ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกล “โรคปอดบวม”
โรคปอดบวม คือภาวะปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส จนทำให้มีหนองและสารปนเปื้อนภายในถุงลม ผู้ป่วยมักมีอาการ คือ ไอ จาม มีเสมหะมาก แน่นหน้าอกจนหายใจไม่ออก คัดจมูก หนาวสั่น มีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2 วัน ปอดบวมมักพบหลังจากการเป็นไข้หวัดเรื้อรัง และในผู้ป่วยโรคหอบหืด ปอดบวมมักพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กเล็กอายุระหว่าง 5 – 10 ปี
อาการปอดบวมส่วนใหญ่มักเริ่มจากการเป็นไข้หวัด เมื่อไปหาหมอคุณหมอมักจะบอกเราว่าระวังปอดบวมนะอยู่บ่อยๆ ใช่มั้ยคะ เอาเป็นว่าวันนีเราไปทำความรู้จักกับอาการปอดบวมให้มากกว่านี้กันดีกว่า เพื่อจะได้รู้เท่าทันและป้องกันตัวเองลึนใกล้ตัวได้
โรคปอดบวม คืออะไร?
เป็นโรคที่มีการอักเสบของปอด ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง จะทำให้ถุงลมปอดเต็มไปด้วยหนองหรือสารคัดหลั่ง ส่งผลให้การหายใจไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนลดลง นั่นเอง
โรคปอดบวม เกิดจากอะไร
โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ เป็นโรคที่มีการติดเชื้อหรืออักเสบของปอด เกิดได้จากการติดเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา หรืออาจ เกิดจากได้รับสารเคมี ยาบางอย่าง เช่น คนที่เผลอไปกินน้ำมันก๊าด ก็จะเกิดปอดบวม ได้ โรคนี้พบได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะจะพบมากในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้มีโรค ประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
โรคปอดบวมอาจเป็นโรคที่เกิดแทรกซ้อนตามหลังไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ หรือ โรคอื่นๆ เช่น หัด ก็ได้
โรคปอดบวมมีอาการอย่างไร
อาการของโรคปอดบวมที่สำคัญ คือ ไอ เหนื่อย หายใจเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจ ลำบาก ในเด็กเล็กๆ ที่มีอาการมาก หากสังเกตที่บริเวณชายโครงจะเห็นว่าใต้ชาย โครงจะบุ๋มเข้าไปเวลาหายใจเข้า และถ้าดูที่จมูกอาจเห็นจมูกบานเวลาหายใจเข้า ด้วย อาจมีไข้สูงหรือไข้ต่ำๆ ก็ได้ ถ้าเป็นรุนแรงมาก ริมฝีปากอาจเขียว ซึ่งแปลว่า ขาดออกซิเจนแล้ว
นอกจากนี้บางคนอาจมีอาการอื่น เช่น ปวดท้อง อาเจียน หรือถ่ายเหลวร่วมด้วย โดยเฉพาะในเด็ก
หากเป็นปอดบวมแล้วจะรักษาอย่างไร
การรักษาขึ้นกับอาการและความรุนแรงของโรค เช่น ถ้าอาการไม่มาก หมออาจ ให้ยาไปรับประทานที่บ้าน แต่ถ้าอาการมาก เช่น ไข้สูงมาก ซึม หายใจเร็ว หอบ อาจต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพราะต้องให้ออกซิเจน และน้ำเพียงพอ รวมถึงฉีด ยาฆ่าเชื้อที่เป็นสาเหตุของปอดบวม ที่สำคัญคือคนทั่วไปมักสังเกตได้ไม่ละเอียด ว่าคนไข้มีอาการมากหรือยัง บางทีก็ลำเอียงเข้าข้างตัวว่าคนไข้ยังมีอาการไม่มาก จึงไปหาหมอเมื่อมีอาการมากแล้ว ทำให้รักษายากหรือเกิดโรคแทรกซ้อนแล้ว ดังนั้น ทุกคนที่มีอาการไข้ไอ เหนื่อย หรือหายใจเร็ว จึงควรไปหาหมอ
การป้องกันโรคปอดบวม
-ฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนป้องกันเชื้อฮิบ (Hib), วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไอพีดีและวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
-ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ รักษาความสะอาดร่างกาย
-รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอประมาณ 8-10แก้ว
-หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรืออากาศไม่ถ่ายเท หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน
-หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าอาการปอดบวมส่วนใหญ่มักเริ่มจากการเป็นไข้หวัด ดังนั้นเมื่อรู้ว่าเริ่มเป็นไข้หวัด ให้รีบรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน พยายามดื่มน้ำอุ่นมากๆ อยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก สำหรับเด็กเล็กควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวม หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด และหมั่นรักษาความสะอาด ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
ข้อมูลประกอบจาก: รพ.กรุงเทพ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ปอดอักเสบ ป้องกันไว้ ดีกว่ารักษา
“ปอดติดเชื้อ” โรคยอดฮิตในผู้สูงอายุ ควรป้องกันแต่เนิ่นๆ
วิ่งดีอย่างไร เสริมปอดแข็งแรง ลดอ้วน เพิ่มภูมิคุ้มกัน