ดเวย์น เจ. คลาร์ก เด็กล้างจาน ผู้กลายเป็นซีอีโอ บริษัทที่มีรายได้ปีละ 180 ล้านดอลลาร์
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา มีข่าวเล็ก ๆ ข่าวหนึ่งที่อาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน เป็นเรื่องของอดีต เด็กล้างจาน ผู้มีชื่อว่า ดเวย์น เจ. คลาร์ก (Dwayne J. Clark)
ดเวย์นทิปพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารที่เขาและภรรยาเป็นลูกค้าประจำมานาน 8 ปีแล้วเป็นเงิน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าอาหารเพียง 39 ดอลลาร์ นอกจากนั้นยังทิ้งจดหมายน้อยที่มีใจความว่า
“พวกคุณทำงานเยี่ยมมาก ตอนผมอายุ 7 ขวบ ผมต้องล้างจาน ในขณะที่แม่ทำอาหารในร้านอาหารแบบนี้ ตอนนั้นเราจนและไม่มีเงินพอจะฉลองคริสต์มาส หวังว่าเงินจำนวนนี้จะช่วยให้พวกคุณมีคริสต์มาสที่ดีกว่าเรา (ในเวลานั้น)”
พนักงานทั้งดีใจและซาบซึ้งใจมากที่มีคนสังเกตเห็นว่าตนทำงานหนัก พนักงานทั้งร้านจำนวน 12 คนแบ่งค่าทิปกันไปคนละ 250 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อไปค้นหาข้อมูลของลูกค้าทิปหนักรายนี้ก็พบว่า เขาคือผู้ก่อตั้งและซีอีโอของอีจิส ลิฟวิ่ง (Aegis Living) บริษัทซึ่งให้บริการที่พักอาศัยและดูแลผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกา
คลาร์กมีพี่น้องสี่คน เขาเป็นลูกคนสุดท้อง พ่อแม่หย่ากันตั้งแต่เขายังเด็ก แม่ต้องเลี้ยงดูลูกทั้งสี่คนตามลำพัง ชีวิตในวัยเด็กจึงยากจนข้นแค้น แต่สิ่งที่ทำให้เขาก้าวผ่านความทุกข์ยากและประสบความสำเร็จในที่สุดคือคำพูดของมารดาที่บอกเสมอว่า “ครอบครัวเราก็เหมือนกับครอบครัวเคนเนดี พวกเราเป็นแคทอลิก พวกเขาก็เป็นแคทอลิก พวกเราเป็นไอริช พวกเขาก็เป็นไอริชเหมือนกัน”
จากการที่เขาเคยไปเยี่ยมยายซึ่งอาศัยในบ้านพักผู้สูงอายุ และพบว่าผู้สูงอายุได้รับการดูแลเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง รวมทั้งเคยทำงานในองค์กรและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุมาตลอด เขาจึงคิดตั้งบริษัทที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุของตนเอง
***ดเวย์นกับพนักงานเสิร์ฟร้านที่เขาให้ทิป 3,000 เหรียญ***
หลังจากทำวิจัยเกี่ยวกับการก่อตั้งบริษัทต่าง ๆ อย่างละเอียดจนแน่ใจว่ามีความรู้มากพอ ในที่สุดเขากับหุ้นส่วนคือ บิล กัลลาเฮอร์ ก็หาทุนจากเพื่อนฝูงและคนในครอบครัว ได้เงินลงทุน 22.5 ล้านดอลลาร์ เพื่อเปิดชุมชนดูแลผู้สูงอายุแห่งแรกที่แคลิฟอร์เนีย ปัจจุบันบริษัทมีชุมชนดูแลผู้สูงอายุถึง 30 แห่งทั่วอเมริกา มีรายได้รวมปีละประมาณ 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
คลาร์กให้ความสำคัญกับพนักงานมาก ปกติอัตราการลาออกของพนักงานในธุรกิจประเภทนี้สูงกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ เมื่อเริ่มตั้งบริษัทเขาประสบปัญหานี้ไม่แตกต่างจากบริษัทอื่น ๆ แต่เขาแก้ปัญหานี้สำเร็จ ปัจจุบันอัตราการลาออกของพนักงานไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์
เขาใช้หลายวิธีในการแก้ปัญหานี้ ตั้งแต่ตั้งกองทุนซุปมันฝรั่งสำหรับพนักงานเพื่อช่วยเหลือพนักงานให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น พนักงานจะได้รับส่วนลดเมื่อไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต ได้ลดค่าตัดผมในร้านที่เป็นลูกค้าของบริษัท หรือต้องทำฟันเร่งด่วนแต่ไม่มีเงินก็สามารถมาขอความช่วยเหลือจากกองทุนนี้ได้
นอกจากนั้นเขายังจัดสัมมนาประจำปีเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเพิ่มความสุขในการทำงานให้แก่พนักงาน
เมื่อพนักงานทำงานอย่างมีความสุข ผลดีก็ตกอยู่ที่บริษัทนั่นเอง
ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 230
เรื่อง : ปถวิกา
ภาพ : inspiremore.com, abcnews
บทความน่าสนใจ
อดัม เดียริ่ง จากเด็กเกเรสู่การเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจ 20 ล้านปอนด์