หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ข้อธรรมสอนใจจากการออกธุดงค์เจอเสือของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ข้อธรรมสอนใจจากการออกธุดงค์เจอเสือของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ในการออกธุดงค์ของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านได้เผชิญอุปสรรคและพบเจอเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย จึงทำให้เกิดข้อธรรมสอนใจต่าง ๆ

ครั้งหนึ่งในช่วงเวลาที่หลวงปู่ฝั้นออกธุดงค์นั้น ประเทศลาวอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส มีความเข้มงวดทางทหารมาก ทำให้หลวงปู่ฝั้นและสามเณรพรหมไม่สามารถข้ามฝั่งไปได้ จึงตัดสินใจเดินทางเลียบฝั่งไปทางเหนือที่รายล้อมไปด้วยป่าทึบ และมีรอยเท้าเสือปรากฏให้เห็นอยู่ทุกระยะ

ในเวลาใกล้ค่ำ ทั้งหลวงปู่ฝั้นและสามเณรพรหมก็ได้ยินเสียงเสือคำรามดังก้องไปทั้งป่า จิตของทั้งสองจึงไม่อาจสงบนิ่งได้เช่นเคย ทันใดนั้นหลวงปู่ฝั้นก็เปล่งภาษิตอีสานขึ้นมาบทหนึ่งว่า

“เสือกินโค กินควาย เพิ่นช้าใกล้ เสือกินอ้าย เพิ่นช้าไกล”

แปลความได้ว่า ถ้าเสือกินโคหรือกินควาย เสียงร่ำลือจะไม่ไปไกล เพราะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเสือกินคน หรือกินพระกัมมัฏฐานแล้ว เสียงร่ำลือจะไปไกล

ภาษิตบทนี้ข่มความกลัว ทำให้ความกล้าหาญปรากฏในจิตของหลวงปู่ แล้วท่านจึงเปล่งภาษิตขึ้นอีกบทหนึ่งว่า

“ตกกะเทินกำคอเข้ บ่ยอมวางให้หางมันฟาด ตกกะเทินกำคอกะท้าง บ่วางให้แก่ผู้ใด”

ซึ่งตีความได้ว่า

“กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปดนั้น มันฝังแน่นอยู่ในสันดานของมนุษย์ เช่นเดียวกับจระเข้ที่กบดานแน่นิ่งอยู่ใต้น้ำ นาน ๆ จึงจะโผล่หัวขึ้นมานอนอ้าปากตามชายฝั่ง พอแมลงวันเข้าไปไข่ มันจะคลานลงน้ำ แล้วอ้าปากตรงผิวน้ำเพื่อให้ไข่แมลงวันไหลออกไปเป็นเหยื่อปลา และเมื่อใดที่ปลาใหญ่ปลาเล็กหลงเข้าไปกินไข่แมลงวันในปากของมัน มันก็จะงับปลากลืนกินไปทันที

“ส่วนกะท้างนั้นก็เช่นเดียวกับกระรอก ซึ่งหัวหางกระดุกกระดิกอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นหากกำคอจระเข้และคอกะท้างไว้ให้มั่น ไม่ปล่อยให้จระเข้มันฟาดหาง และไม่ยอมให้กะท้างมันกระดุกกระดิกได้ จิตใจก็จะสงบเป็นปกติ ไม่กลัวเกรงต่อภยันตราย ถึงเสือจะคาบไปกินก็ไม่กระวนกระวายเป็นทุกข์”

จากนั้นท่านก็กล่าวแก่สามเณรพรหมว่า

“เมื่อเรามีสติกำหนดรู้เท่าทันมันดีแล้ว การตายนั้นถึงตายคว่ำก็ไม่หน่าย จะตายหงายหน้าก็ไม่จม”

แปลความได้ว่า

เมื่อมีสติ ไม่ว่าจะตายด้วยวิธีใด สุคติเป็นที่หวังได้เสมอ

 

ที่มา :  ชุดสุดยอดสงฆ์ 1 : หลวงปู่ฝั้น – ดวงพร ตรีบุบผา สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

พระปุจฉา – วิสัชนาธรรมระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ หลวงปู่ฝั้น อาจารโร

หลวงปู่ทุย พระป่าสายปฏิบัติที่คงข้อวัตรได้อย่างเคร่งครัด

หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต พระสายหลวงปู่มั่น ธรรมทายาทหลวงปู่ขาว ละสังขารแล้ว

พระปุจฉา – วิสัชนาธรรม ระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฺฒโน)

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.