ปล่อยจิตให้เป็นโสด

ปล่อยจิตให้เป็นโสด (บ้างเถอะ!) – ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ

คนเราทำอะไรต้องมีเป้าหมาย โดยเริ่มจากการตั้งหางเสือ แล้วพุ่งไปที่เป้าหมาย (ปล่อยจิตให้เป็นโสด)

…ดังเช่นตัวผมตั้งเป้าที่จะไปนิพพาน ผมจึงปักธงชัยไว้ที่นิพพานแล้วเดินตามเส้นทางแห่งการหลุดพ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อยก็พัก แต่ไม่เคยหยุด ทำให้ไม่ทุกข์ ไม่คาดหวัง แต่ไม่เลิก ฝึกไปเรื่อย ๆ โดยไม่ประมาท ถึงไม่ถึงเป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตน เหมือนการอิ่มข้าว ซึ่งเจ้าตัวเท่านั้นที่รู้

ผมใชัหลักการที่ว่า หากเส้นทางเดินถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงชี้แนะไว้ อย่างไรก็ไม่หลงทาง ตราบใดที่เรามั่นใจในกระบวนการ ซึ่งระหว่างทางก็อาจทำเพื่อโลกบ้าง เพื่อธรรมบ้าง ตราบนั้นเราเดินทางถึงแน่นอน

มีคนเคยถามผมว่า ทำไมผมถึงตั้งเป้าเช่นนั้น หากอุปมาก็เหมือนกับคนที่เคยกินมะม่วงแล้วพบว่า อร่อย ก็เลยกินต่อ กับคนเคยกินของบูดเน่าแล้วรู้ว่าไม่อร่อย เลยเข็ดขยาดไม่กินอีก…มะม่วงอร่อยที่กล่าวถึงคือความสุขทางธรรมระดับลึก ๆ ที่เกิดขึ้นกลางใจ ทำให้ใจโล่งโปร่งสบาย ซึ่งยิ่งใหญ่และลึกซึ้งกว่าความสุขแบบโลก (สุขทางเนื้อหนัง วัตถุ สิ่งสมมุติทั้งหลาย) อย่างไม่สามารถเปรียบเทียบได้ ดังนั้นการที่ผมตั้งเป้าหมายที่จะไปนิพพานจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

แต่กระนั้นการที่ผมทำงานเยอะและหลากหลายทำให้ตัวเองไม่ค่อยมีเวลา ผมจึงใช้หลักการ “บวชอยู่กับงาน” ดังที่ท่านพระอาจารย์พุทธทาสเคยสอนว่า “งานคือธรรม ธรรมคืองาน” แทน…ในงานทั้งหลายที่เราจำเป็นต้องทำนั้น มีทั้งโจทย์และแบบฝึกหัดให้ฝึกสติมากมาย ตั้งแต่กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต จนถึงธรรมในธรรม

ทุกวินาที ทุกอิริยาบถที่ผ่านไป คือแบบฝึกหัดสำหรับฝึกฝน เพื่อสร้างกำลังสติให้ได้เข้าไปดูและรู้ทันการทำงานของขันธ์ 5 ที่ปรากฏตามความเป็นจริง เวลาในการทำงานเปรียบเสมือนนาทีทองที่ทำให้เราได้เห็นความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจวิ่งเข้ามากระแทกใจของตัวเองแล้วทำ ให้อารมณ์เบี่ยงเบนไป

การฝึกรู้เท่าทันความคิดโดยการทำงาน เป็นเคล็ดไม่ลับ ที่ฝึกได้ตลอดเวลา งานยิ่งหนัก ยิ่งเห็นจิตเห็นความคิดชัด ดังนั้นคนขี้เกียจจะเข้าใจเรื่องทางพุทธศาสนาได้ยาก

แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า “จิตกับความคิด” เป็นคนละตัวกัน มือใหม่หัดฝึก ผมแนะนำว่า ทำทีละขั้น เริ่มจากกายรู้กาย ไล่ไปเวทนารู้เวทนา แล้วไปจิตรู้จิต จนในที่สุดจะเป็นธรรมรู้ธรรม เริ่มแรกให้ฝึกสร้างตัวรู้ที่ฐานกายให้ต่อเนื่อง โดยไม่เอาความคิดไปคิดแทนกาย ให้กายรู้เองว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับกาย เช่น รู้ลมหายใจ รู้ผิวหนังที่หน้า รูจมูกรู้ว่าลมหายใจเข้า – ออกเป็นอย่างไร ช้า – เร็ว อุ่น – เย็น ฝ่าเท้ารู้ว่าพื้นอ่อน – แข็ง ผิวหนังรู้ว่าร้อน – เย็น สั่นสะเทือน เจ็บปวด ฯลฯ

ครั้นเมื่อฝึกจนชำนาญแล้ว ก็ค่อยฝึกสังเกตการทำงานของขันธ์ 5 คือฝึกเฝ้าระวัง “ความคิดจร” หรือความคิดที่ไม่ได้เชิญและไม่ได้ตั้งใจจะคิด ซึ่งเป็นความคิดที่เข้ามาเปลี่ยนอารมณ์ของเรา

ตัวอย่างเช่น เมื่อจะเริ่มทำงานก็ดูว่าจิตของเราโล่ง ๆ สบาย ๆ ไหม แล้วลงมือทำงานด้วยใจที่สบาย ๆ หายใจเข้า – ออกสบาย ๆ คิดเรื่องงานที่ทำอยู่ต่อหน้าเป็นปัจจุบัน หากมีความคิดจรแวบเข้ามาก็รู้ให้ทัน ถ้าเป็นเรื่องกุศลก็โอเค รู้แล้วปล่อย ถ้าเป็นเรื่องอกุศลก็รีบดีดทิ้งไป ไม่ต้องไปสนใจ ไม่ต้องตีความ และไม่ต้องขยายความ

