เมื่อเอ่ยถึง “ความสำเร็จ” แต่ละคนมักให้คำนิยามแตกต่างกันไป เพราะ “ค่าความสำเร็จ” ของแต่ละคนไม่เท่ากัน หนุ่ม – ศรราม เทพพิทักษ์ นักแสดงผู้โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงมากว่า 20 ปี มีมุมมองเรื่องความสำเร็จอย่างเรียบง่ายว่า
“ความสำเร็จในทุกๆ วันคือการได้ลงมือทำ” หมายความว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม อย่าเพิ่งมองไปที่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมา แต่ขอให้มอง ณ จุดที่เราทำก็พอ และเมื่อมีโอกาสได้ทำอะไรก็ขอให้ทำอย่างเต็มที่
แม้ไม่ใช่ที่หนึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือความภูมิใจที่ได้ลงมือทำ
ปลดล็อกให้อดีต
หลายปีก่อนหลังทำงานเสร็จ ผมขับรถกลับบ้านตามปกติ แต่วันนั้นผมเพลียมากจนเกิดหลับในขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว มารู้ตัวอีกทีรถก็สั่นไปทั้งคันแล้วพร้อมๆ กับมีเสียงดังโครม!
พอลืมตาก็เห็นว่ารถของผมเสียหลักปีนขึ้นฟุตปาธไปชนต้นไม้ ความตกใจทำให้ผมรีบเหยียบเบรกตั้งใจจะหยุดรถ แต่เท้าดันไปเหยียบเอาคันเร่งเข้าให้ ผลก็คือ รถพุ่งชนต้นไม้ไปอีก 2 ต้น จากนั้นต้นไม้ก็ล้มลงไปทับตู้โทรศัพท์สาธารณะเข้า…ทำให้พี่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ยืนอยู่แถวนั้นพลอยรับเคราะห์ไปด้วย
เมื่อรถจอดนิ่งสนิท ผมรีบลงมาดูที่เกิดเหตุ แต่ก็ไม่ทันแล้ว…ร่างพี่ผู้หญิงนอนนิ่งไม่ไหวติงอยู่ริมฟุตปาธ ผมจึงได้แต่กราบขอขมาพี่เขา ณ ตรงนั้น ด้วยความรู้สึกผิดและเสียใจที่สุดในชีวิต
นับจากวันนั้นถึงแม้ผมจะพยายามช่วยเหลือครอบครัวพี่เขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ความรู้สึกผิดที่ว่า “ผมทำให้คนอื่นตาย”ไม่เคยลดน้อยลงเลยและยังวนเวียนอยู่ในใจตลอดเวลา วันหนึ่งผมจึงตัดสินใจไปพบกับพระพี่เลี้ยงที่เคยดูแลผมตอนผมบวช (สมัยนั้นผมเรียกท่านว่า หลวงพี่เทอด) ผมเล่าความอึดอัดใจทั้งหมดให้ท่านฟังและถามว่า “ผมจะจัดการจิตใจตัวเองอย่างไรดีให้ดีที่สุด” หลวงพี่แนะนำกลับมาสั้นๆ แค่ว่า “ให้นับถือพี่คนนี้เหมือนเป็นบรรพบุรุษของเราคนหนึ่ง”
แค่ได้ฟัง ผมก็รู้สึกดีขึ้นมาทันทีเหมือนว่าสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจได้หลุดออกไป ผมคิดว่าพี่เขาไม่ต่างจากผู้มีพระคุณของผมเลย เพราะถ้าวันนั้นเขาไม่มารับเคราะห์แทนผม ผมก็อาจจะตายไปแล้วก็ได้
ผมรู้ดีว่าความผิดบางอย่างไม่สามารถลบล้างได้หมด แต่อย่างน้อยเราต้องรับผิดชอบให้เต็มที่ ทุกวันนี้เวลาทำบุญ ผมจะอุทิศส่วนกุศลไปให้พี่เขาด้วยทุกครั้งไม่ต่างจากญาติสนิท
https://www.instagram.com/p/BbfsLmnhVF3/?hl=th&taken-by=sornram_theappitak
ผมเคยบวชที่วัดสระเกศเป็นเวลา 15 วัน ตอนอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นการบวชหลังจากปลดประจำการทหารเกณฑ์ ตอนบวชผมก็ตั้งใจศึกษาธรรมะอย่างเต็มที่เพื่อให้เข้าใจสัจธรรมเรื่องการเกิดแก่เจ็บตาย แต่สิ่งที่ได้รับไม่ใช่แค่นั้น ตอนบวชเป็นพระผมก็ทำเช่นเดียวกับตอนเป็นทหาร คือต้องเรียนรู้ว่าชีวิตการเป็นพระนั้นเป็นอย่างไร เช่น การเดินบิณฑบาต ศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรม
ตอนออกบิณฑบาตมีคนมารอตักบาตรมากมายจนได้อาหาร 4-5 กระสอบทุกเช้า เราได้นำอาหารเหล่านั้นไปแจกให้คนงานในวัดสระเกศ และคนงานก่อสร้างที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ช่วงบวชจึงเป็นช่วงที่ผมได้ทำบุญมาก
จำได้ว่าวันแรกที่บวชเป็นพระใหม่ มีคนทำบุญมากถึง 8 แสนบาท ผมให้หม่าม้าเอาเงินไปทำบุญ 8 ที่ที่ละ 100,000 บาท เช่นที่ โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ทำบุญกับเด็กทุพพลภาพ บ้านพักคนชราบางแค เป็นต้น ส่วนเงินที่มีคนเอามาทำบุญตอนไปบิณฑบาต ผมถวายให้งัดเกือบหมดเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้เณร ผมเก็บไว้แค่ 1,200 บาทที่หิ้งพระ เพื่อเป็นเงินขวัญถุง ผมถือว่าการได้เป็นทหารและการบวชเป็นหน้าที่ของลูกผู้ชาย เพราะบวชก็เพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ ส่วนการเป็นทหารก็เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน
https://www.instagram.com/p/BcQaEYfhK7u/?hl=th&taken-by=sornram_theappitak
พจนานุกรมชีวิต
ผมว่าคนไทยทุกคนโชคดีที่ได้อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่าโชคดีเพราะเราได้เรียนรู้หลายๆ อย่างจากพระองค์ท่าน ทั้งจากพระราชกรณียกิจ พระจริยาวัตร พระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท ล้วนน้อมนำมาใช้ได้เป็นอย่างดี เปรียบเหมือนเป็น“พจนานุกรมการใช้ชีวิตของคนไทย” ก็ว่าได้
สมัยก่อนผมยอมรับว่า เวลามีปัญหาเข้ามา ผมจะรวน รีบร้อนและลนอยากให้ปัญหาพ้นจากตัวเราเร็วๆ จะแก้อย่างไรก็ได้ ขอให้เสร็จไวๆ ก็พอ แต่พอโตขึ้นการมีประสบการณ์ชีวิตและการได้ศึกษาพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่9ทำให้ผมเข้าใจชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องธรรมชาติของปัญหา
พระราชดำรัสที่ผมจำได้แม่นและยึดถือมาตลอดก็คือ “การทำงานทุกอย่างย่อมมีปัญหา แต่ต้องใช้ความมุมานะและสติปัญญาแก้ปัญหา”นั่นทำให้รู้ว่า ปัญหาทุกปัญหาล้วนมีช่วงเวลาที่เหมาะสมของตัวมันเองและกระบวนการที่แตกต่างกันในการแก้ไข แต่ที่ไม่ควรเด็ดขาดก็คืออย่าใช้อารมณ ในการแก้ปัญหา
ผมเองที่ผ่านมานอกจากจะลนเวลาเจอปัญหา บางครั้งยังชอบ“แบก” ไว้อีก ซึ่งพอมองย้อนกลับไปถึงได้รู้ว่า จริงๆ แล้วปัญหาไม่ต่างจากการที่เราแบกเป้หนักๆ สักใบ ถ้าเราแบกเป้เข้าไปนอนด้วย เราก็นอนไม่สบาย ต้องหัดปลดเป้ออกบ้าง ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็คือ “หลักการปล่อยวาง” นั่นเอง
การปล่อยวางมีทั้งเอาใจออกไปทำอย่างอื่นบ้าง (ชั่วคราว) เพื่อเติมกำลังใจให้ตัวเอง แต่สุดท้ายถ้าย้อนกลับมาแก้ปัญหาแล้วแก้ไม่ได้จริงๆ เราก็ต้องเข้าใจ ยอมรับ และปล่อยวางอย่างถาวร
ปัญหาเป็นเรื่องธรรมดาของโลก แต่การรับมือกับปัญหาของแต่ละคนต่างหากที่จะทำให้คุณดู “ธรรมดา” หรือ “ไม่ธรรมดา”
ลิ้นชักกับร่มชูชีพ
นอกจากปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการเพื่อความอยู่รอดแล้วผมว่าคนเราควรต้องมี “ลิ้นชัก” และ “ร่มชูชีพ” ไว้ประจำบ้าน
ลิ้นชัก คือ การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาไม่ว่าจะดีหรือร้ายเพื่อเป็นบทเรียนในชีวิตต่อไป เก็บไว้ตามลำดับเวลา ที่ผ่านมาเหมือนเราเอาของใส่ลิ้นชัก จากนั้นเมื่อไรที่เกิดปัญหาท้อแท้ หรืออะไรก็ตาม ถ้าอยากรู้สึกดี มีกำลังใจ อยากมีทางออกก็กลับไป “เลือก” หยิบเรื่องราวจากลิ้นชักที่เราเก็บไว้และนำออกมาใช้
ส่วน ร่มชูชีพ คือ ตนเอง เป็นการทำให้ตัวเองอยู่รอดไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ เพราะทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ เราต้องพยายามหาทางออกที่ดีที่สุดให้ตัวเองให้ได้
ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าคุณจะมีลิ้นชักสักกี่ร้อยชั้นหรือมีร่มชูชีพอันใหญ่แค่ไหน ต้องอย่าลืมว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเสมอ”
ที่มา : นิตยสาร Secret
ภาพ : วรวุฒิ วิชาธร, sornram_theappitak