ประจำเดือน + ช็อกโกแลตซีสต์
ประจำเดือนมาผิดปกติ เสี่ยง ช็อกโกแลตซีสต์ จริงมั้ย วันนี้เราจะมาหาคำตอบจาก แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข กันค่ะ
Question : คุณหมอชัญวลี หนูอายุ 20 ปีค่ะ สังเกตตัวเองว่า ขณะมีประจำเดือนจะมีลิ่มเลือดมาเป็นก้อน จากก้อนเล็กๆ ค่อยๆ เริ่มเป็นก้อนใหญ่ขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่เคยพบมาก่อน แต่ไม่มีอาการปวดท้องค่ะ อยากทราบว่า ก้อนลิ่มเลือดนี้เป็นสัญญาณเตือนว่า กำลังเป็น ช็อกโกแลตซีสต์ ใช่หรือไม่คะ
ช็อกโกแลตซีสต์ คืออะไร
โรคนี้เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และเข้าไปอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยมีดังนี้ค่ะ
- รังไข่ (หากอยู่ที่รังไข่จะทำให้เป็นถุงเลือดเก่า ๆ จึงเรียกว่าช็อกโกแลตซีสต์)
- อุ้งเชิงกรานด้านหน้าและด้านหลัง (anterior and posterior cul-de-sac)
- ปีกมดลูกด้านหลัง(Posterior broad ligament)
- เอ็นหลังมดลูก(Uterosacral ligament)
- ตัวมดลูก
- ท่อนำไข่
- ลำไส้ใหญ่และไส้ติ่ง
การที่เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญเติบโต ต้องอาศัยฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจน โรคนี้จึงไม่พบในคนฮอร์โมนเพศหญิงน้อย เช่น ใกล้หมดหรือหมดประจำเดือน (Pre & post menopause)
อุบัติการณ์โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
พบมากทีเดียว โดยในวัยเจริญพันธุ์เฉลี่ยพบประมาณร้อยละ 20 ซึ่งพบร้อยละ 30 ในคนที่มีอาการปวดประจำเดือน และพบร้อยละ 50 ในคนที่มีลูกยาก
สาเหตุโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่เชื่อว่าเกิดจาก 3 ทฤษฎีดังนี้
- ประจำเดือนไหลย้อนกลับ ทฤษฎีนี้อธิบายว่า เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิด เกิดจากประจำเดือนไหลย้อนกลับไปที่ท่อนำไข่ ออกไปอยู่ในอุ้งเชิงกราน รังไข่ ฯลฯ แต่เมื่อมีประจำเดือน กลับไม่สามารถขับออกมาได้ จึงเกิดพังผืดดึงรั้งอวัยวะต่าง ๆ และการอักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดและมีลูกยาก
- เยื่อบุโพรงมดลูกเคลื่อนไปเจริญอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ ผ่านทางหลอดเลือดและหลอดน้ำเหลือง ทฤษฎีนี้อธิบายโรคเยื่อบุโพรงมดลูกที่เกิดในอวัยวะที่ไกลจากมดลูก เช่น ปอดและผิวหนัง เป็นต้น
- เยื่อบุช่องท้องสามารถเปลี่ยนเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกได้ ทฤษฎีนี้เกิดจากการสังเกตเซลล์เยื่อบุช่องท้องในทารกที่เปลี่ยนเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกได้
3 ปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ได้แก่
- มีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้(จะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนที่ไม่มีพี่น้องเป็นถึง 7 เท่า)
- มดลูกผิดปกติมีการอุดกั้นประจำเดือนที่จะไหลออกมา
- ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายสัมผัสฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจนมากและนานกว่าปกติ เช่น ไม่มีลูก มีประจำเดือนเร็ว หมดประจำเดือนช้า รอบประจำเดือนสั้น มีประจำเดือนมานานมามากในแต่ละเดือน
นอกจากนั้นในต่างประเทศ เชื่อว่า คนที่เป็นโรคนี้ มักจะเป็น ผู้หญิงผิวขาว ผมสีแดง สูง ผอม มีกระที่ใบหน้า ผิวไวต่อแสงแดด มีไฝตามผิวหนัง คล่องแคล่วว่องไว อารมณ์เสียง่าย หากเป็นผู้บริหาร มักจะมีบุคลิกเฉียบขาด
3 ปัจจัยลดการเกิดโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ได้แก่
- มีลูกมาก
- ให้นมลูกนาน
- มีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 14 ปี
- ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดกิน ฉีด หรือฝัง
อาการของช็อกโกแลตซีสต์ ไม่ใช่อาการเฉพาะเจาะจง อาจพบในโรคอื่นได้ เรียงลำดับกับการพบจากมากไปหาน้อย ดังนี้
- ปวดประจำเดือน พบร้อยละ 79 เป็นการปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ คือ ตอนเริ่มมีประจำเดือนจะไม่ปวด แต่ปวดเมื่ออายุมากขึ้น บางคนมีอาการนี้หลังจากมีลูกแล้ว
อาการปวดมีลักษณะพิเศษคือปวดก่อนประจำเดือนมา 2 วัน และหลังจากประจำเดือนหายไปอีก 2 วัน การปวดเป็นแบบก้าวหน้า คือ ปวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกเดือน เมื่อมีประจำเดือนบางคนปวดทวารหนักและปวดปัสสาวะบ่อยร่วมด้วย
- ปวดท้องน้อย พบร้อยละ 69 อาการปวดมีทั้งปวดแน่น ๆ ปวดตลอด หรือปวดจี๊ด ๆ เป็นบางครั้ง
- ปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ พบร้อยละ 45 เป็นอาการปวดลึก ๆ ในช่องท้อง ต่างจากปวดเพราะการอักเสบหรือปวดเพราะช่องคลอดแห้ง ซึ่งมักปวดในช่องคลอดหรือปวดตื้น ๆ
- ท้องผูก ท้องเสีย พบร้อยละ 36
- ปวดลำไส้ พบร้อยละ 29 มีอาการแน่นจุกท้อง เหมือนอาการจากโรคกรดไหลย้อน หรือ ลำไส้อักเสบ
- มีลูกยาก พบร้อยละ 26
- มีก้อนที่รังไข่ (ช็อกโกแลตซีสต์) พบร้อยละ 20
- ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะลำบาก เจ็บแสบเวลาปัสสาวะพบร้อยละ 16
สำหรับอาการประจำเดือนผิดปกติ มามาก มานาน มีลิ่มเลือดปน พบในโรคช็อกโกแลตซีสต์น้อย แต่ก็พบได้ โดยเกี่ยวข้องกับการทำงานของรังไข่ไม่ปกติ แต่ส่วนใหญ่พบในโรคอื่น ๆ มากกว่า เช่น ฮอร์โมนไม่ปกติ เสริมฮอร์โมนจากยา หรือสมุนไพร โพรงมดลูกอักเสบ เนื้องอกมดลูก และมะเร็งภายใน
ซึ่งควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยด่วน
จากคอลัมน์ เปิดห้องหมอสูติ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 404
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ปวดท้องประจำเดือน อาการนี้ไม่ปกตินะสาว
6 อาหาร ลดอาการร้อนวูบวาบ ในสาววัยทอง
เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย โรคซึมเศร้า จึงสัมพันธ์กับฤดูกาล
การแช่เท้าด้วยยาจีนช่วย แก้ปวดประจำเดือน
ติดตามชีวจิตได้ที่