คิดบวก

คิดบวก คือคิดอย่างไร ธรรมะดี ๆ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

คิดบวก คือคิดอย่างไร ธรรมะดี ๆ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

เดี๋ยวนี้ได้ยินแต่คำว่า “คิดบวก” อยู่บ่อย ๆ เลยอยากทราบว่าการคิดบวกคือคิดอย่างไร การคิดบวกจะทำให้เราไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริงใช่หรือไม่ ในสถานการณ์อย่างไรจึงจะใช้การคิดบวก บางคนก็ประณามการคิดบวกว่าเป็นวิธีคิดของคนสิ้นคดิ ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ครับ

จากนักศึกษาไทยในออกซฟอร์ด

การคิดบวกอาจอนุโลมเรียกว่าเป็นวิธีคิดอย่างหนึ่งในพุทธธรรมได้เหมือนกัน โดยมีชื่อเรียกว่า “อุปปาทกมนสิการ” แปลว่า “การคิดให้เกิดกุศลธรรม” หรือ “การคิดเพื่อให้เกิดประโยชน์” หลักทั่วไปมีอยู่ว่า ให้เรารู้จักมองหาแง่ดี แง่งาม แง่ที่เป็นประโยชน์ของสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเราให้พบ แล้วพยายามใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นให้ได้ ขั้นตอนของการคิดบวกมีอยู่สองขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1 เป็นการมองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง แล้วพยายามแก้ปัญหาบนพื้นฐานของความเป็นจริงให้ได้อย่างถึงที่สุดก่อน แต่ถ้าหากพยายามทุกวิถีทางแล้วก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาอะไรได้เลย จึงมาถึงขั้นตอนที่ 2 คือเริ่มใช้การคิดบวกกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

ขั้นตอนที่ 2 คือ เมื่อพยายามแก้ปัญหาตามความเป็นจริงจนสุดความรู้ความสามารถแล้ว แต่กลับพบว่าเหตุปัจจัยที่ขวางอยู่ตรงหน้านั้นใหญ่โตหรือยากเย็นเกินกว่าจะแก้ไขอะไรได้ แทนที่เราจะเป็นฝ่ายยอมจำนน หรือยอมรับสภาพอย่างจนมุมและอยู่กับปัญหาแบบหมดอาลัยตายอยาก เรากลับลุกขึ้นมา ปรับวิธีคิดและปรับมุมมองของเราใหม่ เพื่อที่จะเผชิญกับความเป็นจริงในเชิงสร้างสรรค์ พูดง่าย ๆ ว่า หาวิธีเผชิญปัญหาเดิม ๆ ด้วยวิธีรับมือแบบใหม่ ด้วยมุมมองใหม่ ด้วยท่าทีใหม่นั่นเอง

การคิดในเชิงบวกจึงไม่ได้หมายความว่าเจอปัญหาอะไรมาก็คิดบวกไปเสียหมด แต่ที่ถูกต้องนั้นต้องทำทั้งสองขั้นตอนนี้ให้ครบถ้วนเสียก่อน ไม่ใช่จู่ ๆ เกิดอะไรขึ้นก็คิดบวกหมดโดยไม่ใช้ปัญญาพินิจพิจารณา เช่น เจอน้ำท่วมก็คิดบวกว่าดีแล้ว ได้ฝึกอยู่ร่วมกับน้ำ เจอคำด่าก็ดีแล้ว ได้ฝึกความอดทน อย่างนี้ไม่เรียกว่าคิดบวก แต่อาการอย่างนี้เรียกว่า “สิ้นคิด” คือยังไม่ยอมใช้ความคิดอะไรเลย การคิดบวกจึงไม่ใช่เรื่องตื้น ๆ แต่เป็นวิธีคิดที่ลึกซึ้งวิธีหนึ่งเลยทีเดียว แม้แต่ท่านพุทธทาสก็ยังยอมรับว่าวิธีคิดอย่างนี้มีประโยชน์มาก ดังท่านเคยกล่าวว่า ตอนที่ท่านคึกฤทธิ์ ปราโมช “วิวาทะ” กับท่านในเรื่อง“จิตว่าง” จนกลายเป็นข่าวครึกโครม และดูเหมือนกับว่าท่านพุทธทาสกับคุณชายคึกฤทธิ์ไม่ลงรอยกันในเรื่องนี้นั้น ในเวลาต่อมาท่านพุทธทาสกล่าวว่า “ต้องยอมรับว่าการวิวาทะครั้งนั้นมีประโยชน์มาก เพราะเดิมทีคิดว่าคงต้องใช้เวลานับสิบปีในการแสดงธรรมเรื่องจิตว่างเพื่อให้คนเข้าใจ แต่พอมีคุณชายคึกฤทธิ์มาช่วย (เถียง) ทำให้เรื่องที่จะต้องใช้เวลานับสิบปีเหลือเพียงปีเดียว”

