หายใจ ให้เป็นบุญ บทความโดย พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)
ชีวิต เริ่มต้นที่ลม หายใจ
หยุด หายใจ ก็หยุดมีชีวิต
ความสำคัญของชีวิตมิใช่จุดเริ่มต้นหรือจุดจบ หากแต่อยู่ที่ช่วงระหว่างมีชีวิต
บางคนอยู่ได้ยาว แต่บางคนอยู่ได้สั้น บางคนทำยาวให้สั้น คือไม่รู้คุณค่าชีวิต ทำเวลาให้สูญเปล่า
บางคนทำสั้นให้ยาว คือเร่งทำคุณงามความดีให้ชีวิตมีคุณค่า ชีวิตสั้น แต่คุณค่าของชีวิตยาว
คำถามสำคัญคือ เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตมีคุณค่า ก็ต้องถามกลับไปว่า ต้องการคุณค่าในด้านไหน
• มีทรัพย์สินเงินทองมาก ๆ
• มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม แข็งแรง
• มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน มีเพื่อนดี
• มีความมั่นคงในชีวิตบนโลกนี้
• มีอริยทรัพย์ คือสุขทางใจ
ถ้าท่านมีพร้อมในสินทรัพย์ รูปร่าง สติปัญญา พอทำมาหาเลี้ยงชีพได้แล้ว สิ่งต่อไปที่ท่านต้องการคือ ความสุขในชีวิต ความเบาใจ สบายใจ สงบใจ ความปลาบปลื้มปีติ ความไม่เหงา ไม่ว้าเหว่ว่าถูกทอดทิ้งยามชรา รู้สึกว่าหมดคุณค่าในยามแก่เฒ่า
ข้าพเจ้าขอเชิญชวนท่านมาหายใจให้เป็นบุญ ตราบใดที่ท่านยังมีลมหายใจ ท่านยังมีคุณค่า ตราบนั้นต่อให้ชีวิตสังขารของท่านแก่เฒ่าร่วงโรยสักเพียงใด ท่านก็ยังมีคุณค่าหากหายใจเป็น แม้นอนป่วยติดเตียง ท่านก็ยังมีคุณค่า หาปีติให้แก่ตัวเองได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ เพียงใช้เวลา 3 นาที ดังต่อไปนี้
ขั้นที่ 1 หายใจลึก – ยาว – ช้า ๆ 3 ครั้ง ทุกครั้งจะต้องลึกยาวช้า เพื่อให้เลือดและออกซิเจนในอากาศขึ้นไปเลี้ยงสมอง เพราะสมองเหมือนรากไม้ เลือดเหมือนน้ำ
ออกซิเจนในอากาศเหมือนปุ๋ย หายใจลึกยาวช้าแต่ละครั้งให้หยุดรอไว้ 3 วินาที เพื่อให้เลือดวิ่งขึ้นสมอง
ขั้นนี้ให้หายใจเข้าทางจมูก ออกทางปาก
ขั้นที่ 2 หายใจลึก – ยาว – เร็ว 5 ครั้ง ทุกครั้งให้เหมือนหมอปั๊มหัวใจคนป่วยเพื่อกระตุ้นหัวใจให้ทำงาน เพราะหัวใจเหมือนเครื่องยนต์ เลือดคือน้ำมัน ต้องทำงานเคียงคู่กัน
ขั้นนี้ให้หายใจเข้าทางจมูก ออกทางปาก
ขั้นที่ 3 หายใจเร็ว – เบา 15 ครั้ง ขั้นนี้ให้หายใจเข้าทางจมูก ออกทางปาก แปลว่าปิดปากหายใจเร็ว – เบา และทำหน้าที่ปั๊มหัวใจตัวเองไปด้วย เป็นการบริหารกล้ามเนื้อหัวใจให้แข็งแรงเหมือนหมอปั๊มหัวใจคนไข้
หลังจากครั้งที่ 15 ของลมหายใจเร็ว – เบาแล้วให้สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ยาว ๆ ช้า ๆ แล้วปล่อยลมออกมาทางปากยาว ๆ ให้หมดจริง ๆ
จากนั้นให้หยุดนิ่ง นิ่ง นิ่ง นิ่ง 1 นาที ไม่คิดอดีต ไม่กังวลอนาคต หยุดอารมณ์ ยูทูบทั้งปวงที่ชอบฉายหนังให้เราดูขณะหลับตา ขณะนั้นภาพในใจทุกอย่างจะหายไปทันที ท่านจะรู้สึกมีอาการดังต่อไปนี้ น้ำตาไหลมีแสงนวลขาวเหมือนปุยเมฆ ขนลุก ร่างกายโคลงเคลง เป็นต้น ไม่ต้องตกใจ นั่นคืออาการของปีติกำลังเกิดขึ้น
