จิมมี่ คาร์เตอร์ เป็นประธานาธิบดีที่ประสบความสำเร็จ และเป็นที่รักมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกา และเขายังมีผลงานที่เป็นประโยชน์ในวงกว้างแม้จะอำลาตำแหน่งไปแล้วหลายปี
จิมมี่ คาร์เตอร์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี ค.ศ. 1976 – 1980 โดยเฉือนชนะ เจอรัลด์ ฟอร์ด ประธานาธิบดีคนที่ 38 ไปได้อย่างฉิวเฉียด ครั้งนั้นเป็นการลงสมัครประธานาธิบดีสมัยแรกของเขา สมัยนั้นจิมมี่มักเริ่มต้นการหาเสียงว่า “ผมเป็นชาวไร่ถั่วลิสง” (I’m a peanut farmer.) เพราะครอบครัวคาร์เตอร์เป็นเกษตรกรทำไร่ฝ้ายและถั่วลิสงในเมืองเพลนส์ รัฐจอร์เจีย มานานกว่า 350 ปีแล้ว แต่ที่นอกเหนือไปกว่านั้นคือ จิมมี่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือแอนนาโพลิสและรับราชการมานานเกือบ 10 ปี เขาเป็นทหารเรือที่ก้าวหน้าเร็วมาก แต่ต่อมามีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาคิดได้ว่าเรือดำน้ำนิวเคลียร์ซึ่งเป็นอาวุธที่สหรัฐฯภาคภูมิใจที่สุด มีอันตรายเกินไปสำหรับมนุษย์ ประกอบกับพ่อของเขาเสียชีวิต จิมมี่จึงลาออกเพื่อกลับมาดูแลไร่ของครอบครัว
จิมมี่เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เขาเป็นผู้นำชุมชน เป็นกรรมการบริหารของโรงเรียน โรงพยาบาล และเป็นวุฒิสมาชิกของรัฐจอร์เจียถึงสองสมัย ช่วงปี ค.ศ. 1966 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกสมัยที่สอง จิมมี่ก็ตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ เพราะต้องการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนและช่วยเด็กผิวสีให้สามารถเรียนในโรงเรียนเดียวกับเด็กผิวขาวได้
เมื่อกว่าหกสิบปีก่อน ปัญหาเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกายังคงมีความรุนแรงมาก ดังนั้นในการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐครั้งแรก จิมมี่จึงพ่ายแพ้อย่างขาดลอย ทว่าระหว่างสี่ปีที่เฝ้ารอการเลือกตั้งครั้งใหม่ เขาได้แบ่งเวลาไปเดินสายแสดงปาฐกถาทั่วทั้งรัฐเพื่อหาเสียงรวมแล้วกว่า 1,800 ครั้ง และกลายเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งถัดมา
และด้วยวิธีการหาเสียงแบบทั่วถึงนี้เอง จิมมี่จึงชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1976 ช่วงที่เป็นประธานาธิบดี จิมมี่สามารถผลักดันกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ สามารถแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานในช่วงนั้น และเคยพยายามผลักดันให้สภาคองเกรสอนุมัติร่างพระราชบัญญัติประกันสุขภาพ (Health Care Bill) แต่ไม่สำเร็จ (สภาคองเกรสเพิ่งจะผ่านร่างพระราชบัญญัติประกันสุขภาพไปเมื่อปี ค.ศ. 2010 โดยประธานาธิบดีโอบามาเป็นผู้ผลักดันและต้องออกแรงล็อบบี้แบบหืดขึ้นคอ เพราะจากพระราชบัญญัติดังกล่าว คนจนจะได้รับการคุ้มครอง แต่คนชั้นกลางต้องรับภาระมากขึ้น ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงาน)
นอกจากนี้จิมมี่ยังมีผลงานในระดับนานาประเทศที่โดดเด่น เขาสามารถรักษาสมดุลอำนาจระหว่างขั้วอำนาจต่าง ๆ ได้อย่างน่าชื่นชม ตัวอย่างเช่น เขาสามารถดึงให้ผู้นำอิสราเอลและตะวันออกกลางมานั่งโต๊ะเจรจาร่วมกันและร่วมกันลงนามใน ปฏิญญาแคมป์เดวิด (Camp David Accords) ผลข้อหนึ่งจากปฏิญญาดังกล่าวคือ จิมมี่ได้คืนสิทธิการครอบครองคลองปานามาให้กับประเทศปานามา ซึ่งแม้จะทำให้สหรัฐฯเสียประโยชน์ แต่ก็ทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางลดลงเป็นอย่างมาก
ทว่าคะแนนนิยมของจิมมี่กลับดำดิ่งลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 อันเนื่องมาจากเหตุการณ์จับตัวประกันในประเทศอิหร่านในปีนั้น ซึ่งสร้างรอยด่างให้กับชีวิตการเป็นประธานาธิบดีของเขา
ในช่วงนั้นสหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศอิหร่าน กลุ่มกบฏจึงประท้วงด้วยการจับพลเรือนและเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯในกรุงเตหะรานจำนวน 52 คนไว้เป็นตัวประกัน ช่วงนั้นจิมมี่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากคณะที่ปรึกษา สื่อมวลชนและประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้เขาออกคำสั่งโจมตีประเทศอิหร่าน ทว่าความพยายามทางทหารเพียงครั้งเดียวคือการส่งเฮลิคอปเตอร์ออกปฏิบัติการชิงตัวประกันกลับล้มเหลว และไม่เคยมีปฏิบัติการทางทหารอีก จิมมี่สั่งงดการรื่นเริงทุกชนิดในทำเนียบขาวและงดการหาเสียง