แทนที่ท่านจะโกรธ ท่านกลับมองวิวาทะครั้งนั้นว่าเป็นสิ่งที่มีคุณูปการ หรือการที่ท่านถูกคนด่ามาก ๆ บางคนเขียนหนังสือด่าท่านเป็นเล่มว่าเป็นพระนอกรีตบ้าง เดียรถีย์บ้าง ท่านก็ตอบว่า “อาตมาได้ดีเพราะคนด่า” คือ ยิ่งด่าก็ยิ่งดัง ยิ่งด่าก็ยิ่งมีคนอยากฟังท่านมากขึ้น

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยตุ โฺ ต) เป็นปราชญ์อีกรูปหนึ่งที่ใช้วิธีคิดแบบมองโลกในแง่ดี คือท่านสุขภาพไม่ดี ป่วยนับสิบโรค บางโรครักษาหาย บางโรครักษาไม่หาย แต่ท่านไม่เดือดร้อน ท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ความป่วยมีข้อดีคือทำให้ได้มีเวลาพัก และระหว่างพักก็ได้มีเวลาเขียนหนังสือ” ท่านเคยกล่าวเป็นทำนองว่า “ป่วยแต่ละทีก็ได้หนังสือดี ๆ ออกมาทุกครั้ง” นี่คือการมองโลกในแง่ดีและแง่งามของปราชญ์ทั้งสองท่าน ซึ่งหากวิเคราะห์ให้ดีจะเห็นว่ามีทั้งสองขั้นตอนของการคิดบวกอยู่ด้วยคือ เริ่มด้วยการเผชิญความจริงด้วยปัญญา แล้วจึงหาวิธีปรับเปลี่ยนวิธีรับมือกับปัญหานั้นด้วยสติปัญญาเหมือนกัน

อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นเรื่องของสตีฟ จอบส์ ประธานบริษัทแอปเปิล ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว เขาคือผู้นำในการผลิตนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าโลกแห่งการสื่อสารและบันเทิงไปตลอดกาลอย่างไอพ็อด ไอแพด ไอโฟน คอมพิวเตอร์แมคบุ๊คแอร์แมคบุ๊คโปร เป็นต้น เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิลมากับมือ แต่กลับถูกไล่ออกจากบริษัทที่ตัวเองก่อตั้งขึ้นมา หลังจากหายไปนานสิบเอ็ดปี เขาก็ได้รับเชิญให้กลับมาบริหารบริษัทเดิมอีกครั้งหนึ่งจนประสบความสำเร็จ กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดอยู่ในโลกเวลานี้ ซ้ำตัวเขาเองก็ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นซีอีโออแห่งศตวรรษด้วย ในวันที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่เขาได้สะท้อนวิธีคิดแบบมองโลกในแง่ดีไว้ตอนหนึ่งว่า