ได้ปีติ 1 นาที เท่ากับนอนหลับลึก 1 ชั่วโมง เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดสำหรับคนนอนหลับยาก ได้ปีติ 1 นาทีร่างกายจะผลิตสเต็มเซลล์มาซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกาย ทำให้แข็งแรงขึ้น โรคภัยไข้เจ็บจะหายไป รักษาโรคร้ายนานาชนิดได้อย่างดี เป็นการคืนธรรมชาติสู่ระบบของธรรมชาติ ซึ่งมีลมหายใจเป็นตัวประสานระบบทั้งหมด
ขั้นที่ 4 เป็นขั้นวิปัสสนากรรมฐาน คือเริ่มพิจารณาอารมณ์ทั้ง 3 ขั้นเป็นสมถกรรมฐาน เตรียมพลังงานไว้ใช้เมื่อจิตเริ่มคิด ให้พินิจตัวเอง โดยกำหนดช่วงเวลาไว้ภายใน 1 วัน อย่าให้หลุดไปไกลเป็นเดือนปีหรือแม้แต่เรื่องคนอื่นในอดีต ให้ทบทวนเหตุการณ์ตั้งแต่ตื่นนอน เช่น ตื่นนอน 6.00 น.ให้ทบทวนช่วงละ 1 ชม. 6 – 7 – 8 – 9 – 10 – 11 – 12 – 13 – 14 – 15 – 16 – 17 – 18 – 19 – 20 – 21 – 22.00 น. เข้านอน ว่าเราได้ทำอะไร พูดอะไร เรื่องอะไรกับใคร อารมณ์ของเราเป็นอย่างไร
• อะไรดีเก็บไว้ (Save)
• อะไรไม่ดีลบออกจากความคิด (Delete) ทำเหมือนเราเล่นไอโฟน รับส่งข้อความต่าง ๆ ดีเก็บไว้ ไม่ดีลบออก
• หากทำสมาธิหายใจในช่วงเช้าก่อนลุกจากที่นอน ให้เราทบทวนอดีตคือเมื่อวานนี้เท่านั้น อย่าถอยไปไกลกว่านี้ การทำเช่นนี้จะทำให้ความจำดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ คนที่เป็นโรคความจำสั้น หลงลืมง่าย ก็จะเป็นผู้มีความทรงจำดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่กำลังมีปัญหาความจำเสื่อม
• อิริยาบถในการทำอานาปานสติสมาธิแบบนี้สามารถทำได้ทุกอิริยาบถ เช่น นั่ง นอน ยืน ดีสำหรับผู้ป่วยติดเตียงนอนในห้องไอซียู
• ท่านอนบนเตียงนอนเป็นอิริยาบถที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ ปลอดภัยและสะดวก เหมาะสำหรับคนป่วยเพราะไม่มีใครนั่งป่วยอยู่แล้ว
• ผลดีที่เห็นได้ชัดคือ
+ อารมณ์ดีขึ้น ไม่ฉุนเฉียว
+ ยิ้มง่าย สบายใจ
+ มิตรภาพในครอบครัวดี
+ มิตรภาพในที่ทำงานดี
+ ใบหน้าผ่องใส จิตใจเบิกบาน
+ มองคนในแง่ดี ทักทายด้วยการชื่นชม
+ มองโลกในทางสร้างสรรค์เป็นมิตร
+ นอนหลับสบาย หลับง่ายไม่กังวล ไม่ต้องรับประทานยานอนหลับ
+ ความคิดไม่ติดขัดขุ่นมัว แต่จะผ่องใสในการแก้ปัญหาต่าง ๆ
+ มีความมั่นใจในการทำงาน การเผชิญกับปัญหาในที่ทำงาน ปัญหาครอบครัว
+ ใจเย็นลง นิ่งคิดมากขึ้น ปัญหาที่แก้ไม่ได้ก็จะมีทางออก
+ ไม่ทำงานให้เป็นผู้พิพากษาถูกผิดแต่เพียงผู้เดียว สุขภาพร่างกายจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
+ โรคภัยไข้เจ็บที่เคยเป็นมาอย่างเรื้อรังจะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ
ข้าพเจ้าขออำนวยพรให้ผู้ปฏิบัติทุกท่านประสบความสำเร็จในการฝึกทำสมาธิเพื่อให้เกิดสติปัญญาในการรักษาอารมณ์และแก้ปัญหาชีวิตโดยทั่วกัน
ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 229
ผู้เขียน : พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)
บทความน่าสนใจ
Dhamma Daily: หากทำงาน แล้วรู้สึกว่ากำลังหายใจเข้า หายใจออก เรียกว่า มีสติ อยู่ไหมคะ
ความสุขใน ลมหายใจสุดท้าย…ปรารถนาที่ถูกมองข้าม บทความจาก พระไพศาล วิสาโล
ทุกวันที่ยังมีลมหายใจคือ “ความโชคดี” ที่สุดแล้ว เจิน ณิชชาพัณณ์ ชุณหะวงศ์วสุ