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้จิมมี่แพ้การเลือกตั้งให้กับ โรนัลด์ เรแกน อย่างหมดรูป และราวกับจะฉีกหน้าจิมมี่ เพราะเพียงไม่กี่นาทีหลังจากที่ประธานาธิบดีเรแกนกล่าวสุนทรพจน์เพื่อรับตำแหน่ง อิหร่านตกลงปล่อยตัวประกันทั้งหมด รวมเวลาที่ถูกจับตัวทั้งสิ้น 444 วัน
ในสายตาคนส่วนใหญ่ จิมมี่ และ โรซาลีน ภรรยาของเขากลับมาที่จอร์เจียอย่างคนล้มเหลว…ทว่าจิมมี่ไม่คิดเช่นนั้น เขาเชื่อมั่นว่าเขาได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เขาไม่ใช้กำลังทางทหารเพราะไม่ต้องการให้ชาวอิหร่านผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อ และไม่คิดว่าการใช้อาวุธจะช่วยให้ตัวประกันปลอดภัย ตรงกันข้าม เขากลับรู้สึกภาคภูมิใจที่เขาไม่เคยทำให้สหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ เข้าสู่ภาวะสงคราม
จิมมี่กลับมาอาศัยในบ้านไร่หลังเดิมของครอบครัว ทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ไปสอนไบเบิลในโรงเรียนสอนศาสนาทุกวันอาทิตย์ตามอย่างพ่อของเขา และเขียนหนังสือใหม่ ๆ ทุกปี โดยหนังสือที่เขาเขียนมีหลากหลายแนว จนถึงวันนี้มีจำนวนกว่า 26 เล่ม
ปี ค.ศ. 1982 จิมมี่ก่อตั้งองค์กร เดอะคาร์เตอร์เซ็นเตอร์ ขึ้นในกรุงแอตแลนตา เพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จิมมี่เดินทางไปสังเกตการเลือกตั้งในประเทศที่มีความวุ่นวายทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง และได้ช่วยเจรจาคลี่คลายความขัดแย้ง รวมทั้งให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์หลายครั้งด้วยกัน แม้ว่าบางความเห็นของเขาอาจฟังดูรุนแรงมาก เช่น วิจารณ์การทำสงครามกับอิรักว่าเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรง วิจารณ์นโยบายของอิสราเอลที่มีต่อปาเลสไตน์ว่าใจแคบเกินไปที่ไม่ยอมปล่อยฉนวนกาซาเสียที หรือกระตุกความคิดของคนอเมริกันยุคนี้ว่า เมื่อไม่ชอบนักการเมืองคนไหนก็มักจะเหมารวมว่าความคิดของคนคนนั้นผิดหมด แม้ว่าจะเป็นนโยบายที่ดีก็ตาม ฯลฯ
ด้วยผลงานด้านสิทธิมนุษยชนที่โดดเด่น ในปี ค.ศ. 2002 คณะกรรมการรางวัลโนเบลจึงได้มอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแก่จิมมี่
นอกจากนี้เดอะคาร์เตอร์เซ็นเตอร์ก็ยังทำงานด้านสุขอนามัยด้วย แต่จะสนับสนุนการจัดการกับโรคภัยไข้เจ็บที่คนไม่ค่อยให้ความสำคัญ เช่น โรคตาบอดจากน้ำสกปรก และที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งคือ การควบคุมโรคพยาธิกีนี (Guinea worm) ซึ่งเป็นโรคที่เป็นกันในหมู่คนจนเท่านั้น สถติในปี ค.ศ. 1986 ระบุว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ทั่วโลกราว 3.5 ล้านคน แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียงไม่กี่พันรายแล้ว
ปัจจุบันจิมมี่ คาร์เตอร์ อายุ 94 ปีเต็ม ส่วนโรซาลีนอายุ 92 ปี มีลูก 4 คน หลาน 11 และเหลน 2 แต่ทั้งสองยังคงมีสุขภาพดีและรักกันหวานชื่น ทั้งสองยังชอบเดินจับมือกัน ชอบถามความเห็นของกันและกัน ชอบทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน
กว่า 40 ปีที่ผ่านมา จิมมี่และโรซาลีนเดินทางไปสร้างบ้านกับ องค์กรฮาบิแทท (Habitat) ในประเทศต่าง ๆ ต่อเนื่องกันทุกปี จนถึงวันนี้ทั้งคู่ยังสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เสมอ ที่สำคัญคือ
ทั้งสองคนมีศรัทธาในศาสนาเหมือนกัน โดยสองสามี – ภรรยาจะสลับกันอ่านไบเบิลฉบับภาษาสเปนให้กันและกันฟังคืนละหนึ่งบทก่อนนอนทุกคืน
แม้จิมมี่ คาร์เตอร์ อาจไม่ได้คะแนนเต็มร้อยในฐานะประธานาธิบดี แต่ในความเป็นมนุษย์ ร้อยคะแนนไม่น่าจะพอเสียแล้ว
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง Violet
ภาพ theelders.org, วิกิพีเดีย, cartercenter.org
บทความน่าสนใจ