจะเป็นมากกว่าเพื่อน นอกจากนั้นในปากคอจะเกิดอาการบวม หรือปากเปื่อยเป็นแผล จะมีอาการท้องเดิน ท้องเสีย ถ้าเป็นมากๆ จะเกิดอาการซึมเศร้าและมีภาพหลอน และในที่สุดก็จะถึงตายได้

ในสมัยนั้น แม้แต่แพทย์ประจำตัวประธานาธิบดีอย่างโจเซฟโกลด์แบร์เกอร์ ก็ยังไม่รู้จักว่าวิตามิน B3 หรือไนอะซินนั้นคืออะไร แต่เขารู้ว่าคนเหล่านี้เป็นคนจนและอาหารการกินมีคุณภาพต่ำ โดยเฉพาะพวกคนจนภาคใต้ จะกินแต่ข้าวโพดและมันหมูเป็นอาหารหลัก และนี่คือต้นเหตุของการเกิดโรคเพลลากรา

โกลด์แบร์เกอร์เกิดความคิดว่า ถ้าให้อาหารดีๆ แก่คนไข้เหล่านี้กิน คงจะช่วยให้หายจากโรคเหล่นี้ได้ อาหารดีๆ ที่รู้จักกันในสมัยนั้นคือ เนื้อ นม ไข่ เขาจึงทดลองให้เนื้อ นม ไข่ อย่างชนิด “เต็มที่” หรือ “เต็มคราบ” แก่คนไข้เพลลากรา

ปรากฏว่าคนไข้ทุกคนหายวันหายคือและหายอย่างชนิดเป็นปลิดทิ้งด้วย

นับตั้งแต่รักษาเพลลากราด้วยเนื้อ นม ไข่ หาย โกลด์แบร์เกอร์ก็มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า เพลลากราไม่ใช่โรคระบาดหรอเป็นโรคซึ่งติดต่อกันได้ แต่เขาเชื่อว่าที่ป่วยเป็นโรคนี้เพราะร่างกายเกิดขาดแคลนสารอาหารบางอย่างต่างหาก

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.