คนไกลวัด

บันทึกของ “คนไกลวัด”

“ซ้าย ย่าง หนอ ขวา ย่าง หนอ” เสียงพูดดังงึมงำรอบตัว  (คนไกลวัด)

บรรยากาศมีแต่ความสงบและผ่อนคลาย ไม่ได้มีทีท่าว่าจะขำ ๆ ตลก ๆ อย่างที่ฉันเกรง

“ให้พูดออกเสียง ระวังอย่าให้คำพูดไปก่อน ต้องให้ พอดี จึงจะอยู่ในปัจจุบันอย่างแท้จริง” เสียงของพระอาจารย์ที่พูดเตือนเป็นระยะ ทว่ากลับไม่ทำให้ความสงบรอบตัวลดลงหรือทำให้เกิดบรรยากาศของการเข้มงวด

นี่เป็นการฝึก เดินจงกรม อย่างเป็นรูปธรรมจริงจังครั้งแรกในชีวิต แม้ว่าจะมีเวลาเดินจงกรมครั้งนี้เพียงแค่ประมาณ 10 นาทีเท่านั้น ทว่ากลับทำให้ฉันสัมผัสได้ถึงความสงบและความนิ่งในใจ

สถานที่ปฏิบัติธรรมอยู่ที่ห้องประชุมบนชั้น 8 ของตึกศรีสุลาลัย โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ภายในห้องมีทั้งอาสนะวางเรียงรายห่าง ๆ กัน และเก้าอี้ตั้งชิดกำแพงห้องสำหรับให้เลือกนั่งปฏิบัติธรรม บรรยากาศดูสบาย ๆ เรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตอง ฉันเดินไปนั่งบนอาสนะที่เตรียมไว้ สักครู่วิทยากรก็มาพูดเชิญชวนให้นั่งด้านหน้า จริงสิ ต่างคนต่างก็ยึดที่นั่งด้านหลังทั้งนั้น รวมทั้งฉันด้วย นี่ละวิสัยคนไทย นั่งหลังไว้ก่อน (มารยาทดี อยากเก็บที่นั่งดี ๆ ด้านหน้าไว้ให้คนอื่นไง ฮา)

ในห้องประชุม ทุกคนต่างก็นั่งกันเงียบ ๆ แต่ไม่เงียบจนอึดอัด มันเงียบแบบสงบ แบบสำรวมคำพูด แม้ว่าจะมีเด็กเล็ก ๆ อยู่บ้าง กิจกรรมการปฏิบัติธรรมเริ่มต้นโดยประธานจุดธูปเทียนบูชาพระ นำสวดมนต์สั้น ๆ จากนั้นเป็นการฟังธรรมเทศนา ต่อด้วยการเดินจงกรม แล้วก็พักรับประทานอาหารกลางวัน

ภาคบ่ายมีปฏิบัติธรรมเดินจงกรมอีกสองรอบ แค่พอได้ยินคำว่า “เดินจงกรม” ฉันก็นึกถึงภาพการเดินจงกรมเพียงครั้งเดียวที่ฉันเคยไปปฏิบัติ ครั้งนั้นฉันไม่ได้สัมผัสถึงความสงบเลย ออกจะรู้สึกแปลก ๆ ด้วยซ้ำที่ต้องมาเดินช้า ๆ โดยที่ในหัวก็วุ่นวายด้วยเรื่องโน่นนี่นั่น เฮ้อ! แล้วครั้งนี้ล่ะ ช่างเถอะ ลองดูแล้วกัน อาจด้วยบรรยากาศในห้องประชุมและกระแสบุญของผู้ร่วมปฏิบัติธรรม แม้รอบข้างจะมีแต่คนไม่รู้จักทั้งนั้น แต่น่าแปลกที่ครั้งนี้ฉันกลับมีสมาธิฟังธรรมมากกว่าที่เคย เนื้อหาของธรรมเทศนาวันนั้นก็เป็นเรื่องที่ฉันเคยได้ยินได้ฟังมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่เคยซาบซึ้ง คงเพราะไม่เข้าใจอย่างแท้จริงนั่นเอง

“การได้เกิดเป็นคนถือว่าเป็นโอกาสดี เพราะเราจะได้มีโอกาสสั่งสมบุญจนกระทั่งหลุดพ้นได้ในที่สุด”

