ความลับของนาคราช
ในค่ำคืนอันโหดร้าย พายุโหมกระหน่ำในทะเลคลั่ง เรือใหญ่ของพ่อค้าอับปางลง ผู้คนจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก
ชายคนหนึ่งรอดชีวิตมาได้ ไปถึงท่ากทัมพิยะ เขาเปลือยกายเที่ยวขออาหารจากชาวบ้าน ผู้คนสำคัญผิดคิดว่าเขาสันโดษอย่างยิ่ง มีคุณธรรมสูง จึงให้อาหารด้วยความเคารพ ช่วยสร้างอาศรมให้อยู่ ชายผู้นี้อาศัยอยู่ที่นั่นจนมีนามปรากฏโด่งดังว่า “กทัมพิยอเจลก” แปลว่า คนแก้ผ้าที่ท่ากทัมพิยะ
นอกจากคนทั้งหลายแล้ว แม้แต่นาคและครุฑก็มาหาเขา เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นนักพรตผู้มีศีลธรรม
วันหนึ่ง เมื่อครุฑมาหา หลังจากพูดคุยเรื่องอื่นได้พอสมควรแล้ว ก็กล่าวขึ้นว่าา่ “ญาติของผมเวลาไปจับนาคมักจะตาย เพราะไม่รู้วิธี ท่านช่วยถามความลับในการจับนาคให้ด้วยเถิด”
อเจลกรับคำด้วยหวังประจบพญาครุฑ เมื่อนาคมาหาจึงแอบลอบถามว่า นาคมีข้อลี้ลับอย่างใด จึงทำให้ครุฑจมน้ำตายเสียมากมาย
พญานาคตอบว่า เรื่องนี้เป็นความลับสุดยอดของพวกกระผม ถ้าพูดออกไปแล้วจะนำความพินาศมาสู่เหล่านาคมากมายประมาณมิได้ แต่กระนั้นอเจลกชั่วก็ไม่เลิกรา พยายามถามทุกครั้งที่นาคมาหา ในที่สุดนาคก็บอกความลับให้ด้วยความไว้ใจผู้มีศีล
“พวกกระผมกลืนก้อนหินใหญ่ๆ เข้าไว้ในตัวให้หนัก เมื่อพวกครุฑมาจับ พวกกระผมก็จะทำเป็นยื่นหน้าออกไปแยกเขี้ยวคอยจะขบครุฑ พวกครุฑไม่รู้จึงจับศีรษะของพวกกระผมไว้ เมื่อพยายามจะฉุดก็ฉุดไม่ไหวเพราะหนักอึ้ง ขณะนั้นเองพวกกระผมก็จะใช้หางตีน้ำให้กระจายเป็นคลื่นขึ้นท่วมพวกครุฑตาย เพราะฉะนั้นถ้าจะจับพวกกระผมให้อยู่ ควรจับที่หางให้ศีรษะห้อยลงเพื่อให้สำรอกก้อนหินที่กลืนไว้ออกมา จะทำให้ตัวเบา แล้วคาบพวกกระผมไปได้โดยง่าย”
เมื่อพญาครุฑได้ทราบความลับของนาคจากชีเปลือยแล้ว ก็ออกไปจับพญานาค เมื่อถูกจับ พญานาคก็คร่ำครวญว่า
“เรานำทุกข์มาให้ตนเองแท้ๆ เพราะภัยย่อมมาสู่คนไร้ปัญญา ชอบพูดพล่อย ไม่ปกปิดคุณพิเศษของตน ไม่สำรวมกาย วาจา ใจ ขาดการพิจารณา เราถูกจับได้เพราะวาจาของเราเอง
“ผู้ใดบอกความลับของตนแก่ผู้ที่ไม่สามารถรักษาความลับได้ ภัยย่อมมาถึงผู้บอกนั้น และไม่ควรบอกความลับกับมิตรเทียม ถึงแม้จะเป็นมิตรแท้แต่โง่เขลา หรือต่อให้มีปัญญา ถ้าเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ควรบอก เราคิดว่าชีเปลือยเป็นสมณะ จึงบอกแก่มัน ด้วยสำคัญผิดคิดว่ามันเป็นคนดี เรามันโง่จึงต้องพบภัย ข้าแต่พญาครุฑ ข้าพเจ้าขอยึดเอาท่านเป็นที่พึ่งด้วย”