“…ผมเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวที่โด่งดัง ช่วงหนึ่งผมคิดขนาดจะหนีไปจากวงการ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็เริ่มคิดได้อย่างช้า ๆ ว่าผมยังรักในสิ่งที่ผมทำอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นที่แอปเปิลไม่ได้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนี้เลย ผมถูกไล่ออก แต่ผมยังมีความรักอยู่ นั่นทำให้ผมตัดสินใจเริ่มต้นใหม่

“ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอย่างนี้ แต่ปรากฏว่าการถูกไล่ออกจากแอปเปิลกลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดกับผม ภาระอันหนักอึ้งจากความสำเร็จแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกเบาสบาย เมื่อผมกลับกลายเป็นมือใหม่ที่มีความเชื่อมั่นน้อยลง มันทำให้ผมมีอิสรภาพและเข้าสู่ช่วงชีวิตที่ผมมีความสร้างสรรค์ที่สุดช่วงหนึ่ง…”

จากคำกล่าวของสตีฟ จอบส์ เราจะเห็นว่าคนที่คิดบวกไม่ใช่คนโง่ ไม่ใช่คนที่จู่ ๆ จะมองอะไรบวกไปหมดโดยไม่คิดหน้าไม่คิดหลัง ตรงกันข้าม ก่อนการคิดบวกล้วนต้องผ่านการคิดอย่างรู้เท่าทันความจริงมาแล้วอย่างทะลุปรุโปร่ง และเมื่อเห็นว่าไม่อาจเปลี่ยนความจริงที่อยู่ตรงหน้าได้ สิ่งที่เ่ราต้องทำก็คือการ “เปลี่ยนวิธีคิด” ซึ่งเป็นเรื่อง “ข้างใน”ของเราเอง และพลันที่เราเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ เรื่องที่ใคร ๆ ต่างมองว่าไม่เข้าท่าก็อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต เหมือนอย่างที่เอดิสันเคยกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยคิดว่าตัวเองกำลังล้มเหลว (หลังจากที่ผิดหวังจากการทดลองนับพันครั้ง) แต่ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้ากำลังเรียนรู้ทุก ๆ ครั้งจากความล้มเหลวต่างหาก” ถ้าหากเอดิสันมองโลกในแง่ลบ ป่านนี้เราคงยังไม่มีหลอดไฟใช้อย่างทุกวันนี้หรอก

การคิดบวกจึงไม่ใช่วิธีคิดของคนสิ้นคิด แต่เป็นวิธีคิดของคนที่คิดเป็นอย่างแยบคาย ลองไล่ดูรายชื่อของตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนี้ก็แล้วกันว่าแต่ละคนมีสติปัญญาขนาดไหน ส่วนที่เราชอบประณามให้ได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า คนที่ชอบคิดบวกเป็นคนสิ้นคิดนั้น ที่ถูกควรจะพูดเสียใหม่ว่า คนที่ชอบประณามวิธีคิดบวกว่าเป็นวิธีคิดที่ใช้ไม่ได้นั้น แท้ที่จริงเขากำลังประจานตัวเองที่ไม่รู้จัก “กระบวนการของวิธีคิดบวก” เลยแม้แต่น้อย

อนึ่งในโลกนี้มีวิธีคิดอยู่หลายร้อยหลายพันแบบ จะใช้วิธีคิดแบบไหนต้องเลือกให้เหมาะกับสถานการณ์ ไม่ใช่เอะอะอะไรก็คิดบวกไปเสียหมด วิธีคิดแต่ละอย่างเหมาะกับบางเรื่องบางสถานการณ์ จึงต้องรู้จักประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย

 

ที่มา  คอลัมน์ Answer Keys นิตยสาร Secret

เรื่อง  ท่าน ว.วชิรเมธี

Image by Free-Photos from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

วิธีคิดเมื่อชีวิตมืดมน ข้อคิดดี ๆ โดย พระอาจารย์ยุทธนา เตชปัญฺโญ

“อย่ายอมให้คอร์รัปชัน กลายเป็นวัฒนธรรมของชาติ” ธรรมะโดย ท่าน ว.วชิรเมธี

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.