เอริน กรูเวลล์

เอริน กรูเวลล์ ครูผู้เปลี่ยนเด็กเกเรให้กลายเป็นนักเขียนเพื่ออิสรภาพ

เอริน กรูเวลล์ (Erin Gruwell) รู้ดีว่าการปลุกปั้นเด็กสักคนนั้นยากเย็นขนาดไหน

ฤดูใบไม้ร่วงปี 1994 เอรินเริ่มงานสอนครั้งแรกที่ วู้ดโรว์ วิลสัน ไฮสกูล แคลิฟอร์เนีย ห้อง 203 ที่เธอรับผิดชอบประกอบด้วยเด็กอายุราว 14 – 15 ปีหลายเชื้อชาติ เช่น แอฟริกัน-อเมริกัน ละตินอเมริกัน กัมพูชา เวียดนาม และอเมริกัน เด็กๆ จับกลุ่มกันเป็นแก๊งตามเชื้อชาติ หลายคนในห้องนี้เคยอยู่ในสถานกักกัน ครอบครัวแตกแยก พกอาวุธ เสพยา และถูกผู้ใหญ่ตราหน้าว่า ““เหลือขอจนหมดทางสอน””

ทุกๆ วันเมื่อเดินออกจากโรงเรียน พวกเขาต้องเจอกับคู่อริที่พร้อมจะหยุดทุกปัญหาด้วยลูกกระสุน

เอรินอดทนสอนอะไรต่อมิอะไรอย่างที่ครูประจำวิชาภาษาอังกฤษควรสอน แม้จะไม่ค่อยมีใครตั้งใจฟัง แต่แล้ววันหนึ่งความอดทนของเธอก็สิ้นสุด เมื่อนักเรียนพากันส่งกระดาษวาดภาพล้อเลียนเพื่อนที่เป็นคนผิวดำไปทั่วห้องอย่างสนุกสนาน เธอเล่าด้วยเสียงปวดร้าวว่า นาซีก็ใช้วิธีเผยแพร่ภาพชาวยิวที่มีจมูกงองุ้มเพื่อสร้างความเกลียดชัง ก่อนจะนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวผู้บริสุทธิ์นับล้าน

เอรินช็อกมากยิ่งขึ้นเมื่อนักเรียนเกือบทั้งห้องไม่รู้จักว่า ““การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”” คืออะไร ทั้งที่เกือบทุกคนยอมรับว่าเคยถูกไล่ยิง

 

เอริน กรูเวลล์
@medium.com

หลังจากวันนั้นเอรินพยายามหาวิธีใหม่ๆ นอกกรอบมาสอนเด็กๆ เช่น เล่นเกมที่ทำให้พวกเขาค่อยๆ เข้าใจว่า แม้คนเราจะแตกต่างกัน แต่ก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เอรินใช้เงินส่วนตัวพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษาที่ Museum of Tolerance ซึ่งแสดงข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เธอเชิญชาวยิวที่รอดชีวิตมาดินเนอร์ร่วมกับเด็กๆ และบอกให้ทุกคนเขียนไดอะรี่ทุกวันโดยที่เธอจะไม่อ่านถ้าเด็กๆ ไม่อนุญาต ส่วนใครที่อยากให้เธออ่านก็เพียงนำมาใส่ไว้ในล็อกเกอร์ซึ่งเธอจะมีกุญแจคอยปิด – เปิด

เอรินทำงานพิเศษเป็นพนักงานต้อนรับในโรงแรมและพนักงานขายในห้างสรรพสินค้า เพื่อหาเงินมาซื้อหนังสือให้เด็กๆ อ่าน เนื่องจากโรงเรียนไม่อนุญาตให้เด็กห้อง 203 ยืมหนังสือ เธอเลือกหนังสือที่เป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับชีวิตของเด็กวัยรุ่นที่ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรง เช่นเรื่อง ““บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์””

 

เอริน กรูเวลล์
@globalteacherprize.org

 

เอริน กรูเวลล์
@newuniversity.org

เมื่อเวลาผ่านไป ลูกศิษย์ที่เคยบาดหมางก็หันมารักและใส่ใจกันและกัน ห้องเรียน 203 กลายเป็นบ้านหลังที่สองของพวกเขา อย่างไรก็ตาม เพื่อนครูคนอื่นกลับมองว่าเธอคือตัวปัญหา ซ้ำร้ายไปกว่านั้น สามีที่เคยรักกันดีก็ขอหย่า เขาให้เหตุผลว่า ““นี่มันเป็นชีวิตที่ผมไม่ได้เลือก””

ในที่สุดเอรินและเด็กๆ ห้อง 203 ร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม Freedom Writers (นักเขียนเพื่ออิสรภาพ) เผยแพร่เรื่องราวจากไดอะรี่สู่อินเทอร์เน็ต โดยหวังว่า ข้อเขียนเหล่านี้จะเป็นกำลังใจให้เด็กคนอื่นที่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกันได้เชื่อเหมือนพวกเขาว่า ไม่ว่าอดีตจะเป็นเช่นไร ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นคนดีได้

ต่อมาเรื่องราวทั้งหมดได้รับการตีพิมพ์ในชื่อ ““The Freedom Writers Diary”” เอรินนำรายได้จากการขายหนังสือมาก่อตั้ง มูลนิธินักเขียนเพื่อสันติภาพ ในปี 1999 เอริน กรูเวลล์ ในฐานะประธานของมูลนิธิ ต้องเดินทางไปแสดงปาฐกถาตามโรงเรียน หน่วยงานของรัฐ สถานกักกัน และบริษัทหลายแห่งทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยพัฒนาการเรียนการสอน และกระตุ้นให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหันมาใส่ใจกับการมอบ “”โอกาสครั้งที่สอง”” แก่เด็กๆ ที่ก้าวพลาดเหล่านั้น

 

@covington.kyschools.us

 

เรื่องของเอรินถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2012

ณ วันนี้ ลูกศิษย์ที่เอรินฟูมฟักด้วยหัวใจเติบโตงดงามขึ้นทีละน้อย และเชื่อว่าจะเติบโตงดงามต่อไปอีกยาวนาน

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  Violet

ภาพ  apbspeakers.com

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

การบรรยายครั้งสุดท้ายของ แรนดี้ พอสช์ ผู้เขียน The Last Lecture

ความสําเร็จของ ริชาร์ด แบรนสัน

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.