ทำไมพระโพธิสัตว์ต้อง บำเพ็ญทศบารมี
ชาวพุทธทราบกันดีว่า การที่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้นั้น พระโพธิสัตว์ต้อง บำเพ็ญทศบารมี หรือ บารมี 10 ประการ หลายคนอาจคุ้นเคยกับนิทานพระเจ้า 10 ชาติ หรือทศชาดก ซึ่งเป็นมหานิบาต หรือ ชาดกที่มีเนื้อเรื่องยากที่สุดจำนวน 10 เรื่อง แต่ละเรื่องก็จะมีบารมี 1 ใน 10 โดดเด่นออกมา เช่น เตมียชาดก เป็นเรื่องเนกขัมมบารมี มหาชนกชาดก เป็นเรื่องวิริยะบารมี หรืออย่างเรื่องเวสสันดรชาดกที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นเรื่องทานบารมี
ทศชาติเรื่องหนึ่งไม่ได้เน้นบารมีเพียงบารมีเดียว
ตามจริงแล้วนิทานชาดกทั้งหมด รวมถึงพระเจ้า 500 ชาติ ล้วนมีบารมีปรากฏปะปนอยู่ในแต่ละนิทานแล้ว ส่วนพระเจ้า 10 ชาติ หากลองศึกษาสัก 1 เรื่อง จะพบว่ามีบารมีอื่นร่วมด้วย เช่น เนมิราชชาดก นอกจากเป็นเรื่องอธิษฐานบารมี คือพระเนมิราชทรงตั้งพระทัยอย่างมุ่งมั่นแล้วที่จะปฏิบัติภาวนาเพื่อเกิดในพรหมโลก ตามที่พระอินทร์ทรงสอนว่า อานิสงส์แห่งทานได้เพียงสวรรค์ แต่ภาวนาได้อานิสงส์สูงกว่าสวรรค์ สังเกตได้ว่า พระเนมิราชทรงบำเพ็ญทานบารมีด้วย ในนิทานชาดกเล่าว่าพระองค์ทรงสร้างโรงทาน และบริจาคทานอยู่เป็นประจำ แม้แต่เวสสันดรชาดก เห็นเด่นชัดว่าเป็นเรื่องของทานบารมี แต่พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีด้วย เพราะทรงถือเพศเป็นดาบส
ภูริทัตตชาดก อดีตพระชาติที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพญานาคนามว่า “ภูริทัตต์” ยึดบำเพ็ญศีลบารมีเพื่อได้เกิดเป็นเทวดาตามที่พระอินทร์ทรงสั่งสอน แต่ระหว่างที่ถูกอาลัมพายน์พราหมณ์จับไปแสดงกล ด้วยปัญญาของพระโพธิสัตว์ได้คิดตรองว่า พระองค์สามารถปล่อยพิษสังหารอาลัมพายน์พราหมณ์ก็ย่อมได้ แต่ทรงอดทน (ขันติบารมี) ยอมถูกกระทำต่าง ๆ นานา เพื่อไม่ให้ศีลบารมีด่างพร้อย ความคิดนี้จัดเป็นการบำเพ็ญปัญญาบารมีเช่นกัน
บารมีที่แท้จริงเป็นอย่างไร
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอธิบายความหมายของบารมีไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท ว่า
“ความหมายที่ใช้ในคัมภีร์นั้นพอจะแบ่งกว้าง ๆ คือ คัมภีร์ส่วนใหญ่เรียบเรียงขึ้นในสมัยแรกจะใช้คำว่า บารมี ในความหมายว่า ความเป็นเลิศ ผลสุดท้าย หรือความเต็มเปี่ยม ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับพุทธศาสนา บางคัมภีร์หมายถึงความเป็นเลิศในธรรมะบางหมวดธรรม และบางคัมภีร์หมายถึงผลสุดท้ายในพุทธศาสนา คือ พระอรหัตตผล บารมีในยุคนี้เป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรม
คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป