สุมนา เจ้าหญิงผู้ได้สัมผัสพระนิพพาน
เจ้าหญิง สุมนา เป็นขัตติยนารีแห่งแคว้นโกศล ในหลายจุดของคัมภีร์ต่างกล่าวว่า สุมนาราชกุมารีเป็นพระภคินี (พระน้องนาง) ของพระเจ้าโกศลพระองค์ก่อน จึงมีศักดิ์เป็นพระมาตุลา (พระเจ้าอา) ของพระเจ้าปเสนทิโกศล
เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้เป็นพระนัดดาปกครองกรุงสาวัตถีจนเจริญรุ่งเรือง และยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้ราชสำนักแคว้นโกศลต่างยึดมั่นพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ทำให้เจ้าหญิงสุมนา หนึ่งในขัตติยนารีชั้นผู้ใหญ่พลอยทรงศรัทธาพระพุทธเจ้าไปด้วย
เจ้าหญิงสุมนาทรงเป็นเจ้าหญิงผู้มั่งคั่งพระองค์หนึ่งในชมพูทวีปเพราะ ทรงมีราชรถถึง 500 คัน และเด็กสาวเป็นบริวารถึง 500 นาง ครั้งใดที่เสด็จเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จด้วยราชรถจำนวน 500 คัน และมีเหล่าเด็กหญิง 500 นางคอยติดตาม นับว่าเป็นขบวนเสด็จของสตรีชนชั้นสูงที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งเลยในสมัยนั้น
พระไตรปิฎกกล่าวว่านอกจากเจ้าหญิงสุมนาแล้ว ยังมีเจ้าหญิงจุนที พระธิดาในพระเจ้าพิมพิสารทรงมีราชรถถึง 500 คัน และบุตรีของมหาเศรษฐีอย่างนางวิสาขาก็มีรถถึง 500 คัน เช่นกัน
ครั้งหนึ่งเจ้าหญิงสุมนาเสด็จเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า และตรัสพระปุจฉาต่อพระพุทธองค์ว่า “บุรุษ 2 คน มีลักษณะนิสัยคล้ายกันคือ เป็นผู้มีศรัทธา ศีล และปัญญาเสมอกัน แต่สิ่งที่แตกกันคือ อีกคนเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา แต่อีกคนไม่อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา หากภพหน้าของเขาทั้งสองเกิดเป็นเทวดา เราจะทราบได้อย่างไรว่าเทวดาองค์ใดเกิดเป็นในอดีตชาติเป็นคนที่อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา หรือไม่อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา”
พระบรมศาสดาตรัสวิสัชนาว่า “เทวดาผู้ที่เคยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเมื่อในอดีตชาติจะมีอายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ และอธิปไตยทิพย์เหนือกว่าเทวดาผู้ที่ไม่เคยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเมื่อในอดีตชาติ”
“หากเทวดาทั้ง 2 องค์ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ จะทราบได้อย่างไรว่ามนุษย์คนไหนเคยเป็นคนที่อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา และคนไหนเป็นคนที่ไม่เคยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเมื่อในอดีตชาติ” เจ้าหญิงสุมนาตรัสพระปุจฉา
พระพุทธองค์ตรัสวิสัชนาว่า “มนุษย์ผู้เคยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนามาเมื่อในอดีตชาติจะเป็นผู้มีอายุ วรรณะ สุขะ ยศ และอธิปไตยเหนือว่ามนุษย์ที่ในอดีตชาติไม่เคยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา”
“หากบุคคลทั้ง 2 บวชในพระพุทธศาสนา จะมีความแตกต่างกันอย่างไร จึงจะทราบว่าพระสงฆ์รูปนี้เคยเป็นผู้อุปถัมถ์พระพุทธศาสนา และไม่เคยเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเมื่อในอดีตชาติ”
“พระสงฆ์ผู้เคยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนามาเมื่อในอดีตชาติจะได้รับลาภสักการะมหาศาล เช่น จีวร ภัตตาหาร เภสัช เสนาสนะจากอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย แม้กระทั่งพระสงฆ์รูปอื่น ต่างกระทำดีด้วยทั้งกาย วาจา และใจ “
“หากพระสงฆ์ทั้งสองสำเร็จอรหัตตผล จะเห็นความแตกต่างระหว่างกันอย่างไร”
“ตถาคตไม่สามารถบอกได้ถึงความแตกต่างระหว่างพระอรหันต์กับพระอรหันต์ “ เจ้าหญิงสุมนาจึงตรัสปิดท้ายว่า “บุญเป็นสิ่งที่อุปการะมนุษย์ เทวดา และพระสงฆ์”
ต่อมาเจ้าหญิงสุมนาได้ติดตามพระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วพระองค์ได้แสดงธรรมเรื่อง “ไม่ควรหมิ่นคนหนุ่มในบุคคล 4 จำพวก” ทำให้เจ้าหญิงสุมนาเกิดความศรัทธาปรารถนาออกผนวช แต่ติดที่พระองค์ทรงต้องดูแลพระมารดา (พระเจ้าย่า) ผู้ชราภาพ
หลายปีต่อมาพระมารดาสิ้นพระชนม์ แล้วเสด็จไปบำเพ็ญพระกุศลที่พระเชตวัน ได้สดับธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วทรงตัดสินพระทัยทูลพระพุทธเจ้าขอผนวช เมื่อพระนางผนวชเป็นพระเถรีแล้ว พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ดูก่อนสุมนา เธอจงนำท่อนทำผ้าจีวร แล้วจงพักผ่อนให้สบาย เพราะตอนนี้ราคะของเธอได้สงบแล้ว เธอได้เป็นผู้มีความเย็น ดับสนิทแล้ว”
แสดงว่าหลังจากเจ้าหญิงสุมนาสดับธรรมของพระพุทธเจ้า ก็ส่งผลให้พระนางสัมผัสกับสอุปาทิเสสนิพพาน คือการดับสิ้นไปของกิเลส ซึ่งเป็นนิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีรูปอยู่นั่นเอง
ที่มา :
อรรถกถาวุฑฒปัพพชิตสุมนาเถรีคาถา
ภาพ :
บทความน่าสนใจ
เจ้าหญิงกิสาโคตมี อีกหนึ่งสตรีผู้อยู่เบื้องหลังการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
เจ้าหญิงเคซัง โชเดน วังชุก แห่งภูฏาน กับชีวิตตามรอยธรรมแห่งพุทธศาสนา