พญาครุฑฟังพญานาคคร่ำครวญแล้วติเตียนว่า
“นาคเอย ท่านบอกความลับกับชีเปลือยด้วยตัวท่านเอง แล้วท่านจะคร่ำครวญเอากับใครเล่า ในบรรดาเรา 3 คน คือท่าน ข้าพเจ้า และชีเปลือย ใครควรจะถูกติเตียน ตามความเห็นของข้าพเจ้า ท่านนั่นแหละควรถูกติเตียนยิ่งกว่าคนอื่น ลองนึกดูเถิดว่า ท่านถูกครุฑจับเพราะอะไร”
พญานาคตอบว่า
“ชีเปลือยนั้นเป็นผู้ที่เราเชิดชูแล้วว่าเป็นสมณะ เป็นที่รักของเรา เราจึงบอกความลับแก่มัน”
พญาครุฑเตือนว่า
“สัตว์ผู้ไม่ตาย ไม่มีในแผ่นดิน ปัญญาก็มีอยู่ ไม่ควรตำหนิผู้อื่นเกี่ยวกับเรื่องชีวิตของตน คนในโลกนี้ย่อมได้บรรลุความดีที่ตนยังไม่ได้เพราะสัจจะ ธัมมะ ปัญญา และทมะ
“มารดาบิดาเป็นยอดแห่งพงศ์พันธ์ุ คนที่สามคือใครเล่า ที่จะมีความเอ็นดูเสมอด้วยมารดาบิดา
“คนฉลาดเมื่อรู้ว่ามนต์จะแตกก็ไม่ควรแพร่งพรายความลับแก่ผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นมารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาวผู้ร่วมมารดาบิดาเดียวกัน สหาย และญาติพี่น้องฝ่ายเดียวกับตน หรือแม้แต่ภรรยาและบุตร – ธิดา ก็ควรจะรักษาความลับไว้เหมือนรักษาขุมทรัพย์ เพราะถ้าความลับรั่วไหลไปถึงคนอื่นแล้วไม่ดีเลย
“คนฉลาดไม่ควรบอกความลับแก่ผู้หญิง ผู้เป็นศัตรู ผู้มุ่งสินบน ผู้มุ่งล้วงความลับ เมื่อเขารู้ความลับแล้ว เขาก็จะมาตะคอกขู่เข็ญเอาทีหลังได้ คนที่มีความลับต้องไม่พูดพล่อย และต้องมั่นคงในประโยชน์ของตน”
เมื่อพญาครุฑกล่าวสั่งสอนแล้ว นาคราชจึงกล่าวว่า
“ชีเปลือย ละเรือนบวชเป็นผู้ไม่มีเรือน ศีรษะโล้นเที่ยวไปเพื่อหากินโดยแท้ เราบอกความลับแก่ชีเปลือย เราจึงพลาดเสียแล้ว
“บุคคลผู้ละตัณหากามารมณ์แล้ว ประพฤติตนเป็นนักบวช ทำอย่างไรมีศีลอย่างไร มีวัตรอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่าสมณะผู้ลอยบาปแล้ว เขาทำอย่างไรจึงจะถึงฐานะอันเลิศ”
พญาครุฑตอบว่า
“บุคคลผู้ละตัณหากามารมณ์แล้ว ประพฤติตนเป็นนักบวช ต้องประกอบด้วยหิริ (ความแขยงต่อบาป) ตีติกขา (ความอดกลั้นต่อสิ่งยั่วยวน) ทมะ (การฝึกตน) ขันติ (ความอดทน) อักโกธนะ (ความไม่โกรธ) ละวาจาส่อเสียดได้ จึงชื่อว่าสมณะ สมณะผู้ทำอย่างนี้ย่อมเข้าถึงสุคติสวรรค์”
