อย่าอยู่อย่าง คนรกโลก โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
มีพระบาลีบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า คนรกโลก
นะ สิยา โลกะ วัฑฒะโน
อย่าเป็นคนรกโลก หรือจมโลก ติดข้องอยู่ในโลก
ที่ว่า “คนรกโลก” นั้นก็หมายเอาคนที่มาอยู่ในโลกแล้ว เกิดมาบนโลกแล้วมีแต่จะมาเอา มากอบ มาโกย มาโกง มากิน มาเก็บ มากัก มากำ มากก มากอด รวมทั้งเกรี้ยวกราดและโกรธเกลียดโลกด้วย แต่ไม่เคยให้อะไร ๆ กับโลกเลย ไม่เคยแม้คิดที่จะทำประโยชน์ต่อโลกเลย หรือถ้าจะให้อะไร ๆ แก่โลกหรือแก่ใคร ๆ ก็ต้องมีเงื่อนไข มีผลประโยชน์ที่ตัวองจะได้รับเป็นการตอบแทน เสมือนเป็นการลงทุน การให้แบบนั้นแท้จริงแล้วจึงไม่เรียกว่าการให้ แต่เรียกว่าเป็นการเอารูปแบบหนึ่งนั่นเอง
คนประเภทนี้มักจะมีคำพูดในทำนองที่ว่า “จะให้กันฟรี ๆ ได้อย่างไร” หรือ “ของฟรีไม่มีในโลก” ฯลฯ แต่ แท้ที่จริงแล้วทุกอย่างในโลกนั้นล้วนได้มาฟรี ๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างในโลกล้วนเป็นของฟรี โลกหรือธรรมชาติให้เรามาฟรี ๆ ทั้งหมด
นับตั้งแต่ขันธโลก คืออัตภาพร่างกายอันประกอบด้วยธาตุ 4 ขันธ์ 5 ก็ได้มาฟรี ๆ
ลมหายใจที่หายใจเอาอากาศเข้าไปก็ได้มาฟรี
ทรัพยากรทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ภูเขา น้ำตก สายลม แสงแดด พระจันทร์ และดวงดาวทั้งหลายก็ได้มาฟรี ๆ ทั้งนั้น
พืชพรรณธัญญาหารทั้งหลาย และอื่น ๆ อีกมากมาย โลกก็ให้เราฟรี ๆ อีกเหมือนกัน
ถ้าธรรมชาติหรือโลกจะไม่ให้อะไรเราฟรี ๆ ก็รับรองได้เลยว่าจะไม่มีใครสามารถนำสิ่งต่าง ๆ มาใช้ได้ เพราะถ้าโลกไม่อนุญาต เมื่อนำไปใช้แล้วก็จะเกิดโทษภัยอย่างมหันต์ เช่น เจ็บป่วยล้มตาย เกิดหายนะ ภัยพิบัติต่าง ๆ ขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ว่าธรรมชาติหรือโลกให้เราฟรี ๆ นั้นก็เป็นเพียงแค่การให้ยืมใช้เท่านั้น สรรพสิ่งในโลกนี้ที่เรามี เราใช้กันอยู่ จึงเป็นเพียงของกลางที่ต้องใช้ร่วมกันแบบสาธารณะกับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะสามารถจับจองเป็นเจ้าของ หรือตีตราจองครองกรรมสิทธิ์ได้
ฉะนั้นจึงถามว่าท่านทั้งหลายควรแล้วหรืออย่างไรที่จะไป “ตู่” เอาสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกว่าเป็นของเรา ไปตู่เอามาแล้วก็ยึดมั่นถือมั่นหวงแหน หวงห้ามว่านี่ของฉัน นั่นของเธอ การกระทำเช่นนี้ถือว่าถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือ
โดยเฉพาะธาตุ 4 ขันธ์ 5 คือร่างกายและจิตใจที่เราใช้กันอยู่นั้น แท้จริงแล้วก็เป็นของฟรีมาจากธรรมชาติล้วน ๆ ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง นอกจากธรรมชาติเท่านั้น
นี่คือความจริง ส่วนใครจะรู้ก็ตาม หรือไม่รู้ก็ตาม ความจริงก็จะเป็นอย่างนี้อยู่วันยังค่ำ
สรรพสิ่งทั้งหลายเป็นของที่เรายืมมาใช้ได้ชั่วคราวเท่านั้น ในที่สุดต้องส่งคืนเจ้าของที่แท้จริงคือธรรมชาติ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังนั้นจึงขอให้การส่งคืนเป็นการคืนด้วยความบริสุทธิ์ เช่น คืนขันธ์ที่บริสุทธิ์ คืนธาตุที่บริสุทธิ์แก่โลกหรือธรรมชาติด้วยความบริสุทธิ์ใจ หากทำอย่างนี้ได้จึงจะได้ชื่อว่า ไม่เป็นคนรกโลก ไม่เป็นคนติดหนี้โลก และ เมื่อไม่ติดหนี้โลกหรือธรรมชาติแล้ว โลกและธรรมชาติก็จะปล่อยเราไป ไม่ดึงกลับมาให้เกิดในโลก เพื่อใช้หนี้โลก ใช้หนี้ธรรมชาติอีกแล้ว
ส่วนผู้ที่ต้องกลับมาเกิดอีกก็เป็นเพราะว่ายังติดหนี้โลกอยู่นั่นเอง ในเมื่อยังติดหนี้โลกอยู่ แล้วจะหนีไปจากโลกได้อย่างไร ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้วตามกฎธรรมชาติ
เพื่อไม่ให้ต้องอยู่ในโลกอย่างเป็นหนี้ เราจึงต้องชำระหนี้ให้โลกไปเรื่อย ๆ ทั้งต้น ทั้งดอก ด้วยการเจริญมรรค มีสติอยู่กับเนื้อกับตัว รู้กาย รู้ใจ ซึ่งเปรียบเสมือนการส่งดอกเบี้ยให้กับ (ขันธ) โลก คือ รูปนาม ขันธ์ 5 ธาตุ 4
เมื่ออริยมรรคเกิดขึ้นเมื่อไร ย่อมได้ชื่อว่าได้ส่งต้นให้แก่โลก
โสดาปัตติมรรคคือการส่งต้นงวดที่ 1
สกทาคามิมรรคคืองวดที่ 2
อนาคามิมรรคคืองวดที่ 3
ส่วนงวดสุดท้ายก็ได้แก่อรหัตตมรรคนั่นเอง
เมื่อได้ชำระหนี้ให้แก่โลกหมดแล้ว เราก็จะเป็นอิสระจากโลก ไม่มีความเกี่ยวโยงเกาะเกี่ยวอะไรกันอีกต่อไป ถึงจะยังอยู่ในโลกก็อยู่ด้วยความเป็นไท เป็นอิสระ
ถามว่าชีวิตของผู้ที่อยู่แบบเป็นหนี้กับเป็นไท อย่างไหนจะดีเลิศประเสริฐกว่ากัน
ท่านผู้รู้ทั้งหลายก็น่าจะทราบได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ที่มา จิตดวงสุดท้าย โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ
มรณานุสติภาวนา (การระลึกถึงความตาย) – ท่าน ว.วชิรเมธี
ในวิกฤตมีโอกาส ความตายก็เช่นกัน บทความธรรมะจาก พระไพศาล วิสาโล
“จากตาย” เรื่องที่ไม่มีใครในโลกหนีพ้น โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