พระอาจารย์ท่านยกตัวอย่างให้ฟังว่า ถ้าเทียบกับสัตว์เดรัจฉาน เช่น สุนัข ทั้งชีวิตของมันไม่มีโอกาสที่จะทำบุญเลย เว้นเสียแต่ว่าจะได้ฟังสวดมนต์ บรรยายธรรมโดยบังเอิญ เพราะอาศัยอยู่ในวัดหรืออยู่ในบ้านที่เจ้าของเปิดวิทยุ ซีดี ฟังเทศน์ ฟังธรรม มันจึงจะได้มีโอกาสสั่งสมบุญบ้าง ดังนั้นที่หลายคนมักพูดเล่นติดปากว่า “อิจฉาหมา” น่ะ อย่าคิดแบบนั้น เพราะถ้าเราเผลอไปคิดเรื่องนี้เข้า ก่อนสิ้นชีวิตก็จะกลายเป็นการสร้าง ชนกกรรม นำเราไปเกิดเป็น “สุนัข” สมดังปากตัวเอง

เป็นครั้งแรกจริง ๆ ที่ฉันเข้าใจซาบซึ้งว่า การได้เกิดเป็นคนนั้นเป็นสิ่งที่ดีมากขนาดไหน รู้สึกอิ่มใจและภูมิใจที่ได้มีโอกาสเกิดเป็น คน

หลายๆ ครั้งด้วยภาระหน้าที่ ด้วยปัญหาที่วิ่งมากระทบ โดยเฉพาะปัญหาจากการทำงาน ทำให้เกิดความเบื่อ บางครั้งถึงขนาดคิดเล่น ๆ ว่าเกิดมาทำไมนี่ ฉันเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงเคยเป็น แต่มันจะดีขึ้นเป็นพัก ๆ เมื่อมีอย่างอื่นมาให้สนใจแทน บางครั้งฉันเองก็เคยพูดเล่น ๆ กับ บุญหลง สุนัขที่บ้านว่า อิจฉาที่มันได้อยู่อย่างสบาย ถึงเวลาก็มีคนเอาอาหารมาให้ ไม่ต้องทุกข์ร้อน ไม่กังวลโน่นนี่นั่น แต่ลืมคิดมุมกลับว่าเราอาจจะเลือกเหตุการณ์ที่เราต้องพบเจอไม่ได้ แต่เราเลือกได้ว่าเราจะรู้สึกกับเหตุการณ์นั้นอย่างไร และที่สำคัญ เราเลือกได้ว่าจะทำกรรมดีหรือกรรมไม่ดีต่อเหตุการณ์นั้น ๆ

สาระที่ได้จากการฟังธรรมบรรยายครั้งนี้ทำให้เข้าใจลึกซึ้งว่ากว่าจะเป็นคนยากเย็นแค่ไหน เกิดมาเป็นคนแล้วเป็นโอกาสที่ดีมากขนาดไหน ทำให้ฉันยิ่งตระหนักถึง ความสำคัญในการใช้ชีวิตทุกวินาทีอย่างมีค่าที่สุด

พอเต็มอิ่มกับ “พระธรรมคำสอน” ก็ถึงเวลาของการเดินจงกรม อาจเป็นเพราะว่าในห้องประชุมมีคนยกมือว่า เป็นการเดินจงกรมครั้งแรก รวมทั้งฉันด้วย พระอาจารย์ท่านก็เลยนำเดินจงกรมอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งต่างจากที่ฉันเคยทำมากทีเดียว ฉันเคยคิดว่าก็แค่ตามรู้อิริยาบถของการเดิน รู้เท้าที่วางลงเท่านั้น แต่หลักที่สำคัญมากคือการกำหนดรู้กับอิริยาบถนั้น ๆ ต้อง เป็นปัจจุบัน และต้อง พอดี จริง ๆ

