กรมหลวงราชสาริณี ฯ เสด็จบรรพชาเนกขัมมะ ณ วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณี สิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จไปทรงปฏิบัติธรรม ณ วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 เพจ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางจิตนานาชาติได้โพสต์ข้อความว่า
” รุ่งอรุณวันที่ 17 สิงหาคม 2562 เวลา 05.00 น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จลงพระอุโบสถวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย ทรงประกอบศาสนกิจทำวัตรเช้า และทรงอธิษฐานการบรรพชาเนกขัมมะ อันเปี่ยมด้วยพระราชศรัทธาอันยิ่ง
” ต่อมา เวลา 06.30 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงถวายสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุพระสงฆ์สาวกครูบาอาจารย์ ณ ธรรมศาลา วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย โดยมีพระอาจารย์อารยวังโส เป็นประธาน พร้อมทั้งทรงบาตร และถวายสังฆทานแด่คณะสงฆ์ “
เพจสถาบันวิทยาศาสตร์ทางจิตนานาชาติยังกล่าวอีกว่า “ในการนี้ ได้รับอนุญาตจากวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย ให้ส่งภาพแด่คณะศิษย์ศรัทธาได้ชื่นชมพระบารมีและร่วมอนุโมทนา ค่ะ”
ทั้งนี้เพจสถาบันวิทยาศาสตร์ทางจิตฯ ได้อธิบายถึงเรื่องเนกขัมมบารมีเพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา โดยมีความดังนี้
” ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย เนกขัมมะ หมายถึงกุศลทุกประการได้ แต่ถ้าเป็นเนกขัมมบารมีแล้ว ต้องเป็นธรรมที่ทำให้ถึงฝั่งคือดับกิเลส กุศลทั่วไปเช่น การให้ทาน ก็มีแม้ของบุคคลนอกศาสนานี้แต่ไม่ได้เห็นโทษของกิเลส และวัฏฏะ แต่ก็ให้ ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นเนกขัมมะ ( กุศลทุกประการเป็นเนกขัมมะ ) แต่เป็นเนกขัมมบารมีหรือเปล่า ดังนั้น เนกขัมมบารมี ต้องประกอบด้วย ปัญญาที่เห็นโทษของกิเลส และการเกิดหรือการอยู่ในวัฏฏะ เพราะฉะนั้น กุศลทุกประการ เป็นเนกขัมมะ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็น เนกขัมมบารมีครับ ดังข้อความ ในพระไตรปิฎกเรื่อง เนกขัมมบารมี
” พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม 9 ภาค 3 – หน้าที่ 577 (กล่าวว่า) จิตเกิดขึ้นเพื่อจะออกจากกามภพ มีการเห็นโทษเป็นอันดับแรก กำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณา เป็นเนกขัมมบารมี
” พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม 9 ภาค 3- หน้าที่ 578 (กล่าวว่า) เนกขัมมบารมี มีการออกจากกามและจากความมีโชคเป็นลักษณะ มีการประกาศโทษของกามนั้นเป็นรส มีความหันหลังจากโทษนั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน มีความสังเวชเป็นปทัฏฐาน
” พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม 9 ภาค 3 – หน้าที่ 636 (กล่าวว่า) อนึ่ง เพราะการเกิดขึ้นแห่งกุศลจิตเป็นไปแล้ว ด้วยการออกจากกามและภพทั้งหลาย มีการเห็นโทษเป็นเบื้องต้น กำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายคือกรุณา ชื่อว่า เนกขัมมบารมี ”
ที่มาและรูป : www.facebook.com/Internationalmindscienceinstitute
บทความน่าสนใจ
ทำไมพระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญทศบารมี
นิทานชาดก 500 ชาติ เส้นทางแห่งบารมี 30 ทัศ มีกี่เรื่องกันแน่ ?
บทสวดบารมี 30 ทัศ (แปล) สรรเสริญบารมีของพระพุทธเจ้า พร้อมที่มาบทสวด
อสุรกายร้ายยังต้องยอมจำนนต่อ บารมีธรรมของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