ผมเรียกการฝึกแบบนี้ว่า การฝึกแบบสิ้นคิด คือสิ้นคิดไปก่อน ให้กายให้ขันธ์เขาบอกเรา ไม่ใช่คิดเองเออเอง พวกเราตกเป็นทาสของความคิดมานานเกินพอ เราควรฝึกจิตให้รู้เท่าทันความคิด เฝ้าระวังไม่ให้ความคิดส่งอิทธิพลต่อจิตได้แล้ว หลวงพ่อกัณหาบอกผมว่า เมื่อเราทำได้ เราจะมี “หัวใจติดแอร์”

เมื่อเราฝึกกายรู้กาย จิตรู้จิตดีแล้ว ภายในใจเราก็จะสบาย ๆ ภายนอกก็จะรับผิดชอบการงานหน้าที่อย่างเต็มที่ หากเมื่อใดมีความคิดแวบเข้ามาเป็นอกุศล เราจะรู้เท่าทัน อุปมาเป็นดัง “นีโอ” พระเอกเรื่อง “The Matrix” จับความคิดจรที่มาในรูปของกระสุน จากกิเลส (คุณสมิทธใส่แว่นดำ) ยิงเข้าหาได้ทัน และวางมันลงเสีย ดังนั้นเมื่อเจอเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดอารมณ์หรือจิตไม่ว่าง เราก็จะรู้ตัวตั้งแต่ความคิดแรก ๆ หรือกระสุนลูกแรก ๆ ที่กิเลสยิงมา และสามารถจับวางได้ทัน เมื่อความคิดไม่ไปกระแทกจิต จิตก็จะไม่เกิดอาการ ทำให้จิตเราโล่ง ๆ สบาย ๆ ชิล ๆ ต่อไป

ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่ผมเข้าผ่าตัดแล้วฟื้นขึ้นมา พบว่าแขนสองข้างขยับไม่ได้ ยกไม่ได้ เข็มแทงก็ไม่เจ็บ ได้แต่ห้อยต่องแต่งอยู่ข้างตัว ผมจึงรู้สึกสบาย ๆ ชิล ๆ ไม่ทุกข์อะไร เพราะรู้เท่าทันความคิด เช่น พอคิดว่าน้อยใจในโชคชะตาก็ดับมัน พอคิดสงสัยว่าเป็นอะไรก็ดับมัน พอคิดจะพิพากษาหมอที่ผ่าก็ดับความคิดนั้น ๆ หยุดคิดพิพากษา หันมารู้ตัวทั่วพร้อมที่กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม สุดท้ายกลับกลายเป็นผมเองเสียอีกที่ปลอบใจหมอว่า “ไม่เป็นไร”

หรือตอนที่คุณพ่อคุณแม่ของผมท่านป่วยหนักใกล้ตาย ผมก็เฉย ๆ ชิล ๆ เพราะรู้เท่าทันความคิด ก่อนจะร้องไห้ขอให้เรารู้เท่าทันกาย ที่แน่นจากท้องน้อยขึ้นมาอก ดับความคิด ไม่ต้องคิดไปอนาคตว่าพ่อตายจะทำอย่างไร ไม่ต้องคิดถึงอดีตว่าพ่อเคยดีอย่างไร เมื่อเรารู้เท่าทัน เราก็จะมีสติ ทำให้ผ่านเหตุการณ์ทั้งหมดไปได้โดยใจไม่กระเทือน

ถ้าจิตกับความคิดเป็นสามีภรรยากัน ก็จงฝึกให้เขาหย่ากันแล้วให้ความคิดแต่งงานกับสติ…จิตก็จะเป็นอิสระ (โสด!) คือว่าง โล่ง โปร่งและสบายในที่สุด

 

Secret Box

เรื่องทางพุทธศาสนาเป็นอายตนะทางใจ แต่การอ่านการฟังเป็นอายตนะทางตาและหู ซึ่งไม่สามารถอธิบายสิ่งที่ปรากฏที่อายตนะทางใจได้เลย…ถ้าอยากจะเข้าใจเรื่องพวกนี้ ควรมีครูบาอาจารย์สายวิปัสสนาพาฝึกพาทำ เมื่อทำ – ทำ – ทำ แล้วก็ถาม จะทำให้เราเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

 

ปล่อยจิตให้เป็นโสด

 

ประวัติ  ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ อดีตนักวิทยาศาสตร์ขององค์กรนาซ่า ผู้นำหลักพุทธะมาใช้ในการจัดการองค์กรของตน และเป็นผู้สอน(และวางแผน) หลักบริหารองค์กรแนวพุทธแก่บริษัทชั้นนำทั่วประเทศ เจ้าของหนังสือ ฉลาด…ได้อีก! สุขได้อีก…เยอะเล้ย! ฝึกใจง่าย ๆ เก่งได้อีก และอีกมากมาย
ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม  18 ปี

(ปล่อยจิตให้เป็นโสด)

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ / เรียบเรียงโดย ณัฐนภ ตระกลธนภาส

ภาพ  วรวุฒิ วิชาธร

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

“รู้” ใจ…ได้งาน – ศรันย์ ไมตรีเวช (ดังตฤณ)

“สติมา…ปัญญาเกิด” – ดนัย จันทร์เจ้าฉาย

“สติช่วยชีวิต” มณฑิชา จิรพัฒนาการ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.