ท่านเริ่มต้นด้วยการแนะนำวิธีการเดินจงกรม เริ่มจากให้ ยืนสบาย ๆ ไม่ต้องเกร็งตัว กุมมือขวาทับมือซ้ายไว้ด้านหน้าหรือด้านหลังก็ได้ จากนั้นให้พูดช้า ๆ 3 ครั้งว่า ยืนหนอ เพื่อดึงใจให้อยู่กับอิริยาบถยืน การพูดออกเสียง 3 ครั้งจะเป็นการกระตุกสติให้กลับมาอยู่กับกายอย่างแท้จริง เมื่อจะเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น จะเดิน จะกลับหลังหัน ก็ให้พูดซ้ำ ๆ 3 ครั้งเพื่อบอกถึงอิริยาบถนั้น ๆ ก่อนที่จะเริ่มทำตาม ขณะก้าวเดินให้ปากพูดกำกับอิริยาบถนั้น ๆ โดยคำพูดที่ออกจากปากกับอิริยาบถนั้น ๆ ต้อง “พอดีกันจริง ๆ” ตรงนี้แหละที่สำคัญ ถ้าสติเราหลุดไปแม้เพียงนิดเดียว จังหวะของคำพูดกับอิริยาบถจะเหลื่อมกัน แล้วความสงบและความอยู่กับปัจจุบันก็จะหลุดลอยไปด้วย ดังนั้นคนที่เพิ่งฝึกใหม่ ๆ การพูดเปล่งเสียง จะช่วยดึงสติให้อยู่กับกายได้ดีกว่าการพูดหรือนึกในใจ

ระหว่างเดินหรืออยู่ในอิริยาบถใด หากมีความคิดใดหลุดเข้ามาในหัว ให้พูดเพื่อดึงสติตัวเองว่า คิดหนอ 3 ครั้ง แค่กำหนดรู้ว่าเรากำลังคิด ความคิดทั้งหลายก็จะหยุดลงเอง

การที่เปล่งเสียงออกมาให้ตัวเองได้ยิน การดึงจังหวะการกระทำอิริยาบถต่าง ๆ ให้ช้าจะเป็นตัวช่วยให้ใจตามรู้กายได้ทัน ไม่นำหน้าหรือไม่ตามหลัง แต่หากใครเผลอสติ อาจจะเดินไวไปกว่าคำพูด หรือคำพูดนำหน้าการเดิน พระอาจารย์ท่านก็จะคอยบอก คอยเตือน ตรงนี้ฉันคิดว่าเป็นหัวใจที่สำคัญของการเดินจงกรม ทำให้ฉันสัมผัสได้ถึงความสงบอย่างแท้จริง

กว่าสามชั่วโมงของการปฏิบัติธรรม ฉันรู้สึกได้ถึงความสงบนิ่ง เป็นความสงบ ผ่อนคลาย ไม่รับรู้ถึงเวลาที่เดินไป ไม่คาดหวังรอคอยให้เวลาเดินมาถึง เป็นการอยู่กับปัจจุบันจริง ๆ ฉันกลับจากการปฏิบัติธรรมด้วยความอิ่มใจ และผลจากการปฏิบัติธรรมทำให้เมื่อกลับถึงบ้าน ฉันก็ยังคงกำหนดสติกับอิริยาบถย่อย วางแผนทำงานบ้านทั้งหลายที่คั่งค้างได้เรียบร้อยทันเวลา ก่อนที่จะไปขึ้นปฏิบัติงานเวรดึกที่ห้องพยาบาลโดยที่ไม่ลน ไม่เหนื่อยเกิน และมีความสุขอยู่กับปัจจุบัน

แม้ว่าจนถึงวันนี้ฉันจะไม่ได้มีโอกาสเดินจงกรมเป็นรูปธรรมจริงจังอีกเลย แต่ฉันก็ได้พยายามที่จะกำหนดสติตามรู้อิริยาบถย่อยในแต่ละวัน อาจจะไม่ได้ทุกเวลาทุกวินาที แต่ก็จะมุ่งมั่นพากเพียรทำต่อไป แม้ยังไม่ถึงขั้นบรรลุพระนิพพาน การหลุดพ้นจากความทุกข์และความสุขทั้งปวง อย่างน้อยที่สุดที่ฉันได้รับจากการหมั่นฝึกเจริญสติคือ…

ฉันได้ความสงบและมีสติในการทำงานในทุก ๆ หน้าที่ โดยเฉพาะในหน้าที่พยาบาลอย่างเต็มที่ เต็มกำลังใจ และเต็มความรู้ความสามารถทั้งหมดที่มี

(คนไกลวัด)

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  บัญจรัตน์ จันทร์ฟัก

Image by Josch13 from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

เคล็ดลับของการปฏิบัติธรรมให้มีชีวิตชีวา โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.