โรคซึมเศร้า

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย โรคซึมเศร้า จึงสัมพันธ์กับฤดูกาล

เคยมั้ยที่ฟ้าหม่นๆ แล้วแอบรู้สึกเหงา เศร้า นั่นเพราะสภาพอากาศมีผลต่อความรู้สึกของเรา

เมื่ออากาศร้อน หลายคนรู้สึกเครียด ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ในขณะที่ในช่วงฤดูฝนอากาศมีความชื้นสูง ท้องฟ้าเป็นสีเทา หรือในฤดูหนาว หมอกเยอะในตอนเช้า ช่วงเวลากลางคืนยาวนานกว่ากลางวันส่งผลให้รู้สึกเหงา เศร้า หรือหดหู่อย่างไม่มีสาเหตุ

แต่…!!! ถ้าอารมณ์เปลี่ยนไปในทางแย่ลงจนส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน นั่นอาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าเรากำลังป่วยเป็น โรคซึมเศร้า หรือมีภาวะเครียดจากสภาพอากาศก็เป็นได้

ทำความรู้จักโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล

โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล ( Seasonal Affective Disorder ; S.A.D) เป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันของแต่ละปีโดยส่วนใหญ่มักเกิดอาการขึ้นในฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน อาจมีอาการต่างๆ ได้แก่ซึมเศร้า เหนื่อยล้าและแยกตัวจากสังคม แม้ว่าอาการต่างๆ มักจะหายไปภายในไม่กี่เดือน แต่ก็อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความรู้สึกและการทำหน้าที่ต่างๆ ของบุคคล อย่างไรก็ตาม มีวิธีการที่จะสามารถช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นได้

ดูแลใจช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง

1.กินอาหารสุขภาพ

เช่นผัก ผลไม้และโปรตีนที่ช่วยเพิ่มระดับของสารสื่อประสาทเซโรโทนินซึ่งเป็นสารเคมีในสมอง ที่มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอารมณ์ซึ่งถ้าปริมาณลดลงอาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ เช่น  ผักปวยเล้ง สับปะรด  ไก่ ปลาแซลมอล ไข่ ชีส  นม เต้าหู้  ถั่วและ เมล็ดธัญพืช ฯลฯ

2. อย่าอยู่ว่างๆ

นั่งๆ นอนๆ จะทำให้หมกมุ่นอยู่กับความคิดและอารมณ์เศร้า หากิจกรรมที่ชื่นชอบหรือมีการเคลื่อนไหวของร่างกายเพิ่มขึ้นทำ เช่น ทำสวนครัว  ทำงานบ้าน เล่นดนตรี อ่านหนังสือ ดูทีวี วาดรูป ฯลฯ

3. หาโอกาสออกไปเดินเล่น

ในวันที่มีอากาศแจ่มใส ท้องฟ้าปลอดโปร่ง เพื่อให้ได้ร่างกายสัมผัสกับแสงแดดอ่อน ๆ บ้างเพราะมีผลงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการได้สัมผัสกับแสงสว่างมีความสัมพันธ์และระดับเซโรโทนินในร่างกาย

4. ออกกำลังกาย

ข้อมูลจากงานวิจัยที่เชื่อถือได้จากประเทศอังกฤษแสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายเป็นประจำอาจอย่างต่อเนื่องช่วยเรื่องอาการซึมเศร้าได้ ควรมีการออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 3-5 วัน ถ้าไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน อาจเริ่มจากกิจกรรมที่ทำเป็นประจำอยู่แล้วให้มีการออกแรงเพิ่มมากขึ้น เช่น การเดินทางไปทำงานด้วยการเดินหรือขี่จักรยาน

5. พบปะสังสรรค์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม

เพื่อให้ได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนฝูงหรือทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่

6. ฝึกใจให้ยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศ

ว่าเป็นแค่เพียงปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ผ่านมาแล้วผ่านไปไม่แน่นอน ประคองใจให้มีสติอยู่กับกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

เนื่องจากการนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องจะมีผลต่อคุณภาพชีวิตและการเกิดภาวะซึมเศร้า พยายามฝึกนิสัยการนอนที่ดี โดยก่อนนอนควรปิดอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ ฝึกผ่อนคลายตัวเองด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การฝึกสมาธิ การฝึกหายใจคลายเครียด การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฯลฯ

 8 .หมั่นสังเกตอาการ

การเปลี่ยนแปลงของตนเองถ้ารู้สึกว่าอารมณ์แปรปรวนและเป็นทุกข์มากจนควบคุมตัวเองไม่ได้ควรแสวงหาความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดหรือไปพบแพทย์ เพื่อจะได้รับการดูแลและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์

บทความอื่นที่น่าสนใจ

วิธี ฝึกกล้ามเนื้อ “ป้องกันล้ม” ในผู้สูงวัย

เรื่องต้องรู้ เมื่อจะ “ล้างจมูก”

ลืมความกังวล ด้วยกิจกรรมง่ายๆ วันละ 5 นาที

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.