นาคราชฟังแล้วเห็นว่าพญาครุฑเป็นผู้รู้ธรรมและมีธรรม จึงอ้อนวอนขอชีวิต พญาครุฑกล่าวตอบว่า
“ดูก่อนนาคผู้ลิ้นชั่ว เอาเถิดวันนี้เราจะให้ท่านพ้นจากความตายก่อน เราจะให้ชีวิตท่าน” พญาครุฑร่อนลงยังพื้นดิน วางนาคราชลงพลางปลอบใจว่า “วันนี้ท่านพ้นจากภัยทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ได้รับการคุ้มครองจากเราทั้งทางบกและทางน้ำ เราเป็นที่พึ่งของท่าน”
ต่อมาพญาครุฑคิดจะทดลองนาคราชจึงไปยังนาคพิภพ พญานาคเห็นสำคัญว่าพญาครุฑจะมาจับจึงแผ่พังพาน ครุฑเห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า
“ท่านแยกเขี้ยวจะขบเรา ดังว่าเราเป็นศัตรู ภัยของท่านจักมาแต่ไหนกัน”
พญานาคตอบว่า
“ในศัตรู บุคคลควรสงสัยไว้ก่อน แม้ในมิตรก็ไม่ควรวางใจเกินไป บางทีภัยเกิดขึ้นจากบุคคลซึ่งเข้าใจว่าหาภัยมิได้ แม้มิตรก็อาจกลับมาปลิดชีวิตได้ จะพึงวางใจในบุคคลที่เคยทะเลาะกันมาได้อย่างไร ผู้ใดระมัดระวังเตรียมตัวอยู่เป็นนิตย์ ผู้นั้นย่อมไม่ทำตนคุ้นเคยกับศัตรูของตน
“ควรให้ผู้อื่นวางใจในตน แต่ตนเองไม่ควรวางใจเขา อนึ่ง ถึงผู้อื่นจะไม่ระแวงตน แต่ตนควรระแวงเขา วิญญูชนควรพยายามโดยที่ฝ่ายปรปักษ์ไม่รู้”
จอมสัตว์ทั้งสองสนทนากันแล้วต่างพอใจในอัธยาศัยของกันและกัน จากนั้นจึงพากันไปยังอาศรมของชีเปลือย พญาครุฑคิดว่า ‘นาคราชคงไม่ไว้ชีวิตชีเปลือยแน่นอน เราก็จะไม่ไหว้มันผู้ทุศีล’ คิดดังนั้นแล้วจึงยืนอยู่ภายนอก ให้พญานาคเข้าไปเพียงลำพัง
พญานาคเข้าไปหาชีเปลือยแล้วกล่าวว่า
“ชีเปลือยผู้ทุศีล เราคงไม่เป็นที่รักที่พอใจของท่านเป็นแน่แท้ ท่านจึงจงใจทำลายเราโดยบอกความลับแก่พญาครุฑ”
ชีเปลือยตอบว่า “เรารักพญาครุฑมากกว่าท่าน จึงทำไปเช่นนั้น”
นาคราชกล่าวว่า “บรรพชิตไม่ควรถือว่าสิ่งนี้เป็นที่รักของเรา สิ่งนี้ไม่เป็นที่รักของเรา ท่านเป็นผู้ไม่สำรวมไม่เป็นอริยะ แต่แสร้งทำว่าเป็น ท่านมิใช่คนประเสริฐ ได้ประพฤติบาปทุจริตไว้มาก”
จากนั้นนาคราชจึงได้สาปแช่งชีเปลือยว่า
“เจ้าคนเลวทราม เจ้าประทุษร้ายมิตรผู้ไม่ประทุษร้าย นับเป็นคนส่อเสียด ดังนั้นด้วยสัจวาจานี้ ขอศีรษะของเจ้าจงแตกเป็น 7 เสี่ยง”
สิ้นคำสาปแช่ง ศีรษะของชีเปลือยก็แตกเป็น 7 เสี่ยง สิ้นชีวิตอยู่ ณ ที่นั้นเอง
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง เก็บมาเล่าโดย ขวัญ เพียงหทัย
ภาพ dec053